Drug name: อิมิควิโมด

Description:

อิมิควิโมด

อิมิควิโมด

Share:

Imiquimod (อิมิควิโมด) เป็นยาในกลุ่มยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ใช้รักษาโรคแอกทินิกเคอราโทซิส โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ ใช้ยับยั้งการแพร่ของหูดบริเวณอวัยเพศ และอาจใช้รักษาโรคผิวหนังอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นเพื่อยับยั้งการเติบโตของผิวบริเวณที่ผิดปกติ ผลข้างเคียงของยาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะบางส่วน จึงควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

เกี่ยวกับยา Imiquimod

กลุ่มยา ยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ใช้รักษาโรคแอกทินิกเคอราโทซิส โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ โรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ และโรคผิวหนังชนิดอื่น
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาทาภายนอก
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์กลุ่มยา

คำเตือนในการใช้ยา Imiquimod

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติการแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ เพราะยา Imiquimod อาจมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง สมุนไพร รวมถึงอาหารเสริมที่ใช้เป็นประจำก่อนการเข้ารับการผ่าตัด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรือประวัติการรักษาใด ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานตนเอง ภาวะเซลล์ของผู้บริจาคทำปฏิกิริยาต่อเซลล์ของผู้ป่วยหรืออาการร่างกายต่อต้านอวัยวะปลูกถ่ายในผู้ป่วย ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีประวัติการปลูกถ่ายไขกระดูก ปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ หรือการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี หากไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาทาชนิดอื่นในบริเวณเดียวกับที่ทายาชนิดนี้ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาชนิดอื่น
  • ยา Imiquimod ไม่มีส่วนช่วยในการป้องกันเชื้อหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี เอชพีวี โรคซิฟิลิส หรือหนองใน เป็นต้น
  • การใช้ยานี้บริเวณอวัยวะเพศอาจลดประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยและอุปกรณ์คุมกำเนิดรูปแบบอื่นที่ทำจากยาง ซึ่งอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ห้ามทายานี้บริเวณที่เป็นแผลไหม้ พุพอง ถลอก หรือระคายเคือง หากต้องการใช้ยาควรรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณนั้น ๆ ให้หายก่อน
  • หลีกเลี่ยงการทายาบริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก จมูก และระมัดระวังไม่ให้ให้ยาสัมผัสกับผิวด้านในอวัยวะเพศหญิง ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองหรือแสบร้อนได้
  • หลังจากใช้ยาชนิดนี้ควรล้างมือให้สะอาด เพราะอาจเกิดการระคายเคืองหากสัมผัสกับผิวหนังบริเวณอื่น และหลีกเลี่ยงส่วนที่ทายาไม่ให้สัมผัสกับผู้อื่นด้วย
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานที่ใช้เครื่องจักร นอกจากนี้ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมา
  • การใช้ยานี้ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดด สวมเสื้อและกางเกงขายาว รวมทั้งใช้ครีมกันแดดที่มี SPF สูง
  • ห้ามหยุดยาหรือปรับปริมาณยาเองโดยไม่ได้รับคำอนุมัติจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาตัวเดียวกันที่มีในยี่ห้ออื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาเกินขนาด
  • หากใช้ยานี้ในระยะยาวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงได้ จึงควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดเท่านั้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Imiquimod สามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้หรือไม่

ปริมาณการใช้ยา Imiquimod

ปริมาณยาที่ใช้ในการรักษานั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามโรค อาการ และความเข้มข้นของยา จึงควรใช้ยาในปริมาณตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงผลในทางลบและเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ
ตัวอย่างการใช้ยา Imiquimod เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของหูดบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก

ผู้ใหญ่ ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 3.75% ทาบาง ๆ บริเวณที่เกิดอาการ วันละ 1 ครั้งจนกว่าจะหาย หรือสูงสุดไม่เกิน 8 สัปดาห์ หากใช้ยาที่มีความเข้มข้น 5% ให้ทาบริเวณที่เกิดอาการ สัปดาห์ละ 3 ครั้งต่อเนื่องกัน 16 สัปดาห์ โดยไม่ควรทายาติดต่อกันสองวันและแบ่งวันในการทาอย่างเหมาะสมภายในหนึ่งสัปดาห์

โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์
ตัวอย่างการใช้ยา Imiquimod เพื่อรักษาโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์

ผู้ใหญ่ ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 5% ทาบริเวณที่เกิดอาการ วันละ 1 ครั้งก่อนนอนติดต่อกัน 5 วันต่อสัปดาห์ โดยใช้ต่อเนื่องกัน 6 สัปดาห์ และไปพบแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษาอีกครั้งหลังหยุดยาได้ 12 สัปดาห์

โรคแอกทินิกเคอราโทซิส
ตัวอย่างการใช้ยา Imiquimod เพื่อรักษาโรคแอกทินิกเคอราโทซิส

ผู้ใหญ่ ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 2.75 หรือ 3.75% ทาบนใบหน้าหรือหนังศีรษะก่อนนอนวันละ 1 ครั้ง โดยใช้ทา 2 สัปดาห์และเว้นการใช้ 2 สัปดาห์ โดยใช้ยาในรูปแบบเวลานี้จำนวน 2 รอบหรือครบ 8 สัปดาห์ และไปพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษาหลังจากใช้ยารอบสุดท้าย 8 สัปดาห์ หากใช้ยาที่มีความเข้มข้น 5% ให้ทาบริเวณใบหน้าหรือหนังศีรษะก่อนนอนสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์และเว้นการทา 4 สัปดาห์ โดยใช้ยาในรูปแบบเวลานี้จำนวน 2 รอบหรือครบ 16 สัปดาห์ ในบางรายแพทย์อาจปรับจำนวนการทาเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกันนาน 16 สัปดาห์หรืออาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

การใช้ยา Imiquimod

  • อ่านใบกำกับยาโดยละเอียดก่อนการใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ควรทายาในเวลาเดิมประเป็นจำทุกวัน เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
  • ก่อนทายาควรล้างมือและทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทาด้วยสบู่และซับให้แห้งทุกครั้ง
  • หากลืมทายาสามารถข้ามไปทายารอบต่อไปได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • การใช้ยา Imiquimod รูปแบบซอง ให้ใช้ยาซองใหม่ในการทาแต่ละครั้ง และไม่ใช้ยาที่เหลือจากครั้งก่อน ควรทายาในเวลาเดิมทุกวันเพื่อความต่อเนื่องและผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
  • หลังจากทายาไม่จำเป็นต้องพันผ้าบริเวณที่ทา โดยปล่อยให้ยาซึมเข้าสู่ผิวหนังประมาณ 8 ชั่วโมงหรือตามที่แพทย์กำหนด แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ เมื่อครบเวลาจึงใช้สบู่ทำความสะอาดผิวเพื่อล้างตัวยาออกจากผิวหนัง
  • ควรเก็บยาไว้ในที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส พ้นจากแสงแดด ความร้อน เด็ก และสัตว์เลี้ยง
  • หากรู้สึกว่าผิวหนังไม่ตอบสนองต่อยาหรืออาการทรุดลง ควรปรึกษาแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Imiquimod

การใช้ยา Imiquimod อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวหนังบวม แดง แสบร้อน ผิวแห้งลอก เป็นขุย ตกสะเก็ด ผิวบริเวณที่ทายาอาจด้าน หนา หรือนิ่มกว่าส่วนอื่น สีผิวอาจเปลี่ยนไปชั่วคราวหรือถาวร เวียนและปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย และเป็นไข้หวัด เป็นต้น ซึ่งหากอาการเหล่านี้ยังไม่ทุเลาลงหรือมีอาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงหลังจากการใช้ยา Imiquimod ดังต่อไปนี้ ควรล้างยาออกและรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลำคอ ผื่นขึ้นตามร่างกาย ลมพิษ หายใจไม่ออก เป็นต้น
  • อาการจากการได้รับยาเกินขนาด เช่น หายใจติดขัด เวียนศีรษะ ผิวหนังระคายเคืองอย่างรุนแรง เป็นต้น
  • ผิวหนังเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีเลือดออก เป็นแผลกดทับ แผลพุพอง หรือแผลเปื่อย เป็นต้น
  • อาการของไข้หวัด เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดความร่างกาย รู้สึกเหนื่อยล้า และต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ท้องเสีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง
  • คันบริเวณอวัยวะเพศ หรือมีตกขาว

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบอาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
  • การป้องกันหูดหงอนไก่
  • มะเร็งผิวหนัง