Drug name: dextromethorphan

Description:

Dextromethorphan (เดกซ์โทรเมทอร์แฟน)

Dextromethorphan (เดกซ์โทรเมทอร์แฟน)

Share:

Dextromethorphan (เดกซ์โทรเมทอร์แฟน) คือ ยาสำหรับบรรเทาอาการไอแบบไม่มีเสมหะ อาจเกิดจากการติดเชื้อในอากาศ เช่น ไข้หวัด หรือไซนัสอักเสบ Dextromethorphan จัดเป็นยาระงับการไอ (Antitussives) ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยลดการไอ แต่ไม่สามารถใช้รักษาอาการไอเรื้อรัง หรืออาการที่เกิดขึ้นจากปัญหาระบบทางเดินหายใจในระยะยาว เช่น การสูบบุหรี่ โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) โรคหอบหืด (Asthma) หรือโรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เว้นแต่มีการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

เกี่ยวกับยา Dextromethorphan

กลุ่มยา ยาระงับการไอ (Antitussives)
ประเภทยา ยาทั่วไปตามร้านขายยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ บรรเทาอาการไอแบบไม่มีเสมหะ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป
รูปแบบของยา ยารับประทาน


คำเตือนในการใช้ยา
Dextromethorphan

  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาหรืออาหารเสริมต่าง ๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ประวัติการแพ้ยาหรือส่วนผสมในตัวยา รวมถึงอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น เช่น ขนสัตว์ อาหาร สารกันบูด เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี เนื่องจากอาจส่งผลรุนแรงจนเสียชีวิตได้
  • หากผู้ป่วยมีหรือเคยมีประวัติโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สูบบุหรี่ หรือไอแบบมีเสมหะ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่ใช้รักษาการไอ ไข้หวัด หรืออาการแพ้โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์เอ็มเอโอ (MAO Inhibitor) ภายใน 14 วัน เช่น Isocarboxazid, Phenelzine, Rsagiline, Selegiline หรือ Tranylcypromine เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
  • ผู้ป่วยที่มีโรคฟินีลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria: PKU) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมที่ร่างกายขาดเอนไซม์ในการย่อยกรดอะมิโนชนิดฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ควรอ่านคำเตือนและรายละเอียดของยาน้ำให้ชัดเจนก่อนรับประทาน เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของแอสปาร์แตม (Aspartame) หรือสารให้ความหวาน ซึ่งเป็นแหล่งกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)
  • ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อบุตรและอาจซึมผ่านน้ำนมได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบกรณีมีการตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือวางแผนมีบุตร

ปริมาณการใช้ยา Dextromethorphan

ยานี้ต้องรับประทานทุก ๆ 4-12 ชั่วโมงตามความเหมาะสมหรือคำแนะนำของแพทย์ โดยปริมาณและระยะเวลาการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละรายมักมีความแตกต่างกันตามอายุ อาการ และการตอบสนองต่อการใช้ยา ผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ยาบ่อยเกินความจำเป็น หรือยืดระยะเวลาการใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจส่งผลให้เกิดการเสพติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจได้

ยาอม

เด็กอายุ 4 - 6 ปี 5 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 4 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

เด็กอายุ 6 - 12 ปี 5-15 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 2-6 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป 5-15 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

หมายเหตุ: ควรรอให้ยาค่อย ๆ ละลายในปากและไม่ควรกลืนทันที

ยาน้ำเชื่อม

เด็กอายุ 4 - 6 ปี 3.5 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 4 ชั่วโมง หรือ

7.5 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

เด็กอายุ 6 - 12 ปี 7 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 4 ชั่วโมง หรือ

15 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป 30 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

หมายเหตุ: ควรใช้ช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับตวงยาเท่านั้น เพื่อปริมาณยาที่ถูกต้อง

ยาน้ำแขวนตะกอน

เด็กอายุ 4 - 6 ปี 15 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

เด็กอายุ 6 - 12 ปี 30 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป 60 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม

หมายเหตุ: ควรเขย่าขวดก่อนรับประทาน และใช้ช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับตวงยาเท่านั้น เพื่อปริมาณยาที่ถูกต้อง

การใช้ยา Dextromethorphan

ควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือบนฉลากยาและไม่ควรใช้เป็นเวลานาน ทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยามากขึ้น เช่น ผลกระทบต่อการตัดสินใจ หรือปฏิกิริยาต่าง ๆ โดยควรระมัดระวังเรื่องการขับขี่ยานพาหนะหรือร่วมกิจกรรมที่จำเป็นต้องมีความตื่นตัวอยู่เสมอ

ห้ามใช้คาเฟอีนอัดเม็ด ยาลดความอ้วน หรือยากระตุ้นระบบประสาทอื่น ๆ เช่น ยารักษาอาการสมาธิสั้น (ADHD) ร่วมกับยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ทั้งยังควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังใช้ยาอื่น เช่น Celecoxib, Darifenacin, Sibutramine ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือยาต้านภาวะซึมเศร้า เช่น Amitriptyline, Bupropion, Fluoxetine เป็นต้น

หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด หรืออาการไอไม่ดีขึ้นภายใน 7 วันหลังการรักษา มีไข้ ปวดหัว มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง มีโรคหอบหืด หรือความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นร่วมกับการไอ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

กรณีลืมรับประทานยา ผู้ป่วยรับประทานได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ เนื่องจากยาแก้ไอสามารถใช้้ได้ตามความเหมาะสม แต่หากผู้ป่วยรับประทานยาเป็นเวลาและใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในเวลาดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยา

ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์หากมีการใช้ยาเกินขนาด ซึ่งอาจส่งผลให้รู้สึกกระสับกระส่าย คลื่นไส้ มึนงง หัวใจเต้นแรง เห็นภาพหลอน หรือเกิดอาการชักได้

ควรเก็บยานี้ไว้ในภาชนะปิดที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงสว่าง โดยเก็บให้พ้นมือเด็กและทิ้งยาหากไม่ใช้ยาหรือยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Dextromethorphan

ผลข้างเคียงทั่วไปจากการใช้ยานี้มีเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับวิธีการบรรเทาหรือป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจได้แก่

  • ปวดท้อง หรือท้องผูก
  • ปวดหัว สับสน มึนงง หรือง่วงซึมเล็กน้อย
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน

ผลข้างเคียงที่รุนแรงอาจเกิดจากการแพ้ยา ซึ่งผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการคันหรือบวมตามร่างกาย เช่น ใบหน้า คอ หรือลิ้น
  • ผื่นขึ้นตามร่างกาย
  • หายใจลำบาก
  • มึนศีรษะมาก

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • จมูกไม่ได้กลิ่น
  • ภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)
  • สมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia)