Drug name: วิตามิน-เค

Description:

วิตามิน เค

วิตามิน เค

Share:

วิตามิน เค (Vitamin K) เป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ป้องกันภาวะเลือดไหลมากจนเกินไป ร่างกายสังเคราะห์วิตามิน เค ขึ้นมาได้เอง และยังได้รับวิตามิน เค จากการรับประทานอาหารบางชนิด โดยทั่วไปจึงไม่นิยมบริโภควิตามินเคในรูปแบบอาหารเสริม

ในบางกรณี หากมีความจำเป็น แพทย์อาจต้องให้วิตามิน เค แก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉีดวิตามิน เค ถือเป็นมาตรฐานปฏิบัติในเด็กทารกแรกเกิด หรืออาจให้วิตามิน เค รักษาอาการข้างเคียงในผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของตัวของเลือดมากเกินขนาด รักษาผู้ป่วยมะเร็ง รักษาอาการแพ้ท้อง และรักษาอาการเกี่ยวกับเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนัง เป็นต้น

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดวิตามิน เค มักพบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดวิตามิน เคบางกลุ่มซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามิน เค ในรูปอาหารเสริม เช่น

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับการดูดซึมสารอาหารในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคแพ้กลูเตน  (Celiac disease) และโรคโครห์น (Crohn's disease)
  • ผู้ที่ใช้ยารักษาซึ่งอาจรบกวนกระบวนการดูดซึมวิตามิน เค เข้าสู่ร่างกายได้
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  • ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปได้รับวิตามิน เค จากการรับประทานอาหารบางชนิด โดยชนิดที่สำคัญ ได้แก่ วิตามิน เค1 และวิตามิน เค2 ซึ่งได้จากแหล่งอาหารที่สำคัญ เช่น พืชผักใบเขียวอย่างผักโขม บร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว ถั่วเหลือง สตรอว์เบอร์รี่ ชีส ไข่ และเนื้อสัตว์

เกี่ยวกับ วิตามิน เค

กลุ่มยา อาหารเสริม
ประเภทยา ยาตามคำสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยให้เลือดแข็งตัว ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดไหลมากจนเกินไป
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด


คำเตือนของการใช้ วิตามิน เค

  • ไม่ควรใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เกินปริมาณหรือเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด
  • ไม่ควรใช้อาหารเสริมวิตามิน เค หากมีอาการแพ้พวกสารอาหารเสริม
  • หากมีปัญหาสุขภาพอย่างโรคตับ โรคหัวใจ โรคความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่ต้องระมัดระวังในการบริโภคอาหาร และควบคุมปริมาณวิตามิน เค ที่ร่างกายควรได้รับ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เสมอ
  • หากเป็นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าอาหารเสริมวิตามิน เค จะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกหรือไม่
  • ยารักษาบางชนิดอาจรบกวนประสิทธิภาพของวิตามิน เค เช่น ยาลดกรด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาปฏิชีวนะ แอสไพริน ยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะชัก หรือยารักษาโรคมะเร็ง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เสมอว่ากำลังใช้ยารักษา สมุนไพร หรือวิตามินชนิดใดอยู่บ้าง
  • หากผู้ป่วยต้องทำฟัน หรือผ่าตัดรักษา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่ากำลังบริโภคอาหารเสริมวิตามิน เค อยู่

ปริมาณการบริโภค วิตามิน เค

คนทั่วไปได้รับวิตามิน เค ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจากการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งวิตามิน เค

โดยปริมาณวิตามิน เค ที่ควรบริโภค/วัน ทั้งจากแหล่งอาหาร และจากที่แพทย์กำหนดหรือแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมวิตามิน เค ได้แก่

เด็ก

  • ทารกแรกเกิด - 6 เดือน 2 ไมโครกรัม/วัน
  • อายุ 7 เดือน - 1 ปี 2.5 ไมโครกรัม/วัน
  • อายุ 1-3 ปี 30 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี 55 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 9-13 ปี 60 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 14-18 ปี 75 ไมโครกรัม/วัน

ผู้ใหญ่

เพศชาย

  • อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป 120 ไมโครกรัม/วัน

เพศหญิง

  • อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป 90 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี 75 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ที่มีอายุ 19-50 ปี 90 ไมโครกรัม/วัน

ส่วนตัวอย่างปริมาณวิตามินเคที่แพทย์อาจใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะต่าง ๆ ได้แก่

การฉีดยาเพื่อป้องกันภาวะมีเลือดออกในเด็กแรกเกิด

ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 0.5-1 มิลลิกรัม ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด

การฉีดยาเพื่อรักษาภาวะมีเลือดออกในเด็กแรกเกิด

ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 1 มิลลิกรัม หรือแพทย์อาจเพิ่มปริมาณการให้ยาตามสมควร หากผู้เป็นแม่กำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้วย

การรักษาภาวะโพรทรอมบินในเลือดต่ำ (Hypoprothrombinemia) จากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือปัจจัยอื่น ๆ

ผู้ใหญ่

สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา ฉีดยาเข้าเส้นเลือด ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ปริมาณ 2.5-10 มิลลิกรัม แล้วเพิ่มเป็น 25 มิลลิกรัม หรือสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยแพทย์อาจให้ยาซ้ำภายใน 12-48 ชั่วโมง

รูปแบบการใช้ยาวิตามิน เค รักษาภาวะโพรทรอมบินในเลือดต่ำ อาจเป็นไปตามวิธีการดังต่อไปนี้

  • ยารับประทาน หากมีความจำเป็น อาจให้ผู้ป่วยรับประทานซ้ำภายใน 12-48 ชั่วโมง
  • ยาฉีดเข้าเส้นเลือด การซึมเข้าสู่กระแสเลือดของการให้ยาต้องไม่เกินกว่า 1 มิลลิกรัม/นาที

ทั้งนี้ การใช้ยาวิตามิน เค ในปริมาณมาก (10-15 มิลลิกรัม) อาจมีผลทำให้เกิดภาวะดื้อยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟารินเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นได้ด้วยเช่นกัน

การใช้อาหารเสริม วิตามิน เค

ผู้ป่วยใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เมื่อได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น โดยต้องรับประทานอาหารเสริมวิตามิน เค ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง ไม่รับประทานเกินขนาด ไม่รับประทานเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด และสอบถามแพทย์หากอาหารเสริมวิตามิน เค ที่รับประทานอยู่ใกล้หมดลง ในกรณีที่แพทย์อาจต้องมีใบสั่งยาให้รับประทานอาหารเสริมในครั้งต่อไป เพื่อประสิทธิผลสูงสุดทางการรักษา

หากลืมรับประทานอาหารเสริมตามกำหนดเวลา ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นมาได้ แต่หากเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับการรับประทานอาหารเสริมในครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในครั้งถัดไปได้เลย โดยการรับประทานอาหารเสริมในปริมาณปกติ และต้องไม่รับประทานอาหารเสริมเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าเด็ดขาด

ในช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารเสริม วิตามิน เค แพทย์อาจต้องตรวจเลือดผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อตรวจดูผลและวางแผนการรักษา ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ

ด้านการเก็บรักษา ควรเก็บบรรจุภัณฑ์อาหารเสริม วิตามิน เค ที่ปิดสนิทไว้ที่อุณหภูมิห้อง ในบริเวณที่ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด

ผลข้างเคียงจากการใช้ อาหารเสริม วิตามิน เค

การใช้อาหารเสริม วิตามิน เค อย่างถูกต้องตามวิธีการที่แพทย์กำหนดมักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ

ผู้ป่วยบางรายอาจเผชิญกับผลข้างเคียงจากอาการแพ้ยา เช่น มีผดผื่นคัน หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ปากม่วง ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาในทันที

แม้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคอาหารเสริมวิตามิน เค ได้แก่

  • ตัวร้อนวูบวาบ ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกเข็มตำ
  • ประสาทรับรสเปลี่ยนไป
  • มีเหงื่อไหล
  • เวียนหัว 

หากอาการป่วยเหล่านี้ไม่หายไป ไม่ดีขึ้น หรือทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือผู้ป่วยพบอาการที่อาจเป็นผลข้างเคียงหลังการใช้อาหารเสริมวิตามิน เค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเช่นกัน