Drug name: Estrogen

Description:

Estrogen (เอสโตรเจน)

Estrogen (เอสโตรเจน)

Share:

Estrogen (เอสโตรเจน) คือฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นเองโดยธรรมชาติ มีหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง แต่เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายของผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้น้อยลง ในวัยหมดประจำเดือน ระดับ Estrogen ที่ไม่เพียงพอจะส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากผิดปกติ หนาวสั่น เป็นลม หรือวิงเวียนศีรษะได้ง่าย ดังนั้น แพทย์จึงอาจแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวใช้ Estrogen สังเคราะห์เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนดังกล่าวให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

นอกจากนี้ แพทย์อาจนำฮอร์โมน Estrogen มาใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะช่องคลอดแห้ง การติดเชื้อในช่องคลอด ปัญหาเกี่ยวกับรังไข่ โรคมะเร็งเต้านมทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมทั้งใช้สำหรับป้องกันโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

เกี่ยวกับ Estrogen

กลุ่มยา ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด ยาทา และแผ่นแปะคุมกำเนิด

คำเตือนการใช้ Estrogen

  • แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยานี้ ส่วนประกอบใด ๆ ในยา หรือยาแอสไพริน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากป่วยเป็นโรคตับขั้นรุนแรง มะเร็งเต้านม หลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคหืด ปวดศีรษะไมเกรน ชัก มีระดับแคลเซียมผิดปกติ หรือมีเนื้องอกเนื่องจากการใช้ฮอร์โมนชนิดนี้
  • ก่อนใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา อาหารเสริม และสมุนไพรชนิดใดก็ตามที่กำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับฮอร์โมนเอสโตรเจนและก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลงได้
  • ผู้ที่เคยเป็นดีซ่านระหว่างการตั้งครรภ์หรือระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร และหากเกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพราะยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้
  • เด็กวัยเจริญพันธ์ุควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้โดยไม่จำเป็น เนื่องจากตัวยาอาจไปยับยั้งการเจริญเติบโตของกระดูก หรือส่งผลให้มีพัฒนาการทางเพศผิดปกติได้
  • ผู้สูงอายุไม่ควรใช้ยานี้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งบางชนิด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ
  • หากใช้ยานี้เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานวิตามินดีหรือแคลเซียมเสริม เป็นต้น

ปริมาณการใช้ Estrogen

ชนิดรับประทาน

  • รักษาอาการร้อนวูบวาบในระดับปานกลางถึงรุนแรงในสตรีวัยหมดประจำเดือน รับประทานยา 0.45 มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณได้ไม่เกิน 1.25 มิลลิกรัม/วัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3-6 เดือน
  • รักษาภาวะปากช่องคลอดและช่องคลอดฝ่อ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ช่องคลอดหรือปากช่องคลอดแห้ง แสบ หรือมีอาการคัน รับประทานยา 0.3 มิลลิกรัม/วัน
  • รักษาภาวะรังไข่หยุดทำงานหรือการขลิบอวัยวะเพศหญิง รับประทานยา 1.25 มิลลิกรัม/วัน ในทุกรอบเดือน ปรับปริมาณยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย และคงการใช้ยาในปริมาณต่ำสุดที่เห็นผลการรักษา
  • รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบบประคับประคองอาการ รับประทานครั้งละ 1.25-2.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • ป้องกันโรคกระดูกพรุนในสตรีหมดประจำเดือน เริ่มแรกให้รับประทานยาในปริมาณ 0.3 มิลลิกรัม/วัน ทุกวันหรือทุกรอบเดือน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ส่วนการปรับปริมาณยานั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของมวลกระดูกและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย จากนั้นปรับลดเป็นปริมาณยาต่ำสุดที่เห็นผลการรักษา
  • รักษาภาวะฮอร์โมนเพศหญิงต่ำ รับประทาน 0.3-0.625 มิลลิกรัม/วัน ในทุกรอบเดือน อาจปรับปริมาณยาได้ในช่วง 6-12 เดือน ใช้ร่วมกับฮอร์โมนโพรเกสตินเพื่อคงระดับความหนาแน่นของมวลกระดูกเมื่อโครงสร้างของกระดูกสมบูรณ์

ชนิดฉีด

  • รักษาภาวะมีเลือดออกในมดลูกผิดปกติ ให้ยาทางหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อในปริมาณ 25 มิลลิกรัม สามารถให้ซ้ำได้ใน 6-12 ชั่วโมง หากจำเป็น หลังการรักษาควรให้ผู้ป่วยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำร่วมด้วย

การใช้ Estrogen

  • ใช้ยาภายใต้คำสั่งแพทย์หรือเภสัชกร และปฏิบัติตามคำแนะนำบนเอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • รับประทานยาได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร แต่แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานหลังอาหารเพื่อป้องกันอาการท้องไส้ปั่นป่วน
  • หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์เร็ว ไม่ควรหัก เคี้ยว หรือละลายยาก่อนรับประทาน เพราะเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้น
  • รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและรับประทานให้ตรงเวลา เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
  • ห้ามเพิ่มปริมาณยาหรือรับประทานยาบ่อยขึ้นโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรปรึกษาแพทย์
  • ควรเก็บยาให้มิดชิดในอุณหภูมิห้อง ห่างจากความร้อน ความชื้น และเก็บให้พ้นจากมือเด็ก

ผลข้างเคียงจากการใช้ Estrogen

การใช้ฮอร์โมน Estrogen อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่อันตราย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นหรือมีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน

  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
  • แสบร้อนกลางอก
  • ผมร่วงหรือมีขนขึ้นตามร่างกายผิดปกติ
  • มีจุดสีดำขึ้นบนใบหน้า
  • มีปัญหาในการใส่คอนแทคเลนส์
  • แสบร้อนหรือรู้สึกชาคล้ายมีเข็มทิ่มที่แขนและขา
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งและเป็นตะคริวที่ขา
  • วิตกกังวล ซึมเศร้า
  • มีความเปลี่ยนแปลงทางความต้องการทางเพศ

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น บวมที่ใบหน้า ดวงตา คอ ลิ้น มือ และเท้า หายใจลำบาก กลืนลำบาก มีผื่น ลมพิษ หรือตุ่มน้ำขึ้นตามผิวหนัง  
  • วิงเวียนศีรษะหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ตาโปน
  • ตามัวอย่างเฉียบพลัน
  • เสียงแหบผิดปกติ
  • อาการของการติดเชื้อ เช่น ไอ เจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น เป็นต้น
  • คลำเจอก้อนผิดปกติที่หน้าอก
  • เจ็บหน้าอก ร้าวไปถึงบริเวณไหล่ แขน หรือกราม
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • ปวดท้อง มีอาการกดเจ็บที่ท้อง
  • ไม่อยากอาหาร
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • ผิวหนังและตามีสีเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • อ่อนแรงผิดปกติหรือมีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • ปวดตามข้อ
  • มีอาการบวมที่แขนและขา
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
  • ตกขาวมีลักษณะผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ การใช้ยานี้ในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม และเกิดปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีได้ ส่วนเด็กที่ใช้ยานี้อาจมีการเจริญเติบโตช้าหรือหยุดเจริญเติบโตก่อนวัยอันควร และอาจเร่งให้มีพัฒนาการของระบบสืบพันธ์ุเร็วกว่าปกติ

 

 

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กระดูกสะโพกหัก
  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (PWS)