Drug name: ลอราทาดีน

Description:

ลอราทาดีน (Loratadine)

ลอราทาดีน (Loratadine)

Share:

Loratadine (ลอราทาดีน) เป็นยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคภูมิแพ้อากาศหรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เช่น อาการจาม หรือคัดจมูก โดยการออกฤทธิ์ต้านสารฮีสตามีนที่เป็นสารเคมีที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายสร้างขึ้นเพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลายและเป็นสาเหตุให้เกิดอาการดังกล่าว

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยาลอราทาดีนเพื่อจุดประสงค์อื่นด้วยเช่นกัน เช่น รักษาอาการจากโรคหวัด หรือบรรเทาอาการคันจากโรคลมพิษ

เกี่ยวกับลอราทาดีน

กลุ่มยา ยาต้านฮีสทามีน (Antihistamine)
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการจากโรคหวัด ภูมิแพ้ และลมพิษ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาลอราทาดีนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยานี้อาจปนไปกับน้ำนมได้ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด และยาน้ำเชื่อม

คำเตือนการใช้ยาลอราทาดีน

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาลอราทาดีน ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งประวัติการแพ้ยาทุกชนิด และโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาลอราทาดีนและยาเดสลอราทาดีน (Desloratadine) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือวางแผนมีบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หากไม่ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์
  • เด็กที่ต้องใช้ยานี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน แพทย์อาจแนะนำให้หยุดยาก่อนเพราะยาสามารถทำให้การทดสอบคลาดเคลื่อน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยาลอราทาดีน

ปริมาณการใช้ยาลอราทาดีน

ปริมาณการใช้ยาลอราทาดีนจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคลมพิษเรื้อรังที่หาสาเหตุไม่ได้

ตัวอย่างการใช้ยาลอราทาดีนเพื่อรักษาภาวะจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคลมพิษเรื้อรังที่หาสาเหตุไม่ได้

เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีและผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

เด็กที่อายุ 2–12 ปี ในกรณีที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 30 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 คLoratadineรั้ง ส่วนในกรณีที่น้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

การใช้ยาลอราทาดีน

ผู้ที่ใช้ยาลอราทาดีนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และไม่ควรรับประทานยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์กำหนด

ยานี้เป็นยาที่สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร โดยในกรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้ผู้ป่วยรับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบถัดไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาชนิดน้ำ ควรเขย่าขวดก่อนรับประทาน และวัดปริมาณการใช้ให้ดีโดยใช้หลอดฉีดยา ช้อน หรือถ้วยวัด 

สำหรับการเก็บรักษายา ผู้ป่วยควรเก็บยาให้ห่างมือเด็กและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้นและความร้อน

ปฏิกิริยาระหว่างยาลอราทาดีนกับยาอื่น

ผู้ที่ต้องใช้ยาลอราทาดีนควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อน หากกำลังใช้ยาชนิดใด ๆ หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อยู่ โดยเฉพาะปฏิชีวนะ ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) และยาอิริโทรมัยซิน(Erythromycin) เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การใช้ยานี้ยังอาจส่งผลให้การตรวจร่างกายบางอย่าง เช่น การตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง มีผลคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากต้องเข้ารับการตรวจใด ๆ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลอราทาดีน

การใช้ยาลอราทาดีนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ โดยอาการที่มักพบได้ เช่น อาการง่วงซึม อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปากแห้ง อยากอาหาร น้ำหนักเพิ่ม และใจสั่น ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่มีความรุนแรง เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้น หรือเกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก และลำคอ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • เวียนหรือปวดศีรษะขั้นรุนแรง รู้สึกคล้ายจะเป็นลม

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • การป้องกันลมพิษ
  • การรักษาลมพิษ
  • การวินิจฉัยลมพิษ