Drug name: วิตามินบี-6

Description:

วิตามินบี 6

วิตามินบี 6

Share:

วิตามินบี 6 (Vitamin B6) หรือไพริดอกซีน (Pyridoxine) เป็นสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ใช้รักษาและป้องกันการขาดวิตามินบี 6 หรืออาจใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ เช่น รักษาโรคโลหิตจางบางชนิด และอาการชักบางชนิดในเด็กทารก นอกจากนี้ ยังใช้ตามดุลยพินิจของแพทย์

วิตามินบี 6 พบได้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ธัญพืช กล้วย แครอท อะโวคาโด ผักโขม ถั่ว มันฝรั่ง ชีส นม ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ และตับ ส่วนวิตามินบี 6 ในรูปแบบอาหารเสริม อาจมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางราย และอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ

เกี่ยวกับวิตามินบี 6

กลุ่มยา วิตามิน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ป้องกันและรักษาการขาดวิตามินบี 6
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนในการรับประทานวิตามินบี 6

  • ก่อนใช้วิตามินบี 6 ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ ประวัติการแพ้ยาและการแพ้อาหาร รวมไปถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้วิตามินบี 6 ไม่ควรใช้อาหารเสริมชนิดนี้
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคไต ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้วิตามินบี 6 ชนิดยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะปริมาณการใช้อาหารเสริมชนิดนี้อาจแตกต่างกันไป และการได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณมาก อาจเป็นอันตรายต่อเด็กทารกที่ดื่มนมมารดาได้
  • ไม่ควรให้เด็กใช้วิตามินบี 6 โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้วิตามินบี 6 ในปริมาณมากกว่า 200 มิลลิกรัม/วัน เพราะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการปวดเส้นประสาท และอาจทำให้เกิดอาการชักได้

ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อวิตามินบี 6 ได้ เช่น

  • ยาไอโซไนอาซิด ยาเพนิซิลลามีน และยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้อาจต้องเพิ่มปริมาณการใช้วิตามินบี 6
  • ยาเลโวโดปา ยาฟีโนบาร์บิทัล และยาเฟนิโทอิน ยาเหล่านี้อาจมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้ร่วมกับวิตามินบี 6

ผู้ที่มีภาวะหรือโรคต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้วิตามินบี 6

  • ความดันโลหิตต่ำเพราะการใช้วิตามินบี 6 อาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไปได้
  • โรคเบาหวาน หรือมีน้ำตาลในเลือดต่ำ และผู้ที่ใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมที่อาจกระทบต่อน้ำตาลในเลือด
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังใช้ยาที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดออกได้ง่าย
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคพาร์กินสัน เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับวิตามินบี 6 ได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้

ปริมาณการใช้วิตามินบี 6

ปริมาณวิตามินบี 6 ที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

  • เด็กอายุ 7-12 เดือน รับประทาน 0.3 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 7-12 เดือน
  • เด็กอายุ 1-3 ปี รับประทาน 0.5 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี รับประทาน 0.6 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 9-13 ปี รับประทาน 1 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กผู้ชายอายุ 14-18 ปี รับประทาน 1 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กผู้หญิงอายุ 14-18 ปี รับประทาน 1.2 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ซึ่งมีอายุ 14-18 ปี รับประทานปริมาณสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เด็กอายุ 12 เดือนขึ้นไป รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง รับประทาน 2-25 มิลลิกรัม/วัน อาจรัับประทานพร้อมกับธาตุเหล็กหรือวิตามินรวม โดยรับประทานเป็นเวลา 8 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยอาการชักจากไข้ รับประทาน 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 12 เดือน

ตัวอย่างปริมาณวิตามินบี 6 ที่แนะนำให้บริโภคสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 19-50 ปี รับประทาน 1.3 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ชายอายุ 51 ปีขึ้นไป รับประทาน 1.7 มิลลิกรัม/วัน และผู้หญิงอายุ 51 ปี ขึ้นไป รับประทาน 1.3 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ซึ่งมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง รับประทาน 25 มิลลิกรัม/วัน พร้อมกับวิตามินรวม
  • ผู้ป่วยโรควิตกกังวล รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน พร้อมกับแมกนีเซียม
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีระดับโฮโมซีสเตอีนสูง รับประทาน 40 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ป่วยโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 10-12 สัปดาห์
  • ช่วยการทำงานของระบบประสาท รับประทาน 20 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์
  • ช่วยอาการปวดประจำเดือน รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 14 วัน
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์
  • รักษาและป้องกันการขาดวิตามินบี 6 รับประทานสูงสุด 150 มิลลิกรัม/วัน และอาจฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ทางหลอดเลือดดำ หรือทางกล้ามเนื้อ
  • รักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 6 รับประทานสูงสุด 400 มิลลิกรัม/วัน และอาจฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ทางหลอดเลือดดำ หรือทางกล้ามเนื้อ

ทั้งนี้ ปริมาณและระยะเวลาในการใช้อาหารเสริมวิตามินบี 6 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาด้วย

การใช้วิตามินบี 6

  • ใช้วิตามินบี 6 ตามฉลากและตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ใช้ในปริมาณมากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสชักรก่อนใช้เสมอ
  • ควรรับประทานวิตามินบี 6 พร้อมมื้ออาหาร และรับประทานติดต่อกันตามที่แพทย์สั่ง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดทางการรักษา
  • เนื่องจากปริมาณของวิตามินบี 6 แต่ละยี่ห้ออาจแตกต่างกันไป ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ชัดก่อน เพื่อให้ได้รับวิตามินบี 6 ตามปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย
  • หากลืมรับประทานตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานได้ทันที แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานรอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • หากอาการป่วยที่รักษาอยู่กลับแย่ลงหลังใช้วิตามินบี 6 ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้วิตามินบี 6 เกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ควรเก็บบรรจุภัณฑ์ไว้ในที่เย็น ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และพ้นมือเด็ก

ผลข้างเคียงจากการใช้วิตามินบี 6

โดยทั่วไปการใช้วิตามินบี 6 จะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ หากใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจพบผลข้างเคียงบ้าง เช่น อาการชา แต่หากพบว่ามีอาการแพ้วิตามิน บี 6 เช่น เป็นลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือโดยเร็ว หรือหากพบอาการป่วยอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Myelodysplastic Syndrome
  • Rhesus Disease
  • Sickle Cell Disease