Drug name: ยาลดกรด

Description:

ยาลดกรด

ยาลดกรด

Share:

ยาลดกรด (Antacids) เป็นกลุ่มยาที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เนื่องจากกระเพาะอาหารหลั่งกรดมากเกินไป โดยใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย จุกแน่นลิ้นปี่ แสบร้อนกลางทรวงอกจากกรดเกินในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร และโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยออกฤทธิ์ไวในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

ตัวยาอาจผสมกับส่วนผสมอื่นที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง (Alkalis) เช่น อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) แมกนีเซียม คาร์บอเนต (Magnesium Carbonate) แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต (Magnesium Trisilicate) แคลเซียม (Calcium) หรืออาจผสมกับยาตัวอื่นอย่างไซเมทิโคน (Simethicone) ที่ช่วยในการขับลม และแอลจิเนต (Alginates) เป็นสารเหนียวข้นป้องกันกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนไปในหลอดอาหาร จึงทำให้แบ่งออกย่อยได้อีกหลายประเภทและบางชนิดก็เรียกตามชื่อเรียกของส่วนผสมหลักในยา  

เกี่ยวกับยาลดกรด

กลุ่มยา ยาลดกรด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาโรคกรดไหลย้อน บรรเทาอาการแสบร้อนกลางทรวงอก อาหารไม่ย่อย แผลในกระเพาะอาหาร
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนของการใช้ยาลดกรด

  • ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้
  • ผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสะสมของยาในปริมาณมากภายในร่างกาย
  • หญิงมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับหญิงมีครรภ์
  • ไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ยกเว้นแพทย์สั่ง
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตับแข็ง หรือสภาวะอื่น ๆ ที่ต้องรับประทานอาหารประเภทโซเดียมต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของเกลือ (โซเดียม) อยู่ปริมาณมาก
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา
  • ไม่ควรรับประทานยาลดกรดพร้อมกับยาชนิดอื่นภายใน 2-4 ชั่วโมง เพราะอาจดูดซึมฤทธิ์ยาตัวอื่นจนทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่

ปริมาณการใช้ยาลดกรด

ยาลดกรดมีอยู่หลายแบบ และแต่ละชนิดมีตัวยาที่เป็นส่วนผสมหลักในการออกฤทธิ์ที่ไม่เท่ากัน ทำให้ปริมาณการใช้แตกต่างกันออกไป จึงควรศึกษาข้อมูลที่ระบุบนฉลากยาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนการใช้

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยาลดกรด  

  • อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) ผู้ใหญ่รับประทาน ขนาดไม่เกิน 1 กรัม โดยทั่วไปคือ 1-2 ช้อนโต๊ะ รับประทานหลังอาหาร 3 เวลา และก่อนนอน
  • กรดแอลจินิก (Alginic Acid) ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป รับประทาน 2-4 เม็ด หรือ 10-20 มิลลิลิตร หลังมื้ออาหารและก่อนนอน สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน
  • ยาแมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) รักษาภาวะกรดเกิน ผู้ใหญ่ รับประทาน ขนาดไม่เกิน 1 กรัม/วัน ร่วมกับยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เป็นส่วนประกอบ หรือใช้รักษาภาวะลำไส้ที่มีอาการท้องผูก ผู้ใหญ่ รับประทาน ขนาด 2.4-4.8 กรัม/วัน ภายในครั้งเดียวหรือแบ่งรับประทานภายใน 1 วัน เด็กอายุ 6-11 ปี รับประทาน ขนาด 1.2-2.4 กรัม/วัน เด็กอายุ 2-5 ปี รับประทาน ขนาด 0.4-1.2 กรัม/วัน อาจรับประทานภายในครั้งเดียวหรือแบ่งรับประทานภายใน 1 วันเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ยาชนิดนี้มักใช้เป็นยาระบาย

การใช้ยาลดกรด

ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบหากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัวเดิม หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก พร้อมทั้งอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนการใช้ยา เพราะยาลดกรดแต่ละชนิดมีปริมาณการรับประทานและส่วนผสมออกฤทธิ์แตกต่างกัน ซึ่งยาชนิดนี้ควรใช้ในขณะที่มีอาการหรือคาดว่าน่าจะเกิดอาการขึ้น โดยรับประทานพร้อมอาหาร หลังอาหารทันที หรือก่อนนอน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดกรด

ยาลดกรดแทบไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและในกรณีที่จำเป็น แต่บางรายก็อาจเกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด เรอ คลื่นไส้ อาเจียน ขึ้นอยู่กับประเภทและส่วนผสมหลักในการออกฤทธิ์ของยา เช่น ยาลดกรดที่มีแมกนีเซียมอาจทำให้ท้องเสีย ในขณะที่ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมอาจก่อให้เกิดอาการท้องผูก ส่วนยาลดกรดที่มีส่วนผสมทั้งแมกนีเซียมและอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในการขับถ่ายลดลง หรืออาจเป็นไปได้ทั้งอาการท้องผูกและท้องเสีย หากหยุดรับประทานยาแล้วยังพบว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้นเช่นเดิมควรไปพบแพทย์

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กรดไหลย้อน
  • กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome)
  • การป้องกันอาการกรดไหลย้อน