Drug name: progesterone

Description:

Progesterone (โปรเจสเตอโรน)

Progesterone (โปรเจสเตอโรน)

Share:

Progesterone (โปรเจสเตอโรน) คือฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมภาวะไข่ตกและการมีประจำเดือน ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์ฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นเพื่อรักษาผู้หญิงที่ยังไม่เข้าสู่วัยทองแต่มีภาวะประจำเดือนขาดเนื่องจากร่างกายขาดฮอร์โมนดังกล่าว และยังใช้ควบคู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวจนเกินไปในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

เกี่ยวกับ Progesterone

กลุ่มยา ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษารักษาภาวะขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ควบคุมภาวะไข่ตกและการมีรอบเดือน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเหน็บช่องคลอด ยารับประทาน ยาฉีด อุปกรณ์คุมกำเนิด

คำเตือนในการใช้ Progesterone

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา หากผู้ป่วยแพ้ยานี้หรือแพ้ถั่วลิสง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา หากผู้ป่วยเพิ่งแท้งบุตรเมื่อไม่นานมานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา สมุนไพร และอาหารเสริมชนิดใดก็ตามที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาคาร์บามาซีปีน ยาฟีโนบาร์บิทอล ยาฟีโนโทอิน ยาไรแฟมปิซีน และยาคีโตโคนาโซล เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง
  • ไม่ควรใช้ยานี้ หากมีภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เป็นโรคตับ หรือเคยมีภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และโรคมะเร็งเต้านม
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด ไมเกรน โรคหืด โรคไต ชัก โรคลมชัก หรือเคยมีภาวะซึมเศร้า
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง คอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่ ภาวะอ้วน หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • สตรีมีครรภ์หรือกำลังวางแผนตั้งครรภ์ห้ามใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน และหากเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เนื่องจากตัวยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารก
  • สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เพราะตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมไปสู่ทารกและก่อให้เกิดอันตรายได้
  • การใช้ Progesterone อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจ ภาวะสมองเสื่อม ภาวะลิ่มเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็งเต้านมได้ ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงดังกล่าว

ปริมาณการใช้ Progesterone

ชนิดรับประทาน

  • ใช้ร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาภาวะหมดประจำเดือน รับประทานยาวันละ 200 มิลลิกรัม 1 ครั้งก่อนนอน ติดต่อกัน 12-14 วันต่อเดือน
  • รักษาภาวะขาดประจำเดือนและภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ รับประทานยาวันละ 400 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 10 วัน

ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

  • รักษาภาวะขาดประจำเดือนและภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ให้ยาวันละ 5-10 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 5-10 วัน จนกว่าจะถึง 2 วันก่อนมีประจำเดือน
  • รักษาภาวะแท้งซ้ำจากการขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ให้ยาครั้งละ 25-100 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 15 ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงสัปดาห์ที่ 8-16 อาจเพิ่มปริมาณยาได้ทุกวัน หากจำเป็น

ชนิดอุปกรณ์ห่วงอนามัย

  • คุมกำเนิด ใส่อุปกรณ์ที่มีปริมาณตัวยา 38 มิลลิกรัมไว้ภายในมดลูก โดยยาสามารถออกฤทธิ์ได้นาน 1 ปี

ชนิดยาสอดช่องคลอด

  • รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ใช้ยา 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง อาจเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยเริ่มใช้ในวันที่ 12-14 ของรอบเดือนต่อเนื่องไปจนเริ่มมีประจำเดือน ในบางกรณีอาจใช้ยาเหน็บทางทวารหนักด้วย
  • รักษาภาวะขาดประจำเดือนและภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ใช้ยาวันละ 45 มิลลิกรัม วันเว้นวัน ตั้งแต่วันที่ 15 ถึงวันที่ 25 ของรอบเดือน อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 90 มิลลิกรัม หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา

การใช้ Progesterone

  • ควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำบนเอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยกว่าที่แนะนำ เพราะอาจส่งผลต่อการรักษาได้
  • ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังรับประทานยา และควรใช้ยานี้ในเวลาก่อนนอน เพราะตัวยาอาจทำให้รู้สึกวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
  • บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ Progesterone ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 10-12 วัน ในแต่ละรอบเดือน ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ขณะใช้ Progesterone ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมหรือคลำหาก้อนผิดปกติที่หน้าอกอย่างสม่ำเสมอ
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีทางการแพทย์ หรือต้องพักรักษาอยู่บนเตียง ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้งว่ากำลังใช้ยานี้ เพราะอาจต้องหยุดใช้ยาชั่วคราว
  • หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้ถึงครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานครั้งถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • ควรปรึกษาแพทย์หากลืมรับประทานยามากกว่า 1 ครั้งในระหว่างการรักษา
  • ควรเก็บรักษายาไว้ในที่แห้ง ห่างไกลจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด

ผลข้างเคียงจากการใช้ Progesterone

การใช้ Progesterone อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังนั้น ผู้ใช้ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองในระหว่างการใช้ยา ผลข้างเคียงทั่วไปจากยานี้ที่อาจพบได้ คือ

  • ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • อารมณ์แปรปรวน
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ
  • มีสิวขึ้น
  • เจ็บหน้าอก
  • แสบร้อนกลางอก
  • มีภาวะขนดกหรือมีขนขึ้นมากผิดปกติ
  • ท้องอืด ท้องผูก
  • ท้องเสีย
  • มีอาการบวมที่มือและเท้า
  • ปวดตามข้อ
  • มีของเหลวไหลออกมาทางช่องคลอด
  • ความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป
  • รอบเดือนเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ

ทั้งนี้ หากผู้ใช้มีอาการแพ้ยา ได้แก่ ลมพิษ หายใจไม่ออก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม ควรรีบไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งในกรณีที่พบผลข้างเคียงรุนแรงต่อไปนี้

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • คลำพบก้อนบริเวณหน้าอก
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดบริเวณด้านหลังดวงตา
  • มีปัญหาในการมองเห็นอย่างเฉียบพลัน
  • มีอาการของภาวะซึมเศร้า เช่น อารมณ์แปรปรวน อ่อนล้า มีปัญหาในการนอนหลับ เป็นต้น
  • วิงเวียนศีรษะ รู้สึกคล้ายบ้านหมุน มีอาการมึนงงหรือง่วงซึมผิดปกติ
  • หายใจถี่
  • มีอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก เจ็บร้าวจากหน้าอกไปถึงขากรรไกรหรือไหล่ คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน มีอาการคัน รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระเป็นสีซีด หรือมีอาการดีซ่าน
  • มีสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง พูดไม่ชัด มีปัญหาในการพูดหรือการทรงตัว เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น
  • เกิดลิ่มเลือดในปอด อาการบ่งบอก ได้แก่ เจ็บหน้าอก ไออย่างเฉียบพลันหรือไอเป็นเลือด หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ เป็นต้น
  • เกิดลิ่มเลือดที่ขาจนทำให้ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างมีอาการปวด บวมแดง หรือรู้สึกอุ่น ๆ บริเวณผิวหนังผิดปกติ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กระดูกสะโพกหัก
  • กลุ่มอาการ PMS (Premenstrual Syndrome)
  • ประจำเดือน