Drug name: Valproate-วาลโปรเอท

Description:

Valproate (วาลโปรเอท)

Valproate (วาลโปรเอท)

Share:

Valproate (วาลโปรเอท) หรือ Valproic Acid เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคลมชัก รักษาความผิดปกติทางอารมณ์อย่างภาวะแมเนีย (Mania) ในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ และป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน โดยกลไกของยาจะช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองให้อยู่ในระดับปกติ ยานี้อาจอยู่ในรูปของ Sodium และ Semisodium ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ใช้รักษาโรคที่ต่างกันออกไป นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

เกี่ยวกับยา Valproate

กลุ่มยา ยากันชัก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคลมชัก โรคไบโพลาร์ และป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดระดับความเป็นอันตรายของยา Valproate ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร แต่จากการศึกษาทั้งในคนและสัตว์พบว่ายานี้อาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนในครรภ์ โดยจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา อย่างพิการแต่กำเนิด ภาวะปัญญาอ่อน และพัฒนาการทางสมองที่ช้ากว่าปกติ การศึกษาในสัตว์ยังพบว่ายาวาลโปรเอทอาจทำให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจได้รับผลกระทบจากยาเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้

คำเตือนในการใช้ยา Valproate

ยาวาลโปรเอทมีข้อควรทราบก่อนการใช้ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ก่อนเข้ารับการรักษา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการรักษาและโรคประจำตัวก่อนใช้ยา โดยเฉพาะหากมีภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร ปัญหาเลือดออกผิดปกติ สมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคไต โรคตับ โรคตับอ่อนอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อซีเอ็มวี (CMV) มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของวัฏจักรยูเรีย (Urea Cycle Disorder) หรือทารกเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมไปถึงโรคพันธุกรรมเมตาบอกลิกบางโรค อย่างกลุ่มอาการ Alpers-Huttenlocher หรือโรคความผิดปกติของยีนในไมโทคอนเดรีย (Mitochondrial Disorder) 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากมีอาการติดสุรา ติดบุหรี่ หรือยาเสพติด
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม หน้ามืด หรือตาพร่า จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ ทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อย่างงานที่ต้องใช้เครื่องจักรหรืองานบนที่สูง นอกจากนี้ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดทุกชนิด เพราะอาจทำให้ผลข้างเคียงดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • ยานี้อาจส่งผลให้เลือดออกและเกิดรอยช้ำได้ง่ายขึ้น จึงควรระมัดระวังในการใช้ของมีคม รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่อาจทำให้ร่างกายได้รับการกระแทก
  • ยานี้อาจทำให้เกิดความรู้สึก ความคิด และการพยายามที่จะฆ่าตัวตาย คนใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยอยู่เสมอ
  • ยา Valproate อาจทำให้ตับทำงานล้มเหลวและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ยานี้อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงและให้ผิวไหม้แดด ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ทาครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟ (SPF) สูง และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
  • แพทย์อาจแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยอุปกรณ์หรือวิธีต่าง ๆ ระหว่างการใช้ยานี้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจเลือด
  • ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักชนิดรุนแรงและอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากต้องการหยุดใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์
  • หากได้รับยาเกินขนาดและมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์

ปริมาณการใช้ Valproate

ยา Valproate มีปริมาณ ระยะเวลา และรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ดังนี้

ยา Valproate รูปแบบฉีด

โรคลมชักแบบรู้ตัว (Simple Seizures) โรคลมชักแบบไม่รู้ตัวจากผลกระทบบางส่วนในสมอง (Complex Partial Seizures) และลมชักชนิดเหม่อ (Absence Seizures) 

แพทย์จะให้ยา Valproate รูปแบบฉีดด้วยการฉีดยาทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลา 3-5 นาที หรืออาจใช้วิธีการหยดยาร่วมกับน้ำเกลือและสารน้ำอื่น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 นาที โดยขนาดการใช้ยามีดังนี้

เด็ก

รูปแบบการให้ยาจะแบ่งตามน้ำหนักตัว ดังนี้

  • ระยะแรกใช้ยา Sodium Valproate 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2-4 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยาจนกระทั่งควบคุมอาการได้ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • ปริมาณทั่วไปในการใช้ยาอยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้เป็น 2-4 ครั้ง

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ 

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ระยะแรกใช้ยา Sodium Valproate 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2-4 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยา 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัม/วัน
  • ปริมาณทั่วไปในการใช้ยาอยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ

มีขนาดการใช้ยา Valproate ดังนี้

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

ยา Valproate รูปแบบรับประทาน

โรคลมชักแบบรู้ตัวและโรคลมชักชนิดเหม่อ 

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate รักษาโรคลมชักแบบรู้ตัวและโรคลมชักชนิดเหม่อมีดังนี้

เด็ก

รูปแบบการใช้ยาในเด็กจะแบ่งตามน้ำหนักตัวมีดังนี้

  • น้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยทั่วไปปริมาณการใช้อยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาจนกระทั่งควบคุมอาการได้ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • น้ำหนักต่ำกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน แบ่งการใช้เป็น 2 ครั้งต่อวัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ 

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ระยะแรก ให้รับประทานยา Valproate Semisodium 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2-4 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยา 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยา Valproate ในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

โรคลมชักแบบไม่รู้ตัวจากผลกระทบบางส่วนในสมอง

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate สำหรับรักษาโรคลมชักแบบไม่รู้ตัวจากผลกระทบบางส่วนในสมองมีดังนี้

เด็ก

รูปแบบการใช้ยาในเด็กจะแบ่งตามน้ำหนักตัว ดังนี้

  • น้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ปริมาณการใช้ทั่วไปอยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาจนกระทั่งควบคุมอาการได้ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • น้ำหนักต่ำกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งการใช้เป็น 2 ครั้ง/วัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ยา Valproate Semisodium รับประทาน 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งการใช้ยาเป็น 2-4 ครั้ง เพิ่มปริมาณยา 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • ยา Sodium Valproate รับประทาน 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เพิ่มปริมาณยา 150-300 มิลลิกรัมทุก 3 วัน ปริมาณการใช้ยาทั่วไปอยู่ที่ 1,000-2,000 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัม/วัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

โรคไบโพลาร์

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate ในการรักษาโรคไบโพลาร์มีดังนี้

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีรูปแบบการใช้ยา ดังนี้

  • โดยทั่วไปปริมาณการใช้ยาอยู่ที่ 1,200 มิลลิกรัม/วัน
  • รับประทานยา Valproate ปริมาณ 600-1,800 มิลลิกรัม โดยแบ่งการใช้เป็น 2 รอบ/วัน ระยะแรกแพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาทุก ๆ 2-3 วัน จนถึงระดับที่เหมาะสมภายใน 2 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยารักษาโรคจิตเภทชนิดอื่นร่วมด้วย

ภาวะแมเนียแบบเฉียบพลันจากโรคไบโพลาร์ (Acute Manic Episodes Of Bipolar Disorder)

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate ในการรักษาภาวะแมเนียแบบเฉียบพลันจากโรคไบโพลาร์มีดังนี้

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ระยะแรก รับประทานยา Valproate Semisodium 750 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หากเป็นแบบออกฤทธิ์นาน ใช้ในปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เมื่อร่างกายตอบสนองต่อการรักษาหรือค่าความเข้มข้นของพลาสมาในเลือดอยู่ระหว่าง 50-125 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

ไมเกรน

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของอาการปวดหัวไมเกรนมีดังนี้

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีรูปแบบการใช้ยา ดังนี้

  • โดยทั่วไปปริมาณการใช้อยู่ที่ 500-1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • ระยะแรก รับประทานยา Valproate Semisodium ครั้งละ 250 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หากเป็นแบบออกฤทธิ์นาน รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม/วัน ใช้ต่อเนื่องกันจนครบสัปดาห์
  • เมื่อครบ 1 สัปดาห์ แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 1,000 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์

การใช้ยา Valproate

วิธีใช้ยาอย่างปลอดภัยมีดังนี้

  • ปฏิบัติตามรายละเอียดบนใบกำกับยาและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
  • รับประทานยาในปริมาณที่แพทย์กำหนด ห้ามลดหรือเพิ่มปริมาณยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหาร
  • ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพราะของเหลวภายในร่างกายมีส่วนช่วยในการทำงานของยา
  • ยา Valproate ในรูปแบบน้ำ ควรใช้ช้อนหรือแก้วตวงที่ใช้สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ
  • ไม่ควรรับประทานยา Valproate Sodium ในรูปแบบน้ำ ร่วมกับน้ำอัดลม เพราะอาจทำให้ปากและคอระคายเคือง
  • ควรใช้ยาในเวลาเดียวกันเป็นประจำทุกวัน เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
  • สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน ยานี้ใช้เพื่อการป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนเท่านั้น ไม่สามารถรักษาอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันได้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีบรรเทาเมื่อมีอาการ
  • ยา Valproate แบบออกฤทธิ์นาน ไม่ควรบด หัก เคี้ยว หรือนำออกจากแคปซูล
  • หากลืมใช้ยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้ถึงเวลาใช้ยามื้อถัดไปสามารถข้ามไปรับประทานยาในมื้อถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • เก็บยานี้ไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดดและความชื้น

ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Valproate ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือลดทอนประสิทธิภาพในการรักษาและการป้องกันโรค ดังนั้น หากมีการใช้ยาชนิดอื่นก่อนหน้านี้หรือต้องการใช้ยาชนิดอื่นระหว่างการใช้ยานี้ ควรแจ้งแพทย์ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาต้านเศร้า อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเป็นพิษ
  • ยาป้องกันไข้มาลาเรีย อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการชัก
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดคาร์นิทีน (Carnitine Deficiency) 
  • ฮอร์โมนทดแทนหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาในการป้องกันอาการชักได้
  • ยาแอสไพริน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเป็นพิษสูง และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี
  • ยากลุ่ม Carbapenem อาจลดประสิทธิภาพของยา Valproate และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

นอกจากนี้ ยังมียาหรือการรักษาอื่นที่ส่งผลต่อการทำงานของยา Valproate จึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาและการรักษาของตนเองโดยละเอียด

ผลข้างเคียงของยา Valproate

การใช้ยาวาลโปรเอทอาจมีผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ท้องเสีย ได้ยินเสียงวิ้งในหู อยากอาหารมากกว่าปกติ ภาวะตัวเย็นเกิน เห็นภาพหลอน ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคคลั่งผอม (Anorexia) เป็นต้น

ยาชนิดนี้ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น เลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ หนาวสั่น หายใจถี่ ดวงตาเคลื่อนไหวเอง (Nystagmus) มือและเท้าบวม หัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ มีความรู้สึกหรือพยายามฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า ภาวะตับเป็นพิษ และโรคสมองเสื่อมอย่างรุนแรง หมดสติ เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคเลือด โรคตับอ่อนอักเสบ โรคตับ โรคความผิดปกติของยีนในไมโทคอนเดรีย มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะตับเป็นพิษได้สูงกว่าคนทั่วไป รวมไปถึงการใช้ยาวาลโปรเอทในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดคาร์นิทีน (Carnitine Deficiancy) 

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา อย่างลมพิษ ผื่นแดง คัน ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก และคอ ซึ่งอาจทำให้หายใจไม่ออกและเป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากเกิดอาการเหล่านี้หลังจากใช้ยาควรไปพบแพทย์ทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Absence Seizure
  • ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)
  • โรคลมชัก