Drug name: กลุ่มยาบาร์บิทูเรต-barbiturates

Description:

กลุ่มยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates)

กลุ่มยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates)

Share:

Barbiturates (กลุ่มยาบาร์บิทูเรต) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ระงับประสาท มีกลไกออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกผ่อนคลายหรือง่วงซึม เคยใช้เป็นยาสลบก่อนการผ่าตัด ใช้รักษาโรคลมชัก โรคไมเกรน และโรคนอนไม่หลับ แต่ปัจจุบันมีการใช้น้อยลง เนื่องจากเป็นยาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ในทางที่ผิดและได้เปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เช่น กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) 

ยากลุ่ม Barbiturates เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาอโมบาร์บิทัล (Amobarbital) ยาเพนโทบาร์บิทัล (Pentobarbital) ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) และยาซีโคบาร์บิทัล (Secobarbital)

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยา Barbiturates

ยาแต่ละชนิดในกลุ่ม Barbiturates ล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงประวัติทางการแพทย์และอาการป่วยในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไต โรคตับ โรคไทรอยด์ โรคหอบหืด มีภาวะถุงลมโป่งพอง หรือมีภาวะโลหิตจางรุนแรง 
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยาในกลุ่ม Barbiturates
  • การใช้ยา Barbiturates ในเด็กและผู้สูงอายุควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าคนวัยอื่น เช่น อาการสับสน กระวนกระวายผิดปกติ หรืออาการซึมเศร้า
  • การใช้ยา Barbiturates ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ไม่ควรขับรถ ใช้เครื่องจักร ทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายในระหว่างการใช้ยา
  • การใช้ยา Barbiturates ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ จึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นในระหว่างการใช้ยา
  • การใช้ยา Barbiturates ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือภายหลังจากคลอด เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ พัฒนาการทางสมองผิดปกติ มีอาการติดยาแต่กำเนิดหรือมีอาการถอนยาหลังจากคลอด หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในสมอง แพทย์จึงจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น 
  • การใช้ยา Barbiturates ในผู้ที่กำลังให้นมบุตรจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเช่นเดียวกัน เพราะตัวยาสามารถปะปนไปกับน้ำนมแม่และอาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก เช่น มีอาการเซื่องซึม ชีพจรเต้นช้า หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • การใช้ยาเกินขนาดมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการโคม่าหรือเสียชีวิตได้ ในกรณีที่รักษาอาการใช้ยาเกินขนาดทันก็อาจทำให้เกิดความเสียหายของไตถาวร

ปฏิกิริยาระหว่างยา Barbiturates กับยาอื่น

ยา Barbiturates อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง หากกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) 
  • กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  • ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานกริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)
  • ยาปฏิชีวนะด็อกซีไซคลิน (Doxycycline)
  • ยาต้านชักเฟนิโทอิน (Phenytoin)
  • ยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOIs
  • ฮอร์โมน เช่น โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เอสทราดิอัล (Estradiol) และเอสโตรน (Estrone)

นอกจากนี้ ยากลุ่ม Barbiturates ยังเพิ่มการออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และยากดประสาทบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกัน เช่น กลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) กลุ่มยาโอปิออยด์ (Opioids) และกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงซึมมากขึ้น

ผลข้างเคียงการใช้ยา Barbiturates

การใช้ยา Barbiturates อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ตามมา เช่น เซื่องซึม วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม วิตกกังวล บางคนอาจมีอารมณ์ฉุนเฉียว ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน และฝันร้าย บางอาการอาจหายได้เองเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับยาได้ แต่หากอาการไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

นอกจากนี้ อาจเกิดอาการอื่น ๆ ที่แม้จะพบได้น้อยและไม่ค่อยรุนแรง แต่ก็ควรไปพบแพทย์ เช่น เกิดความสับสน กระสับกระส่าย ซึมเศร้า เห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียผิดปกติ มีเลือดออกหรือเกิดรอยช้ำผิดปกติ รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาเป็นเวลานาน เช่น ตาและผิวหนังมีสีเหลือง ปวดกระดูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกินขนาด เช่น หายใจลำบาก ลดหรือสูญเสียปฏิกิริยาการตอบสนอง การเคลื่อนไหวของดวงตาผิดปกติ ริมฝีปากหรือเล็บมือเขียว อุณหภูมิร่างกายต่ำ ชีพจรเต้นช้า หมดสติ
  • มีอาการแพ้ยา เช่น รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า เปลือกตา และริมฝีปาก มีผื่นหรือลมพิษขึ้นตามร่างกาย
  • เกิดแผลเปื่อยหรือมีจุดสีขาวในปาก มีอาการเจ็บรุนแรง
  • มีเลือดออกตามไรฟัน ร่วมกับเลือดออกผิดปกติบริเวณอื่น
  • ผิวหนังแดง หนา หรือตกสะเก็ดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อรุนแรง

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กล้ามเนื้อกระตุกรัว (Myoclonus)