Drug name: fluoxetine

Description:

Fluoxetine (ฟลูออกซิทีน)

Fluoxetine (ฟลูออกซิทีน)

Share:

Fluoxetine (ฟลูออกซิทีน) เป็นยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) ออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณของสารเซโรโทนินในสมอง จึงช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองและรักษาอาการที่เกิดจากภาวะซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก (Panick Attacks) โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวอ้วนบูลิเมีย และกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน

เกี่ยวกับยา Fluoxetine

กลุ่มยา ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRI
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการจากภาวะซึมเศร้า โรคตื่นตะหนก โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคบูลิเมียและกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ดและแคปซูล

คำเตือนการใช้ยา Fluoxetine

  • ห้ามใช้ยานี้ หากภายใน 14 วันที่ผ่านมามีการใช้ยากลุ่ม MAOI ได้แก่ ยาลีเนโซลิด (Linezolid) ฟีเนลซีน (Phenelzine) ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) เซเลกิลีน (Selegiline) เนื่องจากยาอาจทำปฏิกิริยาต่อกันและเป็นอันตราย ต้องหยุดใช้ยากลุ่มนี้แล้วรออย่างน้อย 14 วันจึงจะเริ่มรับประทานยาฟลูออกซิทีน และหากต้องใช้ยาไทโอริดาซีนหรือยาใด ๆ ในกลุ่ม MAOI จะต้องหยุดใช้ฟลูออกซิทีนแล้วรออย่างน้อยเป็นเวลา 5 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ยานี้ ผู้ที่กำลังใช้ยาพิโมไซด์ (Pimozide) หรือยาไทโอริดาซีน (Thioridazine) หรือได้รับการรักษาด้วยยาเมทิลีน บลู ไม่ควรใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ รวมถึงยาต้านซึมเศร้าชนิดอื่น ๆ ในกลุ่ม SSRI
  • มียาหลากหลายชนิดที่สามารถทำปฏิกิริยากับฟลูออกซิทีน ยาที่กล่าวข้างต้นยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้ รวมถึงยาใด ๆ ที่ใช้และหยุดใช้ไปแล้วในช่วงระหว่างที่รับประทานฟลูออกซิทีน
  • ผู้ป่วยโรคตับแข็ง โรคไต เบาหวาน หัวใจ ต้อหินชนิดมุมแคบ ไบโพลาร์ โรคลมชักหรือมีอาการชัก มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เคยใช้สารเสพติดหรือคิดฆ่าตัวตาย หรือเคยได้รับการรักษาด้วยการช็อคไฟฟ้า (ECT) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • การใช้ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI ระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับปอดหรือภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ แต่การหยุดใช้ยากะทันหันก็อาจทำให้อาการซึมเศร้าทรุดลงอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากระหว่างรับประทานยานี้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ห้ามเริ่มหรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • หญิงที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากฟลูออกซิทีนสามารถไหลผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้
  • ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รับประทานยานี้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ยานี้อาจทำให้สติและความสามารถในการขับขี่หรือการทำงานลดลง และหากใช้ยาควบคู่กับแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มผลข้างเคียงให้เกิดขึ้นได้
  • สอบถามแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ร่วมกับยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการปวด ลดไข้ บวม หรืออาการปวดข้อ ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) นาพรอกเซน (Naproxen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) อินโดเมธาซิน (Indomethacin) และอื่น ๆ เนื่องจากอาจทำให้มีอาการฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย
  • ยานี้อาจทำให้เกิดความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง คนรอบข้างควรเฝ้าระวัง ส่วนตัวผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีความรู้สึกดังกล่าว
  • ผู้ที่รับประทานยาบางรายอาจรู้สึกว่าผิวหนังไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ ควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด

ปริมาณการใช้ยา Fluoxetine

รักษาโรคซึมเศร้า

  • ผู้ใหญ่ เบื้องต้นรับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง และสามารถเพิ่มปริมาณยาที่ใช้ หากอาการยังไม่ดีขึ้นในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน ส่วนปริมาณสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 20-60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 8-18 ปี เบื้องต้นรับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง หลังจากผ่านไป 1-2 สัปดาห์อาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน แต่หากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย ให้รับประทานเบื้องต้น 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง และเพิ่มเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน หากผ่านไปหลายสัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ

  • ผู้ใหญ่ เบื้องต้นรับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง และสามารถเพิ่มปริมาณยาหากยังไม่ดีขึ้นในหลายสัปดาห์ โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน ส่วนปริมาณสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ที่  20-60 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุ 7-18 ปี เบื้องต้นให้รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ เพิ่มปริมาณเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน ส่วนปริมาณยาสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 20-60 มิลลิกรัม/วัน เด็กที่น้ำหนักตัวน้อยลงมา ควรเริ่มต้นที่ 10 มิลลิกรัมต่อวัน หากหลายสัปดาห์ต่อมายังไม่ดีขึ้นสามารถเพิ่มปริมาณยาได้ โดยปริมาณสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/วัน

รักษาโรคบูลิเมีย

  • ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง (ผู้ป่วยอาจต้องเริ่มรับประทานที่ปริมาณน้อยก่อนจะเพิ่มขึ้นเท่ากับปริมาณที่แนะนำ)

รักษาโรคตื่นตระหนก

  • ผู้ใหญ่ เบื้องต้นรับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง หากยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจให้เพิ่มปริมาณยา โดยเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน ส่วนปริมาณยาสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะอยู่ที่ 20-60 มิลลิกรัมต่อวัน

รักษาอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน

  • ผู้ใหญ่ ขณะมีประจำเดือน เบื้องต้นรับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง ส่วนในช่วงที่ประจำเดือนยังไม่มาให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง โดยเริ่มรับประทาน 14 วันก่อนมีประจำเดือนจนถึงวันแรกที่ประจำเดือนมา และรับประทานซ้ำในรอบเดือนถัดไป สามารถเพิ่มปริมาณยาสูงสุดได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนปริมาณยาสำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะอยู่ที่ 20-60 มิลลิกรัมต่อวัน

การใช้ยา Fluoxetine

  • รับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ ทำตามฉลากกำกับการใช้ยาอย่างเคร่งครัด อย่ารับประทานมากกว่าหรือน้อยกว่าปริมาณที่กำหนด ทั้งนี้แพทย์อาจมีการเปลี่ยนปริมาณยาที่ใช้บ้าง เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • รับประทานด้วยการกลืนยาลงไปทั้งเม็ด อย่าเคี้ยว กัด หรือทำให้แคปซูลแตกออกก่อน
  • ยาฟลูออกซิทีนอาจใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้น ให้รับประทานยาต่อไปให้ครบตามกำหนด หากอาการไม่ดีขึ้นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • อย่าหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันหรือโดยพลการ เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยา ควรสอบถามแพทย์ถึงวิธีหยุดใช้ยาที่ปลอดภัย
  • ยานี้ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยห่างจากความร้อนและความชื้น
  • หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันที หรือข้ามมื้อนั้นไปเมื่อใกล้ได้เวลารับประทานยาครั้งต่อไปแล้ว ห้ามเพิ่มปริมาณยาทดแทน
  • พยายามไปพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจดูความคืบหน้าของการรักษา
  • ยาต้านซึมเศร้ามีให้เลือกใช้หลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป หากรู้สึกว่าฟลูออกซิทีนไม่เหมาะกับตนเอง สามารถแจ้งให้แพทย์ทราบและปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นที่อาจให้ผลการรักษาที่ดีกว่า

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฟลูออกซิทีน

ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ทันทีที่มีอาการบ่งบอกถึงผลข้างเคียงขั้นรุนแรงใด ๆ ต่อไปนี้

  • อาการคัน
  • มีผื่น ลมพิษ
  • กระสับกระส่าย

ส่วนผลข้างเคียงร้ายแรงที่พบได้รองลงมาคือ ไข้ หนาวสั่น เจ็บกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ

นอกจากนี้ อาการร้ายแรงอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อยแต่ก็ควรระมัดระวัง ได้แก่ มีอาการสับสน วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ เหงื่อออกตัวเย็น ผิวหนังเย็นซีด ชักเกร็ง ท้องเสีย ง่วงซึม ปากแห้ง หิวผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะ เหงื่อออกมากขึ้น กระหายน้ำมากขึ้น อ่อนเพลีย มีจุดสีเขียวหรือม่วงบนผิวหนัง เดินไม่มั่นคง มีอาการสั่น อารมณ์ไม่คงที่ รู้สึกหรือมีพฤติกรรมกระตือรือร้นอย่างควบคุมไม่ได้ หายใจลำบาก เหนื่อยล้าผิดปกติ และร่างกายหรือใบหน้าเคลื่อนไหวผิดปกติ

ผลข้างเคียงจากยาฟลูออกซิทีนยังสามารถปรากฏได้ในระดับไม่รุนแรง และหายไปเองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยที่พบได้บ่อยคืออาการอยากอาหารน้อยลง อาการอื่น ๆ ที่พบได้เช่นกัน ได้แก่ ผมร่วง การมองเห็นผิดปกติ ลิ้นรับรสผิดปกติ เต้านมขยายหรือมีอาการเจ็บ ฝันแปลก ๆ รู้สึกอุ่น ๆ หรือร้อน ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด หาว เจ็บท้อง ปวดบีบ หรือมีแก๊สในท้อง ผิวหนังเป็นสีแดง โดยเฉพาะใบหน้าและลำคอ ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น ปวดประจำเดือน ปากแห้ง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งน้ำอสุจิ และในเพศหญิงอาจมีน้ำนมไหลผิดปกติ

 

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)
  • พฤติกรรมการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Catatonia)