Drug name: colchicine

Description:

Colchicine (โคลชิซิน)

Colchicine (โคลชิซิน)

Share:

Colchicine (โคลชิซิน) คือ ยาที่ใช้รักษาและป้องกันโรคเก๊าท์ โดยตัวยาจะช่วยลดการบวมและลดการก่อตัวของผลึกที่เกิดจากกรดยูริค ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดตามข้อ นอกจากนั้น  ยาโคลชิซินยังนำมาใช้ป้องกันอาการเจ็บท้อง หน้าอก หรือข้อ ที่มีสาเหตุมาจากโรคไข้เมดิเตอร์เรเนียน (Familial Mediterranean Fever: FMF) ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรืออาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยาโคลชิซินมีข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงมาก ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

เกี่ยวกับยา Colchicine

กลุ่มยา ยาสำหรับรักษาภาวะกรดยูริคในเลือดสูงและโรคเก๊าท์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาและป้องกันโรคเก๊าท์
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน


คำเตือนของการใช้ยา Colchicine

  • ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยานี้หรือมีอาการแพ้ยาอื่น ๆ เนื่องจากยาโคลชิซินอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดการแพ้หรืออาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ต่อผู้ใช้ได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยา อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคตับแข็ง 
  • หากกำลังใช้ยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้เอง โดยเฉพาะยาต้านไวรัส ยารักษาเชื้อรา ยารักษาไขมันในเลือด ยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงยาสมุนไพร หรืออาหารเสริม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้ยา ซึ่งมักจะใช้ยานี้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
  • ควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • ยานี้อาจส่งผลต่อการดูดซึมอาหารหรือสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน บี 12 หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงรายละเอียดเพิ่มเติม
  • หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ รวมไปถึงยาอื่น ๆ
  • ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาสูง โดยเฉพาะอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เหน็บชาที่นิ้วมือและนิ้วเท้า
  • ยาโคลชิซินอาจทำให้ความสามารถในการผลิตสเปิร์มลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีบุตรได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์ถึงรายละเอียดเพิ่มเติม
  • ยาโคลซิชินอาจลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หรือโรคติดเชื้อ นอกจากนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบว่ามีสัญญาณของอาการติดเชื้อ เช่น ไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น หรือหนาวสั่น
  • ยาโคลซิชินอาจลดจำนวนเกล็ดเลือด ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือฟกช้ำ และหากพบว่ามีเลือดออกหรือเกิดรอยฟกช้ำที่ผิดปกติ รวมไปถึงถ่ายอุจจาระสีคล้ำหรือเป็นเลือด ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาอื่น ๆ ที่อาจเกิดปฏิกิริยาเมื่อใช้ร่วมกับยาโคลซิชิน เช่น ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ยาโบเซ็บพรีเวียร์ (Boceprevir) ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin)ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาดารุนาเวียร์ (Darunavir) ยาอินดินาเวียร์ (Indinavir) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาเนฟาโซโดน (Nefazodone) ยาเนวฟินนาเวียร์ (Nelfinavirnelfinavir) ยาโพซาโคนาโซล (Posaconazole) ยาราโนลาซีน(Ranolazine) ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) หรือยาที่มีส่วนประกอบของยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) เทลาพรีเวียร์ (Telaprevir) เทลิโทรมัยซิน (Telithromycin) ยาทิพล่านาเวียร์ (Tipranavir) และโทรลีแอนโดมัยซิน (Troleandomycin) และอาจมียาอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ซึ่งผู้ใช้ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะมีการเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาทุกชนิด

ปริมาณการใช้ยา Colchicine

เก๊าท์ ระยะเฉียบพลัน

ผู้ใหญ่: รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 1.2 มิลลิกรัม และตามด้วยขนาด 0.6 มิลลิกรัม ทุก 1-2 ชั่วโมง จนกว่าอาการปวดบรรเทา โดยรับประทานปริมาณสูงสุดรวมไม่เกิน 1.8 มิลลิกรัม ภายใน 1 ชั่วโมง หรือหากเกิดผลข้างเคียงในทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ต้องหยุดรับประทานทันที  

เมื่อมีอาการปวดจากโรคเก๊าท์:
ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งแรก 2 เม็ด จากนั้นลดขนาดรับประทานเป็น 1 เม็ด ทุก ๆ  1-2 ชั่วโมง จนกระทั่งอาการปวดบรรเทาลง และห้ามรับประทานยาเกิน 6 มิลลิกรัมต่อวัน

ป้องกันโรคเก๊าท์ กำเริบ
ผู้ใหญ่: รับประทาน ขนาด 0.6 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิด 1.2 มิลลิกรัมต่อวัน

*ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับระดับกรดยูริคในเลือดของผู้ป่วย โรคประจำตัว การทำงานของไต ตับ ยาอื่น ๆ ที่ใช้ร่วม และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยา Colchicine

ก่อนการใช้ยาควรอ่านฉลากวิธีการใช้อย่างละเอียด และหากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการใช้ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจ

  • ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาและตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุ และสามารถรับประทานยาพร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทยแม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นก็ตาม
  • ควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวันในกรณีที่ใช้เพื่อป้องกันโรคเก๊าท์กำเริบ เพื่อช่วยให้ร่างกายจดจำการใช้ยาได้และทำให้ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้กับเกรปฟรุตหรือน้ำเกรปฟรุต (Grapefruit) เพราะอาจทำให้ระดับยาโคลซิชินในเลือดสูงจนอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
  • หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานในมื้อถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อถัดไป โดยที่ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นจากความร้อน แสงแดด และความชื้น
  • ควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก และหากยาหมดอายุให้ทิ้งทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Colchicine

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไป ได้แก่ ตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย โดยหากเป็นต่อเนื่อง หรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรไปพบแแพทย์

หากพบว่าเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

  • อาการแพ้รุนแรง เช่น ผื่นคัน ลมพิษ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใบหน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม คอบวม
  • ปวดกล้ามเนื้อ อาการกดเจ็บ อ่อนเพลีย
  • เหน็บชาที่นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า
  • ปาก ลิ้น หรือมือซีด
  • ท้องเสียรุนแรงหรือต่อเนื่อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • มีสัญญาณหรืออาการของการติดเชื้อ เช่น ไข้ หนาวสั่น เจ็บคอรุนแรงหรือต่อเนื่อง
  • เลือดออกง่ายหรือเกิดรอยฟกช้ำง่ายกว่าปกติ
  • รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียกว่าปกติ

นอกจากนั้นอาจมีอาการอันไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่เกิดระหว่างใช้ยา หากเป็นต่อเนื่อง รบกวนชีวิตประจำวัน หรือพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบโดยเร็ว

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Hemolytic Uremic Syndrome
  • Undecylenic Acid (อันดีไซลีนิก แอซิด)
  • การติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter Infection)