Drug name: bromhexine

Description:

Bromhexine (บรอมเฮกซีน)

Bromhexine (บรอมเฮกซีน)

Share:

Bromhexine (บรอมเฮกซีน) เป็นยาช่วยละลายความเหนียวข้นของเสมหะในระบบทางเดินหายใจให้ลดน้อยลง ทำให้ง่ายต่อการขจัดออกจากร่างกายด้วยการไอ ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายในการขจัดสิ่งสกปรก โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะไปเพิ่มน้ำในสารคัดหลั่งจนทำให้ขนของเซลล์ (Cilia) โบกพัดเอาเสมหะและสิ่งสกปรกออกจากระบบทางเดินหายใจ

เกี่ยวกับยา Bromhexine

กลุ่มยา ยาละลายเสมหะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ช่วยละลายเสมหะในระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไอจากโรคหวัด ไอมีเสมหะ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนของการใช้ยา Bromhexine

  • ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ได้
  • ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นแผลในกระเพาะอาหาร โรคหอบหืด โรคกาแลคโตซีเมีย โรคตับขั้นรุนแรง หรือมีความบกพร่องของไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
  • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยา เพราะอาจส่งผลกับทารกในครรภ์

ปริมาณการใช้ยา Bromhexine

ยาละลายเสมหะ

ผู้ใหญ่ ยาเม็ด รับประทานยาในปริมาณ 8-16 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง

เด็ก

  • อายุ  2-5 ปี รับประทานยาในปริมาณ 8 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้งต่อวัน
  • อายุ 6-11 ปี รับประทานยาในปริมาณ 4-8 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง
  • อายุมากกว่า 12 ปี รับประทานยาในปริมาณ 8-16 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง

(ยาน้ำความเข้มข้น 4 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร)

การใช้ยา Bromhexine

ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบหากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัวเดิม หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก พร้อมทั้งอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนการใช้ยา ยาชนิดนี้ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร เพื่อประสิทธิภาพของยาสูงสุด

การเก็บยาควรเก็บในที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และเก็บไว้ในที่ที่พ้นจากมือเด็ก รวมไปถึงไม่ควรนำยาที่หมดอายุมารับประทาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Bromhexine

หลังการรับประทานยาอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติขึ้นได้ในบางราย เช่น  คลื่นไส้ อาเจียน  เวียนศีรษะ มีผื่น ลมพิษขึ้น อาการคันที่ผิวหนัง ท้องเสีย ปวดท้องส่วนบน เกิดภาวะแองจิโออีดีมา (Angioedema) ที่มีการบวมของชั้นผิวหนังแท้ หรือค่าการทำงานของตับเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราว

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)
  • โควิด-19 (COVID-19)
  • ไอ