Drug name: อะม็อกซาปีน

Description:

อะม็อกซาปีน

อะม็อกซาปีน

Share:

Amoxapine (อะม็อกซาปีน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก ออกฤทธิ์โดยเพิ่มจำนวนสารสื่อประสาทในสมองที่ช่วยควบคุมความสมดุลทางจิตใจ ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความกระสับกระส่าย นอกจากนี้ อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา Amoxapine

กลุ่มยา ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความกระสับกระส่าย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Amoxapine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาชนิดนี้ แพ้ส่วนผสมในยาชนิดนี้ แพ้ยาด็อกเซปิน หรือยาชนิดอื่น ๆ โดยอาจสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนผสมที่อยู่ในยาด้วย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาชนิดอื่น ทั้งยาที่ซื้อใช้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์ วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร รวมทั้งยาที่คิดว่าจะรับประทาน เนื่องจากแพทย์อาจปรับปริมาณยาให้เหมาะกับการใช้ยาของผู้ป่วย และเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
  • ห้ามรับประทานยา Amoxapine หากกำลังใช้ยากลุ่ม MAOI เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาฟีเนลซีน ยาเซเลกิลีน ยาทรานิลซัยโปรมีน ยาลีเนโซลิด ยาเมทิลีนบลูชนิดฉีด เป็นต้น เนื่องจากยาอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หากต้องรับประทานยา Amoxapine ให้หยุดใช้ยากลุ่ม MAOI แล้วรออย่างน้อย 14 วัน จึงเริ่มรับประทานยา Amoxapine ได้ และหากต้องรับประทานยากลุ่ม MAOI ก็ให้หยุดรับประทานยา Amoxapine อย่างน้อย 14 วัน จึงเริ่มรับประทานยากลุ่ม MAOI ได้เช่นกัน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังเข้ารับการบำบัดแบบช็อคด้วยไฟฟ้า และหากกำลังป่วยหรือเคยป่วยด้วยภาวะปัสสาวะลำบาก ไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต โรคต้อหิน โรคลมชัก โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท หรือโรคทางสุขภาพจิตอื่น ๆ  
  • ขณะที่รับประทานยานี้อาจรู้สึกง่วงได้ จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือควบคุมเครื่องจักร จนกว่าจะแน่ใจว่ายาชนิดนี้ส่งผลกระทบต่อตนเองมากเพียงใด และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ง่วงมากขึ้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะมีบุตร เนื่องจากยังไม่ทราบว่ายา Amoxapine เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้หรือไม่ และหากตั้งครรภ์ระหว่างที่รับประทานยา ให้ไปปรึกษาแพทย์ทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมจนมีผลต่อเด็กได้
  • ห้ามใช้ยานี้หากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากแพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยาได้
  • วันรุ่นบางรายอาจคิดฆ่าตัวตายหลังรับประทานยาต้านเศร้าเป็นครั้งแรก แพทย์จึงอาจต้องตรวจอาการของผู้ป่วยทุกครั้งที่เข้าพบ โดยคนในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาการหรืออารมณ์ของผู้ป่วยด้วย  
  • ผู้สูงอายุไม่ควรรับประทานยา Amoxapine เป็นประจำ เพราะอาจไม่ปลอดภัยหรืออาจทำให้ยามีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับยาอื่น ๆ ที่ใช้รักษาอาการเดียวกัน ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการใช้ยาด้วย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการป่วยใหม่ ๆ เกิดขึ้น หรือหากอาการที่เป็นอยู่แย่ลง เช่น พฤติกรรมหรืออารมณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง มีปัญหาในการนอนหลับ มีภาวะแพนิคกำเริบ วิตกกังวล กระสับกระส่าย หุนหันพลันแล่น อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว อยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ รู้สึกซีมเศร้ามากขึ้น คิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือคิดอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานยาชนิดนี้หากต้องเข้ารับการผ่าตัด

ปริมาณการใช้ยา Amoxapine

ปริมาณยาและระยะเวลาที่ต้องรับประทานยาอาจขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคซึมเศร้า
ตัวอย่างการใช้ยา Amoxapine เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้นครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง อาจปรับปริมาณยาได้ถึง 100 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง ตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยหลังรับประทานยาได้ 1 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอาจรับประทานยาได้มากที่สุดถึง 600 มิลลิกรัม/วัน โดยผู้สูงอายุให้รับประทานยาปริมาณเริ่มต้นครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง และปรับปริมาณยาตามความเหมาะสมหลังจากรับประทานยาได้ 5-7 วัน ปริมาณยาที่แนะนำ คือ 150 มิลลิกรัม/วัน และปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Amoxapine

  • ใช้ยาตามฉลากยาและตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อมีข้อสงสัยใด ๆ
  • ห้ามรับประทานยาในปริมาณน้อยกว่า มากกว่า หรือนานกว่าที่แพทย์แนะนำ และห้ามหยุดรับประทานยาหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • รับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน และควรเข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาที่ต้องรับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องรับประทานยาทดแทน
  • ห้ามใช้ยาของผู้อื่น และห้ามให้ผู้อื่นรับประทานยาของตนเอง  
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Amoxapine  

ยา Amoxapine อาจทำให้เกิดอาการบางอย่างตามมาได้ โดยมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ท้องผูก ปากแห้ง หรือง่วงซึม เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจฝันร้าย อาเจียน เหนื่อยล้า ผิวหนังไวต่อแสงแดดกว่าปกติ ความอยากอาหารเปลี่ยนไป หรือมีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งหากอาการข้างเคียงต่าง ๆ รุนแรงขึ้นหรือไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากพบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมทั้งมีไข้
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นรัวหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • แรงดันหรืออาการปวดกระจายไปยังบริเวณขากรรไกรหรือไหล่
  • พูดไม่ชัด พูดยาก พูดช้า
  • มีปัญหาในการปัสสาวะ
  • มีปัญหาด้านการมองเห็น
  • มีปัญหาด้านการทรงตัว เดินลากเท้า มีอาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้
  • ชาหรืออ่อนแรงอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะบริเวณด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • กล้ามเนื้อตึงอย่างมาก ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใบหน้าหรือบริเวณต่าง ๆ ตามร่างกายไม่ได้
  • มีเหงื่อออก สับสน รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
  • มีอาการแพ้ยา อย่างอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น หรือคอ เป็นลมพิษ หรือหายใจไม่สะดวก  

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงมากกว่าช่วงวัยอื่นด้วย ดังนั้น จึงควรเฝ้าระวังในการใช้ยาและการเกิดผลข้างเคียงในผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

 

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)
  • ปากแห้ง