Drug name: memantine-มีแมนทีน

Description:

Memantine (มีแมนทีน)

Memantine (มีแมนทีน)

Share:

Memantine (มีแมนทีน) เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท ใช้บรรเทาอาการของภาวะสมองเสื่อมระยะกลางไปจนถึงระยะรุนแรงที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ ออกฤทธิ์โดยยับยั้งกระบวนการทำงานของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ โดยอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คิดและจดจำได้ดีขึ้น อาจช่วยให้สูญเสียความทรงจำช้าลง หรืออาจนำไปใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจช่วยบรรเทาภาวะสมองเสื่อมได้ แต่ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

เกี่ยวกับยา Memantine

กลุ่มยา ยารักษาโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยลดภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้
เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป

คำเตือนในการใช้ยา Memantine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาชนิดนี้ ยาชนิดอื่น หรือส่วนผสมอื่น ๆ ในยานี้ ทั้งยาชนิดเม็ด และชนิดน้ำ        
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาชนิดอื่นอยู่ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง วิตามิอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพร เนื่องจากแพทย์อาจปรับเปลี่ยนปริมาณยาให้เหมาะกับการใช้ยาของผู้ป่วยและเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากป่วยเป็นโรคหรือมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งที่เกิดก่อนการรับประทานยาและระหว่างการรับประทานยา เช่น โรคลมชักหรืออาการชักอื่น ๆ โรคเกี่ยวกับตับหรือไต ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะหรือไต เป็นต้น
  • ยานี้อาจเป็นอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือหากตั้งครรภ์ระหว่างการรับประทานยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังให้นมบุตร แม้จะยังไม่ทราบว่ายานี้จะถูกส่งผ่านทางน้ำนมหรือทำอันตรายต่อทารกได้หรือไม่
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากต้องเข้ารับการผ่าตัดในระหว่างที่ใช้ยา

ปริมาณการใช้ยา Mematine

ปริมาณยาและระยะเวลาในการรับประทานยาอาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ภาวะสมองเสื่อม
ตัวอย่างการใช้ยา Memantine เพื่อรักษาภาวะสมองเสื่อมระยะกลางไปจนถึงระยะรุนแรงที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์  

ผู้ใหญ่
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม/วัน ในสัปดาห์แรก แล้วจึงเพิ่มปริมาณยาสัปดาห์ละ 5 มิลลิกรัม โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Memantine

  • ใช้ยาตามฉลากยาและตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ห้ามรับประทานยาน้อยเกินไป มากเกินไป หรือนานเกินไปหากแพทย์ไม่ได้สั่ง
  • ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดใช้ยาด้วยตนเองแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • รับประทานยาเป็นประจำเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยใช้ยาในเวลาเดิมทุกวันเพื่อป้องกันการลืมประทานยา และเข้ารับการเติมยาก่อนยาจะหมดเสมอ
  • หากลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีเมื่อนึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาของยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไปและไม่ต้องรับประทานยาทดแทนมื้อที่ขาด
  • รับประทานยานี้ในตอนที่ท้องว่างหรือหลังอาหารก็ได้
  • ก่อนรับประทานยาชนิดน้ำ ควรวัดปริมาณยาด้วยอุปกรณ์ตวงยาที่ได้มาตรฐาน เช่น กระบอกฉีดยา ช้อนชนิดพิเศษที่ใช้วัดปริมาณยา หรือถ้วยยา เป็นต้น หากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ผู้ป่วยสามารถขอรับได้จากแพทย์หรือเภสัชกร
  • ห้ามผสมยาชนิดน้ำกับของเหลวชนิดอื่น ๆ
  • ล้างกระบอกฉีดยาด้วยน้ำสะอาด และตากไว้ให้แห้งทุกครั้งหลังการใช้งาน
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น โดยปิดฝาขวดยาให้สนิท และห้ามแช่กระบอกฉีดยาไว้ในขวดยา  

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Memantine

ระหว่างที่ผู้ป่วยรับประทานยา Memantine อาจได้รับผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ดังนี้

  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • ไอ
  • ง่วงซึม
  • สับสน ก้าวร้าว ซึมเศร้า
  • อุจจาระร่วง ท้องผูก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ปวดตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลัง

ทั้งนี้ หากมีอาการข้างต้นอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง อาการไม่บรรเทาลง ทรุดหนักลงเรื่อย ๆ หรือหากพบสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น หรือคอ เป็นลมพิษ หรือหายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ หากปวดศีรษะอย่างรุนแรง หายใจไม่อิ่ม มีอาการชัก อารมณ์แปรปรวน หรือเห็นภาพหลอน ให้เข้าพบแพทย์ทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)
  • สมองเสื่อม
  • อัลไซเมอร์