Drug name: แคลซิไทรออล-calcitriol

Description:

แคลซิไทรออล (Calcitriol)

แคลซิไทรออล (Calcitriol)

Share:

Calcitriol (แคลซิไทรออล) เป็นวิตามินดีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งวิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากอาหารและอาหารเสริม และช่วยปรับร่างกายให้ผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) ในปริมาณที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไตวาย 

แพทย์มักใช้ยา Calcitriol รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติจากภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือภาวะความผิดปกติของกระดูกในโรคไตวายเรื้อรัง (Renal Osteodystrophy) นอกจากนี้อาจนำมาใช้รักษาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

เกี่ยวกับยา Calcitriol

กลุ่มยา ยากลุ่มวิตามินดี (Vitamin D Analogs)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติจากภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์และภาวะความผิดปกติของกระดูกในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด ยาทาเฉพาะที่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ และไม่มีการศึกษามากเพียงพอในผู้ที่กำลังให้นมบุตร ดังนั้น สตรีมีครรภ์หรือกำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

คำเตือนในการใช้ยา Calcitriol

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา Calcitriol ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Calcitriol หรือวิตามินดี รวมถึงยาและสารอื่น ๆ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ เช่น โรคไต นิ่วในไต อยู่ระหว่างการรักษาด้วยการฟอกไต โรคหัวใจ หรือภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของวิตามินดี ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) หรือแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่กินอยู่ก่อนแล้ว 
  • ห้ามใช้ยา Calcitriol หากผู้ป่วยมีภาวะวิตามินดีในเลือดสูงหรือแคลเซียมในเลือดสูง
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาระบายหรือยาลดกรดที่ประกอบด้วยแมกนีเซียม เพราะการใช้ร่วมกันกับยา Calcitriol อาจทำให้ระดับแมกนีเซียมในเลือดเพิ่มขึ้นจนเป็นอันตราย เกิดความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดปกติได้
  • แจ้งให้แพทย์หากกำลังวางแผนการตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
  • ไม่ควรให้นมบุตรในระหว่างการใช้ยา Calcitriol
  • ห้ามให้เด็กใช้ยา Calcitriol โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Calcitriol

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Calcitriol ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

Calcitriol รูปแบบยาฉีด

ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงชนิดทุติยภูมิในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

ตัวอย่างการใช้ยา Calcitriol รูปแบบยาฉีด เพื่อรักษาภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงระยะทุติยภูมิในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ 

ผู้ใหญ่ เริ่มต้นฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 1–2 ไมโครกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์ ก่อนจะปรับเป็น 0.5–4 ไมโครกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์ และอาจเพิ่มปริมาณยาประมาณ 0.5–1 ไมโครกรัม โดยเว้นระยะห่าง 2–4 สัปดาห์ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ผู้สูงอายุ เริ่มใช้ยาฉีดในปริมาณต่ำสุด

Calcitriol รูปแบบยารับประทาน

ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงชนิดทุติยภูมิในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

ตัวอย่างการใช้ยา Calcitriol รูปแบบยารับประทาน เพื่อรักษาภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงระยะทุติยภูมิในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระดับปานกลางหรือระดับรุนแรง

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 0.25 ไมโครกรัม 1 ครั้ง/วัน และอาจปรับปริมาณยาเป็น 0.5 ไมโครกรัม 1 ครั้ง/วัน ตามดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ 

ตัวอย่างการใช้ยา Calcitriol รูปแบบยารับประทาน เพื่อรักษาภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนพาราไทรอยด์ หรือภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำหลังการผ่าตัด

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 0.25 ไมโครกรัม 1 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้า และอาจเพิ่มปริมาณยาในช่วง 2–4 สัปดาห์ตามดุลยพินิจของแพทย์ 

ภาวะความผิดปกติของกระดูกในโรคไตวายเรื้อรัง 

ตัวอย่างการใช้ยา Calcitriol รูปแบบยารับประทาน เพื่อรักษาภาวะความผิดปกติของกระดูกในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 0.25 ไมโครกรัม 1 ครั้ง/วันหรือวันเว้นวัน และอาจเพิ่มปริมาณยาอีก 0.25 ในช่วง 2–4 สัปดาห์ โดยปริมาณยาจะปรับเพิ่มหรือลดลงตามดุลยพินิจของแพทย์

Calcitriol รูปแบบยาทา

โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque Psoriasis)

ตัวอย่างการใช้ยา Calcitriol รูปแบบยาทา เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา

เด็กอายุ 2–6 ปี ทายาบริเวณที่มีอาการ 2 ครั้ง/วัน แบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย และห้ามใช้ยาเกิน 100 กรัม/สัปดาห์

เด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ทายาบริเวณที่มีอาการ 2 ครั้ง/วัน แบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย และห้ามใช้ยาเกิน 200 กรัม/สัปดาห์ 

การใช้ยา Calcitriol

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Calcitriol ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ ไม่รับประทานอาหารเสริมอื่น ๆ นอกเหนือจากคำแนะนำของแพทย์ และใช้ยาตามฉลากและคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดตามชนิดของยา อาทิ

  • ยา Calcitriol ชนิดเม็ด ให้รับประทานพร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ 
  • ยา Calcitriol ชนิดน้ำ ให้ตวงยาด้วยช้อนตวงยาเท่านั้น ห้ามใช้ช้อนทั่วไป เพราะอาจทำให้ได้รับยามากหรือน้อยกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง
  • ยา Calcitriol ชนิดทา ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการใช้ยา

ในระหว่างการใช้ยา ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยให้รับประทานแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และผู้ป่วยโรตไตอาจต้องรับประทานอาหารที่มีฟอสเฟตน้อยตามคำแนะนำของแพทย์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะยา Calcitriol อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ไตวายหรือภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายได้

อีกทั้งยังควรเว้นระยะห่างการใช้ยาบางชนิดกับยา Calcitriol ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (Bile Acid Sequestrants) ที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างกับการใช้ยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เนื่องจากยาในกลุ่มดังกล่าวอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยา Calcitriol ได้น้อยลง 

ในกรณีที่ลืมใช้ยา ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า หากใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดและมีอาการปากแห้ง อ่อนเพลีย ปวดหัว กระหายน้ำ เหนื่อยง่าย ปวดตามกล้ามเนื้อหรือกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย น้ำหนักลด หรือรู้สึกเจ็บเมื่อปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

การเก็บยา Calcitriol ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด และควรเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและปิดฝาให้สนิทหลังการใช้งาน 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Calcitriol  

ยา Calcitriol อาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปากแห้ง รู้สึกขมในปาก เบื่ออาหาร ท้องเสียหรือท้องผูก ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ควรไปพบแพทย์ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและแจ้งให้แพทย์ทราบโดยด่วนหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น  

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เกิดผื่นลมพิษ หรือหายใจลำบาก เป็นต้น
  • ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ผิวลอก เป็นรอยแดงหรือมีแผลพุพอง
  • ชัก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
  • มีอาการของภาวะแคลเซียมต่ำผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการชา เสียวแปลบหรือกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยเฉพาะในบริเวณปาก นิ้วมือหรือนิ้วเท้า
  • มีอาการของภาวะแคลเซียมสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการมึนงง กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเหนื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือปวดกระดูก
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ อาทิ รู้สึกร้อน กระหายน้ำอย่างรุนแรง เหงื่อออกมาก ผิวแห้ง หรือผิวร้อนเมื่อสัมผัส และปัสสาวะน้อยกว่าปกติ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ไตวาย