Drug name: ceftriaxone

Description:

Ceftriaxone (เซฟไตรอะโซน)

Ceftriaxone (เซฟไตรอะโซน)

Share:

Ceftriaxone (เซฟไตรอะโซน) เป็นยาปฏิชีวนะในลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยการทำลายผนังเซลล์ทำให้แบคทีเรียตาย ใช้ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียกระจายลุกลามไปทั่ว เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน โรคหนองในแท้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในหู ปอด ช่องท้อง ทางเดินปัสสาวะ ข้อต่อ กระดูก กระแสเลือด เป็นต้น และในบางครั้งแพทย์ก็ฉีด Ceftriaxone เพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนจะทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยด้วย

เกี่ยวกับยา Ceftriaxone

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยาฉีดเข้าเส้นเลือด


คำเตือนของการใช้ยา Ceftriaxone

  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพ้ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น เซฟาเลกซิน (Cephalexin) เซฟโพรซิล (Cefprozil) อะม็อกซี่ซิลิน (Amoxicillin) และไอมิเพเนม (Imipenem)
  • ห้ามใช้ยาในเด็กแรกเกิดที่มีอายุน้อยกว่า 29 วัน ซึ่งมีภาวะดีซ่าน หรือมีภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด
  • ห้ามใช้ยาในเด็กแรกเกิดที่กำลังได้รับ หรือแพทย์คาดว่าควรได้รับการฉีดยารักษา ซึ่งมีส่วนประกอบของแคลเซียมอยู่ในตัวยา
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยแพ้อาหารหรือแพ้สารชนิดใดอยู่ หรือแพ้อาหารใด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากข้าวโพด
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยกำลังวางแผนมีบุตร กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร เพราะการใช้ยาอาจส่งผลต่อทารกต่อไปได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยกำลังใช้ยา อาหารเสริม หรือกำลังได้รับการรักษาชนิดใดอยู่ โดยเฉพาะยาหรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับหรือไต หรือเคยมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ลำไส้อักเสบ ติดเชื้อ หรือเคยท้องร่วง ลิ่มเลือดอุดตัน โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • หากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้
  • การใช้ยานี้อาจกระทบต่อผลการทดสอบต่าง ๆ ที่ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทราบเสมอหากกำลังใช้ยารักษาตัวนี้อยู่
  • Ceftriaxone ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีผลต่อการรักษาการติดเชื้อจากไวรัส

ปริมาณการใช้ยา Ceftriaxone

การรักษาโรคหนองในชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 250 มิลลิกรัม เพียงเข็มเดียว

การรักษาภาวะติดเชื้อ

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าเส้นเลือด 1 กรัม หรือใช้วิธีหยดยาเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ 2-4 นาที ในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรง เพิ่มปริมาณเป็น 2-4 กรัม ทุกวัน วันละครั้ง
  • เด็ก อายุ 12 ปี หรือต่ำกว่า ฉีดยาเข้าเส้นเลือดที่ความเข้มข้นยา 20-50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง หรือ 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรง หากให้ยา ≥50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ควรหยดเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ อย่างน้อย 30 นาที
  • เด็กแรกเกิด ปริมาณยาสูงสุด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ ให้นานกว่า 60 นาที ต่อวัน

การป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าเส้นเลือด 1 กรัม เพียงเข็มเดียว หรือใช้วิธีหยดยาเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ 2-4 นาที ประมาณ 0.5-2 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด ในรายที่ต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ แพทย์จะฉีดยาเข้าเส้นเลือด 2 กรัม เพียงเข็มเดียว

การใช้ยา Ceftriaxone

ปกติแล้ว ยา Ceftriaxone จะมีสีเหลืองหรือเหลืองอำพัน ต้องไม่ใช้ยาหากยานั้นเปลี่ยนเป็นสีขุ่นหรือสีใส และไม่ใช้ยาหากภาชนะที่บรรจุยาแตกหรือมีการบุบสลาย โดยยาชนิดนี้ควรเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส ในที่ที่พ้นจากแสงแดด

ในประเทศไทย Ceftriaxone จะถูกฉีดเพื่อรักษาอาการป่วยโดยแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น แพทย์จะสั่งจ่ายยาโดยพิจารณาฉีดเข้าตามอาการหรือชนิดของโรคเป็นหลัก รวมถึงการพิจารณาอายุ ประวัติการแพ้ยา และการตอบสนองของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่สำคัญก่อนใช้ยา

ในระหว่างการรักษาภาวะติดเชื้อที่ยืดเยื้อและต้องใช้เวลานาน แพทย์อาจต้องตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อรักษาอาการป่วยอย่างเหมาะสม รักษาระดับสารต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ และคอยเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากอาการป่วย หรือผลข้างเคียงต่าง ๆ จากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ ต้องใช้ยารักษาผู้ป่วยจนครบตามปริมาณที่เหมาะสมกับอาการป่วย หากหยุดใช้ยากะทันหันหรือไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ยากต่อการรักษาให้ได้ผลต่อไปในอนาคต

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ceftriaxone

การใช้ยา Ceftriaxone อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีอาการบวมแดง เจ็บปวดในบริเวณที่ถูกฉีดยา ท้องร่วง หรือคลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย แต่หากอาการที่เป็นผลข้างเคียงปรากฏขึ้นและไม่หายไป อาการทรุดหนักลง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันทีเมื่อมีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้น เช่น

  • ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยาเกิดความเจ็บปวดมาก กดแล้วเจ็บ เป็นก้อนแข็ง หรือรู้สึกร้อน
  • ผิวซีด อ่อนเพลีย หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม
  • มีไข้ เจ็บคอ หนาวสั่น หรือมีอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
  • มีอาการแพ้ เช่น ผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม กลืนอาหารไม่ได้
  • ผิวลอก เป็นตุ่มพอง
  • รู้สึกแสบร้อนกลางอก เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง ชาบริเวณท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • เจ็บปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีน้ำตาล แดง ขุ่น หรือมีกลิ่นเหม็น
  • ท้องร่วงมาก ถ่ายเหลวมาก หรือถ่ายเป็นเลือด
  • เจ็บปวดอย่างรุนแรงบริเวณข้าง ๆ หรือหลังบริเวณบั้นเอว
  • มีภาวะดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง)
  • มีอาการชัก

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Listeriosis
  • จมูกไม่ได้กลิ่น
  • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)