Drug name: piroxicam

Description:

Piroxicam (ไพร็อกซิแคม)

Piroxicam (ไพร็อกซิแคม)

Share:

Piroxicam (ไพร็อกซิแคม) เป็นยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) อาจมีฤทธิ์ยับยั้งสารในร่างกายที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ จึงมักนำไปใช้เพื่อรักษาอาการปวดและการอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคข้อเสื่อม เพื่อลดอาการปวด บวม และยึดตึงจากข้ออักเสบ นอกจากนี้ ยังใช้บรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น ปวดประจำเดือน อาการปวดแผลหลังการผ่าตัด และหลังการคลอดบุตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้ Piroxicam อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา  

เกี่ยวกับยา Piroxicam

กลุ่มยา ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์  
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาทาเฉพาะจุด

คำเตือนในการใช้ยา Piroxicam

  • ผู้ที่กำลังป่วย เคยป่วย หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมีคอเลสเตอรอลสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ห้ามใช้ยา Piroxicam เด็ดขาด และแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากอยู่ในภาวะใดภาวะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    • หญิงมีครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด
    • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยา หรือส่วนผสมบางตัวในยา Piroxicam
    • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน และยาในกลุ่ม NSAIDs อย่างรุนแรง เช่น มีผื่นลมพิษ หายใจลำบาก รู้สึกหน้ามืดเวียนศีรษะ และมีเนื้องอกในจมูก เป็นต้น
    • ผู้ที่เพิ่งได้รับหรือกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ
    • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกในช่องท้อง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีโรคประจำตัวหรืออยู่ในภาวะต่อไปนี้
    • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
    • ผู้ที่มีอาการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือสารอื่น ๆ
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับตับ ไต และช่องท้องหรือลำไส้มีปัญหา เช่น มีภาวะเลือดออก มีแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
    • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ป่วยหรือเสี่ยงเป็นโรคความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโพรพีเรีย (Porphyria) ซึ่งเป็นโรคเลือดผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้ไม่สมบูรณ์ มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เป็นต้น
    • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
    • ผู้ที่รับประทานยารักษาโรค ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริม
    • ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง มีภาวะขาดน้ำ ปริมาณของเหลวในร่างกายต่ำ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
    • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยาชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
    • ยาแอสไพริน
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือ คูมาดิน (Coumadin)
    • ยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อื่น ๆ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น
    • ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เช่น เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) และเพรตนิโซน (Prednisone) เป็นต้น
    • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในช่องท้องได้
    • ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาแก้หวัด แก้แพ้ หรือยาระงับอาการปวด เนื่องจากยาเหล่านี้มีส่วนผสมของยาแอสไพริน หรือยาชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยา Piroxicam

ปริมาณการใช้ยา Piroxicam

  • ยารับประทาน เพื่อรักษาโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยา 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาภายใน 14 วันหลังเริ่มใช้ยา
    • ผู้สูงอายุ รับประทานยาในปริมาณน้อยที่สุด ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันนานเกินไป โดยแพทย์จะพิจารณาปริมาณของยา และระยะเวลาที่ควรรับประทานยา  
  • ยาทา เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการอักเสบ
    • ใช้เจลที่มีส่วนผสมของตัวยา 0.5% ทาบริเวณที่ปวดหรืออักเสบวันละ 3-4 ครั้ง และควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาภายใน 4 สัปดาห์หลังเริ่มใช้ยา

การใช้ยา Piroxicam

ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรอ่านฉลากยา และปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยน หรือปรับขนาดยาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้การรักษาได้ประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ควรปรับขนาดยาด้วยตนเอง หรือรับประทานยานานเกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ การรักษาด้วยยา Piroxicam อาจใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นควรบอกแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาต่อไป

ยา Piroxicam ควรรับประทานพร้อมอาหาร เนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ กรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยารอบต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า หากรับประทานยาเกินขนาด ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดห้อง อุจจาระมีสีดำ อุจจาระเป็นเลือด และมีอาการไอเป็นเลือดร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อนและชื้น หากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจต้องพบแพทย์บ่อยครั้งขึ้นเพื่อตรวจร่างกายและติดตามผลการรักษา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Piroxicam

ผลข้างเคียงที่มักเกิดขึ้นจากการใช้ยา Piroxicam อาจปรากฏอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • มีปัญหาด้านการขับถ่ายปัสสาวะ
  • เวียนศีรษะ ปวดหัว
  • มีอาการคัน และผดผื่นขึ้นตามตัว
  • ท้องไส้ปั่นป่วน แสบร้อนกลางอก เบื่ออาหาร ปวดท้อง รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
  • มีแก๊สในท้องมาก ท้องเสีย และท้องผูก
  • ได้ยินเสียงในหู
  • ผลตรวจการทำงานของตับผิดปกติ

การใช้ยา Piroxicam อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการแพ้ เช่น  เช่น  ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจลำบาก ลมพิษ มีอาการบวมที่ลิ้น หน้า และคอ เป็นต้น

แต่หากพบอาการของโรคร้ายแรงหลังการใช้ยาอย่างหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น เจ็บหน้าอกลามไปถึงขากรรไกรและไหล่ ร่างกายชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน พูดไม่ชัด และหายใจไม่อิิ่ม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยา และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา หากพบอาการดังนี้

  • มองเห็นภาพเลือนราง
  • หายใจเป็นช่วงสั้น ๆ เพราะหายใจเข้าลึก ๆ ลำบาก แม้ว่าไม่ได้ออกกำลังกายหนักมาก
  • เกิดภาวะโลหิตจาง ผู้ป่วยจะมีผิวซีด รู้สึกวิงเวียนศีรษะ หายใจสั้น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย  
  • ตัวบวม หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง
  • ผิวหนังเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ เท้าหรือลิ้นบวม แสบตา เจ็บแสบที่ผิว มีผดผื่นสีแดงขึ้นกระจายตามใบหน้า และตามร่างกายส่วนบน นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุให้เกิดแผลพุพอง และผิวลอก
  • ภาวะเลือดออกในช่องท้อง เช่น อุจจาระเป็นสีดำ หรือเป็นเลือด มีอาการไอเป็นเลือด และอาเจียนออกมาคล้ายกากกาแฟ
  • ปัญหาตับ เช่น รู้สึกคลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน มีอาการคัน รู้สึกเหนื่อย มีอาการไข้ เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระเป็นสีดำ มีภาวะตัวตาเหลือง
  • ปัญหาไต เช่น ปัสสาวะไม่ออก เท้าหรือข้อเท้าบวม หายใจเป็นช่วงสั้น ๆ และรู้สึกเหนื่อยง่าย

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ข้ออักเสบ (Arthritis)
  • รูมาตอยด์