Drug name: ซิงค์ออกไซด์

Description:

ซิงค์ออกไซด์

ซิงค์ออกไซด์

Share:

ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) เป็นยาบรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนัง ออกฤทธิ์ช่วยปกป้องผิวจากสารก่อความระคายเคืองและความชื้น ใช้รักษาโรคผื่นผ้าอ้อม ลมพิษ ผื่นคัน แผลไฟไหม้ที่ไม่รุนแรง หรือผิวแตก โดยมีหลายรูปแบบ ทั้งครีม ขี้ผึ้ง โลชั่นทาผิว แป้ง และยาเหน็บทวารที่มักใช้รักษาอาการคัน ระคายเคือง และอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคริดสีดวงทวารหรือความเจ็บปวดจากการบีบตัวของลำไส้

เกี่ยวกับยาซิงค์ออกไซด์

กลุ่มยา ยาบรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนัง
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ บรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนัง ลมพิษ และผื่นคัน
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาใช้ภายนอก ยาเหน็บทวาร
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ยาชนิดนี้ยังไม่ได้ถูกจำแนกประเภทตามหลักการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่เคยมีการศึกษาในสัตว์หรือสตรีมีครรภ์ โดยแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ได้เฉพาะกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยอาจได้ประโยชน์จากยาชนิดนี้มากกว่าได้รับอันตราย

คำเตือนในการใช้ยาซิงค์ออกไซด์

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติการแพ้ยาซิงค์ออกไซด์หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้สารชนิดอื่น ๆ
  • ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้หากมีอาการแพ้สารบางชนิด เช่น ซิงค์ ไดเมธิโคน น้ำมันตับปลา ปิโตรเลียมเจลลี่ พาราเบน มินเนอรอลออย และขี้ผึ้ง เป็นต้น
  • หากผิวหนังบริเวณที่ระคายเคืองเกิดการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาด้วย
  • ห้ามรับประทานยาชนิดนี้เด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรง เช่น เป็นลม หรือหายใจลำบาก เป็นต้น
  • ไม่สามารถใช้ยาซิงค์ออกไซด์ในการรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ผิวหนังแดง รู้สึกร้อน หรือมีแผลบริเวณผิวหนัง เป็นต้น
  • แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาชนิดนี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ แต่ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • แม้ในทางการแพทย์จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาชนิดนี้สามารถส่งผ่านทางน้ำนมหรือส่งผลข้างเคียงต่อบุตรผ่านการป้อนนมแม่หรือไม่ แต่ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรก็ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยาชนิดนี้ให้ดีก่อน

ปริมาณการใช้ยาซิงค์ออกไซด์

ผื่นผ้าอ้อม
ปริมาณการใช้ซิงค์ออกไซด์เพื่อรักษาโรคผื่นผ้าอ้อม หรือรักษาและป้องกันอาการระคายเคืองของผิวหนังจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอาการป่วย ความเข้มข้นของตัวยา และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาด้วย ซึ่งโดยทั่วไปการใช้ยาในเด็กและผู้ใหญ่นั้น ให้ทายาซิงค์ออกไซด์ในบริเวณผิวที่ได้รับผลกระทบในปริมาณที่เหมาะสม แต่สำหรับการรักษาโรคผื่นผ้าอ้อม ให้ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วจึงทายาซิงค์ออกไซด์ โดยทายาทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ้าอ้อม

ป้องกันแสงแดด

ผู้ใหญ่ ทายาซิงค์ออกไซด์ชนิดครีมความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ หรือชนิดโลชั่นความเข้มข้น 14 เปอร์เซ็นต์ ในบริเวณที่มีอาการ เช่น ใบหน้า คอ เป็นต้น โดยทาก่อนออกแดดประมาณ 15 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ใช้ยาในปริมาณเทียบเท่ากับผู้ใหญ่

การใช้ยาซิงค์ออกไซด์

  • ใช้ยาชนิดนี้บริเวณผิวหนังเท่านั้น รวมทั้งปฏิบัติตามฉลากและคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ
  • ในการรักษาอาการผิวแตก แผลไฟไหม้เล็กน้อย หรืออาการระคายเคืองผิวหนัง ให้ทายาซิงค์ออกไซด์ บาง ๆ ลงบนผิวบริเวณนั้นแล้วถูเบา ๆ
  • ในการรักษาโรคผื่นผ้าอ้อม ให้ใช้ยาทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ้าอ้อม และในเวลาก่อนนอน
  • สำหรับยาซิงค์ออกไซด์ชนิดเหน็บทวาร ให้ใช้ยาเฉพาะบริเวณช่องทวารหนักเท่านั้น
  • ล้างมือก่อนการใช้ยาซิงค์ออกไซด์ชนิดเหน็บทวารทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการจับยาเหน็บทวารนานเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ยาละลายในมือได้ และควรขับถ่ายให้เรียบร้อยก่อนสอดยาเหน็บทวาร
  • สำหรับการใช้ยาซิงค์ออกไซด์ชนิดแป้ง ให้เทยาช้า ๆ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายในอากาศ ห้ามให้ทารกถือขวดหรือภาชนะบรรจุในระหว่างที่ใช้ยา และปิดฝาทุกครั้งหลังใช้
  • เนื่องจากยาซิงค์ออกไซด์เป็นยาที่ใช้ตามความจำเป็น ดังนั้น การใช้ยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเมื่อลืมใช้ยาจึงไม่ส่งผลให้ยามีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อย่างใด
  • เก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้นและความร้อน โดยปิดฝาทุกครั้งหลังใช้งาน และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง สำหรับยาชนิดเหน็บทวารหนัก ให้เก็บในตู้เย็นเพื่อป้องกันการละลาย
  • หลังใช้ยา ควรเข้ารับการตรวจทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • ห้ามใช้ยาชนิดนี้ในบริเวณที่เป็นบาดแผลลึกบนผิวหนังหรือแผลไฟไหม้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้บริเวณรอบดวงตา หากยาชนิดนี้เข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาซิงค์ออกไซด์

หลังใช้ยาซิงค์ออกไซด์ ผู้ป่วยอาจมีอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที ส่วนผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้อย่างรุนแรง อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น มีผื่น เป็นลมพิษ หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ใช้ยาซิงค์ออกไซด์ชนิดเหน็บทวารหนัก หากมีเลือดออกทางทวารหนัก หรือมีอาการปวดต่อเนื่อง ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ในทันที และหากผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Undecylenic Acid (อันดีไซลีนิก แอซิด)
  • ลมพิษ
  • แพ้ยาง