Drug name: Adapalene-อะดาพาลีน

Description:

Adapalene (อะดาพาลีน)

Adapalene (อะดาพาลีน)

Share:

Adapalene (อะดาพาลีน) เป็นยาในกลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) ออกฤทธิ์ช่วยฟื้นฟูผิวหนังให้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง ช่วยปรับเซลล์ผิวให้เจริญเติบโตอย่างสมดุล ลดอาการบวมและอักเสบที่ผิวหนัง ใช้ในการรักษาสิวโดยช่วยลดจำนวนและความรุนแรงของสิว นอกจากนี้ อาจนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย  

เกี่ยวกับยา Adalpalene

กลุ่มยา ยารักษาสิว
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาสิว
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาทาภายนอกแบบครีมและเจล
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า
ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลอง
ในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า
มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Adalpalene

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีโรคประจำตัวและการใช้ยาทุกชนิด ทั้งวิตามิน อาหารเสริม หรือยาสมุนไพรที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในการรักษาอาการอื่น ๆ หากยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยา Adalpalene ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาสิวหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ รีซอร์ซินอล และกรดซาลิไซลิก รวมถึงสบู่ชนิดหยาบ ยาสระผม น้ำยาเปลี่ยนสีผม น้ำยากำจัดขน และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือมะนาว เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้   
  • สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ขณะใช้ยานี้ เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • สำหรับผู้ที่ให้นมบุตร ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดและการใช้เครื่องทำผิวแทน เพราะยานี้ทำให้ผิวไวต่อแสง ผู้ป่วยควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป และสวมเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง หากเกิดผิวไหม้และรอยแดงที่ผิวหนัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ปริมาณการใช้ยา Adalpalene

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยทั่วไปการใช้ยาในผู้ใหญ่เพื่อรักษาสิวจะใช้ยาแบบครีม และเจลที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือยาแบบเจลที่มีความเข้มข้น 0.3 เปอร์เซ็นต์ ทาบาง ๆ บริเวณที่มีอาการ 1 ครั้ง/วัน หลังล้างหน้าในตอนกลางคืน

การใช้ยา Adalpalene

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ห้ามรับประทานยานี้ เพราะเป็นยาที่ใช้เฉพาะทาภายนอกเท่านั้น
  • ล้างมือก่อนและหลังการใช้ยา รวมทั้งควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะใช้ยาและเช็ดให้แห้งก่อนทายาเสมอ
  • ทายาบาง ๆ ทั่วทั้งใบหน้าหรือบริเวณที่มีสิว แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณร่องจมูกหรือร่องแก้ม
  • ห้ามทายานี้หากผู้ป่วยมีแผลเปิด ผิวหนังไหม้แดด ผิวแห้งกร้าน ผิวแตกหรือระคายเคือง
  • ควรระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตา จมูก หรือปาก  
  • อาจใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังขณะใช้ยา แต่ควรหลีกเลี่ยงครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี และกรดไกลโคลิกด้วย
  • ผู้ป่วยอาจใช้ยาเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ก่อนอาการจะดีขึ้น ทั้งนี้ การใช้ยาครั้งแรกอาจทำให้อาการแย่ลงเป็นเวลาสั้น ๆ แต่ควรใช้ยาอีกระยะ หากอาการที่ผิวหนังไม่ดีขึ้นภายใน 8-12 สัปดาห์ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ใช้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ช่วงเวลาในการใช้ยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากใช้ยามากเกินไป ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดรอยแดงที่ผิวหนัง ผิวหนังลอก หรือเกิดอาการระคายเคืองได้
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็ก และห้ามแช่แข็งยานี้ รวมถึงควรปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Adapalene

โดยปกติ ยา Adapalene มักทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้ง แดง ลอก หรือรู้สึกแสบผิวเล็กน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีอาการแพ้ยาอย่างลมพิษ คัน เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และมีอาการบวม โดยเฉพาะที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Adapalene บางอย่างอาจเกิดขึ้นภายใน 4 สัปดาห์แรก และมักจะหายไปเมื่อใช้ยาอย่างต่อเนื่อง แต่หากพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • สิว
  • สิวอักเสบ
  • สิวอุดตัน