Drug name: ทริปแทน

Description:

ทริปแทน

ทริปแทน

Share:

Triptans หรือทริปแทน เป็นกลุ่มยาแก้ปวดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและอาการอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากไมเกรน เช่น อาการคลื่นไส้ หรืออาการไวต่อแสงและเสียงมากผิดปกติ เป็นต้น โดยยาจะออกฤทธิ์ต่อสารเซโรโทนินในสมอง ทำให้เส้นเลือดในสมองหดตัวแคบลง ทั้งยังส่งผลต่อเส้นประสาทในสมองบางชนิด ทำให้อาการปวดศีรษะไมเกรนบรรเทาลง ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายใน 2 ชั่วโมงหลังการใช้ยา แต่ยาในกลุ่มนี้ไม่สามารถนำไปใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนได้

ยากลุ่มทริปแทนมีหลายรูปแบบ ทั้งยาเม็ด ยาพ่น และยาฉีด โดยมีตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น

  • ยาซูมาทริปแทน เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน และอาการปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไมเกรน
  • ยาริซาทริปแทน เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนและบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากไมเกรน เช่น อาการคลื่นไส้ และอาการไวต่อแสงหรือเสียง เป็นต้น
  • ยานาราทริปแทน เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยออกฤทธิ์ส่งผลให้หลอดเลือดในสมองหดตัวแคบลง
  • ยาซอลมิทริปแทน เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้ใหญ่ ซึ่งมีทั้งชนิดยารับประทานและยาพ่นจมูก
  • ยาอีลีทริปแทน เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนและบรรเทาอาการที่เกิดจากไมเกรน

คำเตือนในการใช้ยา Triptans

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยากลุ่มนี้ หากมีประวัติแพ้ยาในกลุ่ม Triptans รวมไปถึงประวัติการแพ้อื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงประวัติทางการแพทย์หรือโรคประจำตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ อาการชัก โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว โรคไมเกรนที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก และโรคไมเกรนที่มีอาการนำที่ก้านสมอง เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับภาวะต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เป็นต้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น เคยมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ สูบบุหรี่ เป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือเป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ รวมถึงยาและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือปรับปริมาณยาโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
  • ห้ามใช้ยาในกลุ่ม Triptans มากกว่า 1 ชนิดในเวลาเดียวกัน และห้ามใช้ร่วมกับยาเออร์โกตามีน ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอและกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาบางอย่างที่เป็นอันตรายได้
  • การใช้ยากลุ่ม Triptans มากเกินไป อาจเป็นสาเหตุของโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกินได้
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยานี้ เนื่องจากยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้รู้สึกเวียนศีรษะหรือง่วงซึม รวมทั้งควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
  • เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และผู้หญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดโดยแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ผู้สูงอายุอาจไวต่อผลข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคตับ และภาวะความดันโลหิตสูง
  • สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง โดยอาจใช้ยาชนิดนี้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตรทุกครั้ง เนื่องจากยาในกลุ่มนี้อาจส่งผ่านไปยังบุตรได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Triptans

การใช้ยากลุ่มทริปแทนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ปากแห้ง รู้สึกหนักบริเวณใบหน้า แขน ขา และหน้าอก ง่วงนอน หน้าแดง กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ แน่นบริเวณลำคอ รู้สึกเจ็บคล้ายถูกเข็มทิ่ม และอาจเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังในกรณีที่ใช้ยาในกลุ่ม Triptans รูปแบบฉีด เป็นต้น ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มักไม่รุนแรงและค่อย ๆ หายไปได้เอง นอกจากนี้ ยาชนิดนี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงด้วย ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการที่เป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือด เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการทรงตัว พูดไม่ชัด รู้สึกเย็นและชาบริเวณมือและเท้า เป็นต้น
  • อาการของภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอก อาจเจ็บร้าวไปยังขากรรไกรหรือไหล่ด้วย คลื่นไส้ และมีเหงื่อออกมาก เป็นต้น
  • มีระดับเซโรโทนินในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว เห็นภาพหลอน สูญเสียการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เวียนศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก มีไข้และหนาวสั่นอย่างหาสาเหตุไม่ได้ รู้สึกกระวนกระวายหรืออยู่ไม่สุข
  • อาการแพ้ที่รุนแรง เช่น มีผื่นหรือตุ่มพองขึ้นตามผิวหนัง มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น และคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง และหายใจลำบาก เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • การป้องกันอาการปวดหัว
  • การรักษาอาการปวดหัว