Drug name: azithromycin

Description:

อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)

อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)

Share:

Azithromycin (อะซิโธรมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) ที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองในแท้และหนองในเทียม โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้รักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ด้วยตามดุลยพินิจ

เกี่ยวกับยา Azithromycin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด และยาหยอดตา

คำเตือนในการใช้ยา Azithromycin

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Azithromycin ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และยาเทลิโทรมัยซิน (Telithromycin) ไม่ควรใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายต่าง ๆ ก่อนใช้ยา โดยเฉพาะคนที่มีประวัติเป็นโรคตับหรือภาวะดีซ่านจากการใช้ยาปฏิชีวินะชนิดอื่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) มีภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
  • ผู้ที่ใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาโรคหนองในแท้ (Gonorrhea) ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น
  • ไม่ควรรับประทานยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมและแมงกานีส ในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังรับประทานยา Azithromycin เพราะยาลดกรดจะไปลดประสิทธิภาพการทำงานของยา Azithromycin 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้
  • ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เพราะยามักถูกขับออกไปที่นมมารดาและสามารถส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • ผู้สูงอายุและเด็กที่ต้องใช้ยานี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดและควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไปในระหว่างที่ใช้ยา เพราะตัวยาอาจทำให้ผิวไวต่อแสงและผิวไหม้จากแสงแดดได้

ปริมาณการใช้ยา Azithromycin

ปริมาณการใช้ยา Azithromycin จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย จุดประสงค์การรักษา และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

โรคปอดอักเสบชุมชน (Community-Acquired Pneumonia)
ตัวอย่างการใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาโรคปอดอักเสบชุมชน ได้แก่

ผู้ใหญ่ สำหรับยาชนิดฉีด แพทย์จะให้ยาทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน โดยยาที่มีความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร จะให้ยาภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง หรือยาที่มีความเข้มข้น 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร จะปรับเวลาให้ยาเป็น 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะปรับเป็นยาชนิดรับประทานแทน โดยให้รับประทานในปริมาณ 500 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 7–10 วัน

ส่วนกรณีที่ใช้ยาชนิดรับประทาน แพทย์อาจเลือกเป็นชนิดออกฤทธิ์ทันทีหรือชนิดออกฤทธิ์นาน ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน หากเป็นชนิดออกฤทธิ์ทันที ให้รับประทานในปริมาณ 500 มิลลิกรัมในวันแรก และปรับเป็น 250 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 วัน หากเป็นยารับประทานชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานในปริมาณ 2 กรัม เพียงครั้งเดียว

เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป แพทย์จะให้ยาชนิดรับประทาน ซึ่งอาจเป็นชนิดออกฤทธิ์ทันทีหรือชนิดออกฤทธิ์นาน หากเป็นชนิดออกฤทธิ์ทันที ให้รับประทานในปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียวในวันแรก และปรับเป็น 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ติดต่อกัน 4 วัน หากเป็นยารับประทานชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานในปริมาณ 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ ปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกินวันละ 2 กรัม

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ได้แก่

ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกจะให้ยาทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 500 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 1–2 วัน โดยยาที่มีความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร จะให้ยาภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง หรือยาที่มีความเข้มข้น 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร จะให้ยาภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นจะปรับเป็นยาชนิดรับประทานแทน โดยให้รับประทานในปริมาณ 250 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 7 วัน

เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
ตัวอย่างการใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาภาวะเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่

เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ กรณีที่ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 1% ให้หยอดตาข้างที่มีอาการวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 หยด เป็นระยะเวลา 2 วัน และปรับเป็นวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 หยด เป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งระยะห่างในการหยอดตาแต่ละครั้งควรห่างกันประมาณ 8–12 ชั่วโมง กรณีที่ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 1.5% ให้หยอดตาไปในกระพุ้งตา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละ 1 หยด เป็นระยะเวลา 3 วัน

แผลริมอ่อน หรือการติดเชื้อเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) ที่อวัยวะเพศ
ตัวอย่างการใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาแผลริมอ่อน หรือการติดเชื้อเชื้อคลาไมเดียที่อวัยวะเพศ ได้แก่

ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาในปริมาณ 1 กรัม ในครั้งเดียว

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
ตัวอย่างการใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาภาวะหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ในช่วงแรกให้รับประทานยาน้ำแขวนตะกอนชนิดออกฤทธิ์ทันทีในปริมาณ 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว หรือ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 วัน หรือ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว จากนั้นปรับปริมาณเป็น 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4 วัน

โรคหนองในชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ตัวอย่างการใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาโรคหนองในชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาในปริมาณ 1 หรือ 2 กรัม เพียงครั้งเดียวร่วมกับยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 

ภาวะคออักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยา Azithromycin เพื่อรักษาภาวะคออักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ ได้แก่

เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาชนิดออกฤทธิ์ทันทีในปริมาณ 12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 5 วัน

การใช้ยา Azithromycin

ผู้ที่ใช้ยา Azithromycin ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยกว่าที่แพทย์กำหนด และไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ผู้ที่ใช้ยาชนิดรับประทานเป็นแคปซูลหรือยาแขวนตะกอนชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานยาในขณะท้องว่าง หรือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหารหรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร 

หากเป็นยาเม็ดหรือยาแขวนตะกอนชนิดออกฤทธิ์ทันที สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร กรณีที่รับประทานยาแล้วรู้สึกระคายเคืองกระเพาะอาหาร ให้รับประทานหลังอาหารแทน นอกจากนี้ ยาแขวนตะกอนควรเขย่าขวดก่อนรับประทานยาทุกครั้ง เพื่อให้ตัวยาผสมเข้ากันดีก่อนรับประทาน และให้ใช้อุปกรณ์สำหรับตวงยาเสมอ เพื่อป้องกันการรับประทานยาเกินหรือต่ำกว่าปริมาณที่แพทย์กำหนด

หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หากลืมรับประทานยาใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนมื้อที่ขาดหายไป และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ

ในระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเลือดและตรวจการทำงานของตับเพื่อติดตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อนและความชื้น

ปฏิกิริยาระหว่างยา Azithromycin กับยาอื่น

ผู้ที่ต้องใช้ยา Azithromycin ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อน หากกำลังใช้ยาชนิดใด ๆ หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อยู่ โดยเฉพาะยารักษาโรคหัวใจ ยาแก้แพ้ ยาที่แพทย์ให้หลังจากปลูกถ่ายอวัยวะ และยาละลายลิ่มเลือด 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Azithromycin

ผู้ที่ใช้ยา Azithromycin อาจเกิดผลข้างเคียงบางอย่างจากการใช้ยาได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เบื่ออาหาร กระบวนการรับรู้รสเปลี่ยนไป และรู้สึกชาตามผิวหนัง ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่มีความรุนแรง เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้น หรือเกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก และลำคอ
  • อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นขึ้น เกิดแผลพุพอง ผิวลอก 
  • สัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ เจ็บคอ หนาวสั่น
  • ปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้องส่วนบน คันตามร่างกาย ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีดำ หรือผิวและดวงตาเป็นสีเหลือง
  • อาการอื่น ๆ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เกิดรอยช้ำง่าย หัวใจเต้นเร็ว ถ่ายเป็นน้ำหรือปนเลือด

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • โรคแอคติโนมัยโคซิส (Actinomycosis)