Drug name: sertraline

Description:

Sertraline (เซอร์ทราลีน)

Sertraline (เซอร์ทราลีน)

Share:

Sertraline (เซอร์ทราลีน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitor: SSRIs ที่ช่วยปรับการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนกลางและสารเคมีในสมอง รวมไปถึงช่วยให้สารเคมีในสมองกลับสู่สภาวะปกติ แพทย์จะใช้ยานี้ในการรักษาโรคซึมเศร้า (Depression) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD) โรคแพนิกหรือโรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) โรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หรือทางการแพทย์เรียกว่า โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง กลุ่มอาการผิดปกติรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD)

เกี่ยวกับยา Sertraline

กลุ่มยา ยาต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคทางจิตเวชเรื้อรัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด


คำเตือนของการใช้ยา Sertraline

  • หากเคยมีประวัติการแพ้ยา ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ รวมทั้งโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันอาการแพ้ยา
  • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยา
  • การใช้ยาในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจหาสารเสพติดจากปัสสาวะคลาดเคลื่อน จึงควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ล่วงหน้าก่อนการตรวจ
  • เมื่อมีการรับประทานยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAID) เช่น แอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เซเลโคซิบ (Celecoxib) อินโดเมธาซิน (Indomethacin) ควบคู่กับยาชนิดนี้ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดรอยฟกช้ำและเลือดออกได้ง่าย
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยา เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น และหลีกเลี่ยงการรับประทานยา Sertraline ควบคู่กับยาเลิกเหล้า (Disulfiram) เพราะตัวยามีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม
  • ห้ามใช้ยานี้ควบคู่กับยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOIs และยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ MAO เช่น ยาลีเนโซลิด (Linezolid) ยาพิโมไซด์ (Pimozide) หรือยาเมทิลีน บลู (Methylene Blue) หรือใช้ยา  Sertraline ได้หลังจากหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOIs อย่างน้อย 14 วัน
  • ยานี้อาจทำให้การตัดสินใจและการคิดช้าลง จึงควรเพิ่มความระมัดระวังเมื่อต้องขับขี่ยานยนต์หรือทำกิจกรรมบางประเภทที่อาจเป็นอันตราย
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือโรคไบโพล่า (Bipolar Disorder) กลุ่มโรคที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์ (Mania or Hypomania) โรคลมชัก (Previous Seizure Disorder) หรือภาวะที่อาจทำให้เกิดการชัก (เช่น สมองตาย ติดเหล้า) มีประวัติเคยติดยาหรือฆ่าตัวตาย โรคต้อหินชนิดมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma) หรือมีประวัติเป็นโรคต้อหิน ภาวะไตวายจากผลึกยูริก (Acute Uric Acid Nephropathy) กลุ่มอาการระยะคิวทียาว (QTc Prolongation) มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตหรือการเผาผลาญ โรคตับวายหรือไตวาย ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังและปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติอื่น ๆ ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
  • ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์หรือนิสัยเปลี่ยนแปลงไป มีปัญหาในการนอนหลับ ก้าวร้าว สมาธิสั้น หดหู่ อยากทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้ป่วยอายุน้อยอาจมีความคิดอยากจะฆ่าตัวตายหลังการใช้ยาในช่วงแรก ญาติหรือผู้ใกล้ชิดควรสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยและแจ้งให้แพทย์ทราบ

ปริมาณการใช้ยา Sertraline

โรคซึมเศร้า (Depression)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 50 มิลลิกรัม/วัน และปรับขนาดยาขึ้นครั้งละ 50 มิลลิกรัม ตามการตอบสนองของผู้ป่วยในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป (ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน)

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 50 มิลลิกรัม/วัน และปรับขนาดยาขึ้นครั้งละ 50 มิลลิกรัม ตามการตอบสนองของผู้ป่วยในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป (ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 6-12 ปี : รับประทานเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 13-17 ปี : รับประทานเริ่มต้น 50 มิลลิกรัม/วัน อาจปรับขนาดยาขึ้นในสัปดาห์ถัดไป (ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน)

โรคแพนิก (Panic Disorder) โรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นให้ปรับขนาดยาเป็น 50 มิลลิกรัม/วัน ในสัปดาห์ถัดมา และอาจเพิ่มยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม ตามการตอบสนองของผู้ป่วย (ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน)

กลุ่มอาการผิดปกติรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม/วัน ในขณะมีรอบเดือน และอาจเพิ่มยาเป็นครั้งละ 50 มิลลิกรัมในแต่ละรอบเดือน (ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน หากรับประทานต่อเนื่อง) หรือรับประทานเริ่มต้น 50 มิลลิกรัม/วัน ในช่วงวันก่อนไข่ตก และอาจเพิ่มยาเป็นครั้งละ 100 มิลลิกรัมในช่วงหลังไข่ตก

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก

การใช้ยา Sertraline

ผู้ป่วยควรอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนรับประทานและใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ให้รับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหาร วันละ 1 ครั้งในตอนเช้าหรือเย็น แต่ควรเป็นเวลาเดียวกันในแต่ละวัน  

แพทย์จะเริ่มให้ยาในปริมาณน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาอย่างคงที่ในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะเห็นผล โดยส่วนใหญ่อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นเมื่อได้รับยาตั้งแต่ 4 สัปดาห์เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามปริมาณที่แพทย์กำหนด ไม่ควรเพิ่ม ลด หรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเองแม้ว่าอาการจะดีขึ้น

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และเมื่อมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Sertraline

ยา Sertraline อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงและควรไปพบแพทย์เมื่อเกิดอาการบ่อย ๆ เช่น คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย มีปัญหาในการนอน หลับยาก หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก มีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ อารมณ์ทางเพศลดลง ปากแห้ง ท้องอืด ปวดศีรษะ เจ็บคอ มีอาการสั่น (Tremor/Shaking)

นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดอาการรุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการชัก ไข้ขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว ภาวะเลือดออกผิดปกติหรือเกิดรอยช้ำได้ง่าย เหนื่อยง่าย เกิดความสับสน กระสับกระส่าย (Agitation) ประสาทหลอน เห็นภาพหลอน หูแว่ว (Hallucination) ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ยาสำหรับโรค

  • โรคซึมเศร้า (Depression)
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD)
  • โรคแพนิกหรือโรคตื่นตระหนก (Panic Disorder)
  • โรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หรือทางการแพทย์เรียกว่า โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง
  • กลุ่มอาการผิดปกติรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD)

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)
  • การป้องกันโรคซึมเศร้า