Drug name: คลอร์ไดอาซีพอกไซด์-chlordiazepoxide

Description:

คลอร์ไดอาซีพอกไซด์ (Chlordiazepoxide)

คลอร์ไดอาซีพอกไซด์ (Chlordiazepoxide)

Share:

Chlordiazepoxide (คลอร์ไดอาซีพอกไซด์) เป็นยารักษาโรควิตกกังวล ภาวะถอนพิษสุรา โรคนอนไม่หลับ ในบางกรณีจะใช้บรรเทาอาการในผู้ป่วยที่มีภาวะเครียด เป็นกังวล หรือรู้สึกกลัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเป็นระยะสั้น ๆ 

ยา Chlordiazepoxide จะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางเพื่อช่วยให้สารสื่อประสาทบางชนิด อย่างสารกาบา (GABA) ทำงานยับยั้งเซลล์ประสาทต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาอาการวิตกกังวล นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยา Chlordiazepoxide ในการรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติชนิดอื่นด้วย

เกี่ยวกับยา Chlordiazepoxide

กลุ่มยา เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยคลายความวิตกกังวล บรรเทาอาการจากภาวะถอนพิษสุราและช่วยให้นอนหลับ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา

คำเตือนในการใช้ยา Chlordiazepoxide

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้ยา Chlordiazepoxide และยาชนิดอื่น รวมถึงกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยานอนหลับ ยารักษาโรคลมชัก ยารักษาโรควัณโรค ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร รวมถึงยาอื่นที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ยาต้านเศร้า และยาช่วยเลิกเหล้าอื่น 
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติป่วยหรือกำลังป่วยเป็นภาวะซึมเศร้า โรคทางอารมณ์ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับ โรคไต ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis) ติดยาเสพติด มีความคิดฆ่าตัวตาย 
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา Chlordiazepoxide โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก เนื่องจากยานี้อาจส่งผลอันตรายต่อทารก
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการให้นมขณะใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาสามารถปนไปกับน้ำนม ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อทารกได้
  • การใช้ยา Chlordiazepoxide อาจส่งผลให้รู้สึกง่วงซึม ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาขณะใช้ยานี้
  • ยา Chlordiazepoxide อาจส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจช้าลงหรือหยุดหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาคลายกังวล ยารักษาโรคชัก และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากกำลังใช้ยาในข้างต้น หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากผู้ป่วยสูบบุหรี่เป็นประจำหรืออยู่ในช่วงเลิกบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • ผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้อาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้มาก โดยเฉพาะอาการง่วงซึม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการรับประทานเกรปฟรุตขณะใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี

ปริมาณการใช้ยา Chlordiazepoxide

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Chlordiazepoxide จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

ภาวะวิตกกังวล

ตัวอย่างการใช้ยา Chlordiazepoxide เพื่อรักษาภาวะวิตกกังวล 

              ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 30 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งรับประทานยาระหว่างวัน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะวิตกกังวลขั้นรุนแรง อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดวันละ 100 มิลลิกรัม

              ผู้สูงอายุและผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง ปริมาณยาจะปรับลดลงตามแพทย์สั่ง

ภาวะถอนพิษสุราแบบเฉียบพลัน

ตัวอย่างการใช้ยา Chlordiazepoxide เพื่อรักษาภาวะถอนพิษสุราแบบเฉียบพลัน

              ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 25–100 มิลลิกรัม และอาจรับประทานยาซ้ำเมื่อจำเป็น โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม

              ผู้สูงอายุและผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง ปริมาณยาจะปรับลดลงตามแพทย์สั่ง

โรคนอนไม่หลับ

ตัวอย่างการใช้ยา Chlordiazepoxide เพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ

              ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 10–30 มิลลิกรัมก่อนนอน แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 4 สัปดาห์ โดยรวมช่วง 2 สัปดาห์ที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำให้ค่อย ๆ ลดปริมาณการรับประทานยา

              ผู้สูงอายุและผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง ปริมาณยาจะปรับลดลงตามแพทย์สั่ง

กล้ามเนื้อหดเกร็ง

ตัวอย่างการใช้ยา Chlordiazepoxide เพื่อรักษาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

              ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 10–30 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งรับประทานยาเป็นช่วง ๆ ระหว่างวัน

              ผู้สูงอายุและผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง ปริมาณยาจะปรับลดลงตามแพทย์สั่ง

การใช้ยา Chlordiazepoxide

ผู้ป่วยที่รับประทานยา Chlordiazepoxide ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญไม่ควรหยุดยาเองหากแพทย์หรือเภสัชกรไม่ได้กำหนด เนื่องจากการหยุดยาแบบฉับพลันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย

ยา Chlordiazepoxide สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร โดยให้รับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวันเพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

การใช้ยา Chlordiazepoxide ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง หากผู้ป่วยเริ่มสังเกตพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยา ให้ไปพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำ

การเก็บรักษายาควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น เก็บให้พ้นมือเด็ก และห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้เด็ดขาด หากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการใช้สารเสพติด เนื่องจากยา Chlordiazepoxide อาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Chlordiazepoxide

ผู้ที่ใช้ยา Chlordiazepoxide อาจพบผลข้างเคียงบางอย่างจากการใช้ยา เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มองไม่ชัด อ่อนเพลีย มีปัญหาด้านความจำ คลื่นไส้ ท้องผูก เดินลำบาก รวมถึงผู้ป่วยสูงวัยที่ใช้ยานี้อาจมีอาการง่วงซึมนานกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบ 

ในบางกรณี ยา Chlordiazepoxide อาจส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจช้าลงหรือหยุดหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังใช้ยากลุ่มโอปิออยด์และยาชนิดอื่นที่ส่งผลให้หายใจช้าลงหรือหยุดหายใจ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้น ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตอาการขณะผู้ป่วยใช้ยานี้ และหากพบว่าผู้ป่วยหายใจเบา หายใจตื้น นอนหลับปลุกยาก หรือหยุดหายใจ ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการที่รุนแรงหลังจากใช้ยา เช่น

  • ง่วงซึมอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้เรื้อรัง
  • อาเจียน
  • ไข้ขึ้น หนาวสั่น เจ็บคอเรื้อรัง
  • ผิวหนังหรือดวงตาเหลือง หรือปัสสาวะมีสีเข้ม 
  • ปวดท้อง
  • ทรงตัว หรือควบคุมร่างกายลำบาก
  • พูดลำบาก
  • ตัวสั่น ใบหน้า หรือกล้ามเนื้อกระตุก
  • ปัสสาวะลำบาก 
  • นอนไม่หลับ
  • เป็นลม
  • มีความต้องการทางเพศมากหรือน้อยผิดปกติ
  • มีความคิดอยากทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย
  • อาการแพ้ยา ส่งผลให้เกิดผื่นขึ้น ใบหน้า ลิ้น คอ คันหรือบวม เวียนศีรษะขั้นรุนแรง หายใจลำบาก
  • อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ เช่น ซึมเศร้าขั้นรุนแรง กระสับกระส่าย สับสน โกรธ หรือตื่นเต้นผิดปกติ เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • นอนไม่หลับ
  • ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)