Drug name: atropine

Description:

Atropine (อะโทรปีน)

Atropine (อะโทรปีน)

Share:

Atropine (อะโทรปีน) เป็นยากลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิก (Anticholinergic Drugs) หรือแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic) ที่ใช้ในทางการแพทย์หลายด้าน เช่น ลดการหลั่งน้ำลายหรือสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ รักษาอาการหดเกร็งของช่องท้อง ลำไส้เล็ก หรืออวัยวะอื่น ๆ โรคลำไส้แปรปรวน ถอนพิษจากยาฆ่าแมลงกลุ่ม Organophosphate รักษาภาวะหัวใจเต้นช้า ใช้ทำเป็นยาหยอดยาเพื่อช่วยขยายรูม่านตา หรือรักษาอาการอื่น ๆ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

กลไกการออกฤทธิ์ของยาจะไปต้านการทำงานสารเคมีที่ชื่อว่า แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ผลิตจากกระบวนการทางเคมีในระบบประสาท กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ต่อมบางชนิด ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ จนกระตุ้นให้เกิดอาการข้างต้น

เกี่ยวกับยา Atropine

กลุ่มยา ยาแอนตี้โคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) / แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ลดการหลั่งน้ำลายหรือสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจบรรเทาอาการปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหารรักษาภาวะหัวใจเต้นช้า
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยาหยอดตา ยารับประทาน

คำเตือนของการใช้ยา Atropine

  • หากเคยมีประวัติการแพ้ยา ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ รวมทั้งโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการแพ้ยา
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการ เซื่องซึม ง่วงนอน หรือตามัว จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการทำงานกับเครื่องจักรกลหรือทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตราย รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยา เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคต้อหินชนิดมุมแคบ (Narrow Angle Glaucoma) ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปรกติจากอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermic Bradycardia) โรคหืด ภาวะอุดตันของทางเดินอาหาร โรคลำไส้ใหญ่อักเสบจนเป็นแผลเรื้อรัง (Severe Ulcerative Colitis) ลำไส้โป่งพอง (Toxic Megacolon) การอุดตันของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Outlet Obstruction)
  • เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปผลการศึกษาจากการใช้ยา
  • ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคไตหรือโรตตับ ต่อมลูกหมากโต ภาวะหัวใจวาย เส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อม ภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวาย ภาวะทางเดินอาหารเป็นอัมพาต ไส้เลื่อนกระบังลมจากกรดไหลย้อน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การใช้ยานี้ควบคู่กับยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) ยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) อาจกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงของยา Atropine ได้ง่าย

ปริมาณการใช้ยา Atropine

ตัวยามีอยู่หลายรูปแบบและมีปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันออกไปตามอาการ ระดับความรุนแรง ความเสี่ยงทางด้านสุขภาพของแต่ละคน และดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ (Bradycardia)

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าเส้นเลือด 500 ไมโครกรัม ทุก ๆ 3-5 นาที จนครบ 3 มิลลิกรัม

ความผิดปกติทางสายตา (Eye Refraction)

  • ผู้ใหญ่: ใช้ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 1% หยดครั้งละ 1 หยด ก่อนการผ่าตัด 1-2 วัน หรือก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง
  • เด็ก: ใช้ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5% หยดครั้งละ 1-2 หยด (หรือยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 1% หยดครั้งละ 1 หยด) ก่อนการผ่าตัด 1-3 วัน และหยดเพิ่มก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง

ตาอักเสบ (Inflammatory Eye Disorders)

  • ผู้ใหญ่: ใช้ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5-1% หยดครั้งละ 1-2 หยด วันละ 1-4 ครั้ง
  • เด็ก: ใช้ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5% หยดครั้งละ 1-2 หยด (หรือยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 1% หยดครั้งละ 1 หยด) วันละ 1-3 ครั้ง

โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular Disease) โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) โรคกระเพาะอาหารที่ไม่มีแผล (Non-Ulcer Dyspepsia)

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน ครั้งละ 0.6-1.2 มิลลิกรัม/วัน ก่อนนอน

การให้ยาก่อนการผ่าตัด (Premedication In Balanced Anaesthesia)

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง 300-600 ไมโครกรัม ก่อนการให้ยาสลบ 30-60 นาที หรือฉีดยาเข้าเส้นเลือดทันทีก่อนให้ยาสลบ
  • เด็กที่มีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง 300-600 ไมโครกรัม ก่อนการให้ยาสลบ 30-60 นาที
  • เด็กที่มีน้ำหนัก 12-16 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง 300 ไมโครกรัม ก่อนการให้ยาสลบ 30-60 นาที
  • เด็กที่มีน้ำหนัก 7-9 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง 200 ไมโครกรัม ก่อนการให้ยาสลบ 30-60 นาที
  • เด็กที่มีน้ำหนักมากกว่า 3 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง 100 ไมโครกรัม ก่อนการให้ยาสลบ 30-60 นาที

ถอนพิษจากสารออร์กาโนฟอสฟอรัสในยาฆ่าแมลง (Organophosphorus Poisoning)

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือด 2 มิลลิกรัม ทุก ๆ 10-30 นาที จนกว่าอาการดีขึ้น ในรายที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงจนมีอาการตัวและหน้าแดง (Atropinisation) จะให้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วันจนกว่าอาการจะดีขึ้น ส่วนในผู้ที่มีอาการรุนแรงจะต้องปรับให้ยาถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 5 นาที
  • เด็ก: ฉีดยาเข้า 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ทุก ๆ 5-10 นาที

การใช้ยา Atropine

ยา Atropine มีอยู่หลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นยาฉีดที่ใช้ในโรงพยาบาลและสั่งจ่ายโดยแพทย์ที่พิจารณาการใช้ยาเป็นรายบุคคล ในกรณีที่ตัวยาเป็นชนิดรับประทานหรือยาหยอดตา ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาบนผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดและใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด  

ในกรณีที่ลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด สามารถใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาให้ข้ามไปใช้ยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และเมื่อมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยาหมดอายุหรือเมื่อลักษณะผลิตภัณฑ์ของยาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะตัวยาอาจเสื่อมประสิทธิภาพและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Atropine

ยา Atropine อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ตาพร่ามัว ท้องผูก ปากแห้ง น้ำลายน้อย เหงื่อไม่ค่อยออก นอนหลับยาก กลืนอาหารลำบาก รูม่านตาขยาย เป็นไข้ วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ ผิวแห้ง กระหายน้ำ รู้สึกกระวนกระวาย ตื่นเต้น หากอาการเหล่านี้เป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงของยารุนแรงและควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกสับสน มีอาการเพ้อ ท้องเสีย การใช้สายตาเพ่งมองทำได้ลำบาก เกิดความผิดปกติในการพูด กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดอาการแพ้ยา ทำให้ผื่นขึ้น บวมตามใบหน้า ลิ้น หรือคอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก

ยาสำหรับโรค

  • ลดการหลั่งน้ำลาย
  • ลดเสมหะในระบบทางเดินหายใจก่อนการผ่าตัด
  • อาการปวดเกร็งในช่องท้อง
  • ถอนพิษจากยาฆ่าแมลง
  • ตาอักเสบ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ลำไส้อักเสบ
  • ลำไส้แปรปรวน
  • สมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia)