Drug name: เพรดนิโซโลน

Description:

เพรดนิโซโลน (Prednisolone)

เพรดนิโซโลน (Prednisolone)

Share:

เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือรู้จักกันในชื่อยาสเตียรอยด์ สามารถใช้รักษาโรคหลายชนิด เช่น โรคทางภูมิคุ้มกัน โรคหอบหืด โรคลำไส้อักเสบ และโรคเกี่ยวกับข้อต่อ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารในร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นมาในภาวะอักเสบ 

ยาเพรดนิโซโลนเป็นยาสังเคราะห์ที่มีความคล้ายคลึงกับฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ผลิตขึ้นในร่างกายจากต่อมหมวกไต แม้เป็นยาที่มีประโยชน์มากในทางการแพทย์ แต่ก็อาจตามมาด้วยผลข้างเคียงที่มากด้วยเช่นกัน การใช้ยาเพรดนิโซโลนจึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น 

เกี่ยวกับเพรดนิโซโลน

กลุ่มยา ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยควบคุมอาการเกี่ยวกับการอักเสบและภูมิแพ้ เช่น โรคหืด โรครูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบ และโรคลำไส้อักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category D สำหรับสตรีมีครรภ์ในไตรมาสแรก เนื่องจากพบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ และจัดเป็น Category C สำหรับสตรีมีครรภ์ในไตรมาสสองและสาม เนื่องจากการศึกษาในสัตว์พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
รูปแบบของยา ยาเม็ด ยาหยอดหู ยาหยอดตา ยาทา

คำเตือนในการใช้ยาเพรดนิโซโลน

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาเพรดนิโซโลนและยาในกลุ่มสเตียรอยด์อื่น ๆ
  • ก่อนการใช้ยาเพรดนิโซโลน ต้องแจ้งประวัติทางการแพทย์กับแพทย์ที่ทำการรักษา และต้องแจ้งว่ากำลังใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง เพราะมีหลายโรคที่มีผลกระทบกับการใช้ยาสเตียรอยด์และยาหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อสเตียรอยด์
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่วางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เพราะการใช้ยาเพรดนิโซโลนมีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย
  • ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานที่ต้องเสี่ยงอันตราย ต้องดูการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อยาชนิดนี้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  • ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติเกี่ยวกับไตหรือตับ เป็นโรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ เป็นต้อหินและต้อกระจก  
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ขณะที่ใช้ยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
  • อาจเป็นข้อห้ามการให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live Vaccine) เช่น ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด งูสวัด ขณะที่ใช้ยานี้ในขนาดสูง จึงควรปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไป

ปริมาณการใช้ยาเพรดนิโซโลน

การใช้ยาเพรดนิโซโลนในผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 5–60 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 1–4 ครั้งต่อวัน โดยปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแพทย์และขึ้นอยู่กับว่าใช้รักษาโรคอะไร ซึ่งแพทย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการให้ยาเพื่อให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ส่วนปริมาณการใช้ยาในเด็ก แพทย์จะพิจารณาจากน้ำหนักตัวของเด็ก

การใช้ยาเพรดนิโซโลน

การใช้ยาเพรดนิโซโลนควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากเท่านั้น ไม่ควรเพิ่มหรือลดปริมาณการใช้ยาและหยุดใช้ยาด้วยตัวเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการลดยาได้ และหากกำลังใช้ยาชนิดใดอยู่ ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยาเพรดนิโซโลน เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยาเพรดนิโซโลนจนเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้

ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานยาให้เร็วที่สุดเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้านึกขึ้นได้ตอนใกล้กับเวลารับประทานยามื้อถัดไปให้รับประทานยาในครั้งถัดไปเพียงแค่ครั้งเดียว และควรเก็บยาในอุณหภูมิห้องโดยหลีกเลี่ยงความชื้นและความร้อนสูง เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้

ปฏิกิริยาระหว่างยาเพรดนิโซโลนกับยาอื่น

ยาเพรดนิโซโลนอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพการดูดซึมของยาเพรดนิโซโลนลดลง
  • ยารักษาอาการชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin)
  • ยาในกลุ่มไรฟามัยซิน (Rifamycins) เช่น ยาไรแฟมพิน (Rifampin)
  • ยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซล (Azole Antifungals) เช่น ยาไมโคนาโซล (Miconazole)
  • ยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และยาเคมีบำบัด
  • ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยาวาฟาริน (Warfarin) และยาแอสไพริน (Aspirin) 
  • ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น ยาอัลเดสลูคิน (Aldesleukin) เพราะอาจทำให้ฤทธิ์การต้านมะเร็งของยาอัลเดสลูคินลดลง

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยาเพรดนิโซโลนเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพรดนิโซโลน

การใช้ยาเพรดนิโซโลนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน มีเหงื่อออกมาก มีสิวขึ้น ผิวแห้ง รูปร่างเปลี่ยน หรือมีการบวมเฉพาะจุดตามร่างกาย 

นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรง หากมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้รีบติดต่อแพทย์โดยเร็ว 

  • เกิดอาการแพ้ยา เช่น เกิดลมพิษ หายใจติดขัด และมีอาการบวมที่หน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
  • อุจจาระเป็นเลือด หรือไอเป็นเลือด 
  • มีอาการบวม น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายใจถี่
  • มีอาการซึมเศร้ารุนแรง อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ มีอาการชัก
  • ตับอ่อนอักเสบ มีอาการเจ็บรุนแรงบริเวณท้องช่วงบนไปถึงบริเวณหลัง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และหัวใจเต้นเร็ว 
  • อาการที่เกิดจากโพแทสเซียมต่ำ มีอาการมึนงง สับสน กระหายน้ำอย่างมาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหนื่อยอ่อน และกล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • ความดันโลหิตสูงรุนแรง มีอาการปวดศีรษะรุนแรง การมองเห็นไม่ชัด หายใจถี่ เจ็บหน้าอก วิตกังวล และมีอาการชัก
  • อาการผิดปกติจากการใช้ยาเป็นเวลานานหรือใช้ยาปริมาณมากแล้วมีการหยุดใช้ทันที เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด เจ็บตามข้อหรือเจ็บกล้ามเนื้อ