Drug name: norepinephrine-นอร์อิพิเนฟริน

Description:

Norepinephrine (นอร์อิพิเนฟริน)

Norepinephrine (นอร์อิพิเนฟริน)

Share:

Norepinephrine (นอร์อิพิเนฟริน) เป็นยาที่มีลักษณะคล้ายกันกับอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นได้เอง มีฤทธิ์ช่วยหดหลอดเลือด เพิ่มความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด ทางการแพทย์จึงสังเคราะห์ฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นเพื่อนำมาใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Norepinephrine มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Norepinephrine

กลุ่มยา ยากระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ภาวะความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Norepinephrine

  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ มีการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ เส้นเลือดขอด ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหืด หรือมีอาการแพ้สารในกลุ่มซัลไฟต์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาชนิดอื่น วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ ก็ตาม เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้ โดยเฉพาะยารักษาความดันโลหิต และยารักษาภาวะซึมเศร้า เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาลีเนโซลิด ยาอะมิทริปไทลีน ยาเมทิลีน บลู เป็นต้น
  • ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่ากำลังใช้ยานีี้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Norepinephrine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ภาวะความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน

ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 8-12 ไมโครกรัม/นาที หรืออาจเพิ่มปริมาณถึง 8-30 ไมโครกรัม/นาที ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะช็อก โดยการหยดยาจะใช้ยาสารละลายปริมาณ 4 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ในกลูโคสความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ หรือผสมด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ความเข้มข้น 0.9 เปอร์เซ็นต์และกลูโคส 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราความเร็ว 2-3 มิลลิลิตร/นาที การปรับปริมาณยาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของระดับความดันโลหิตของผู้ป่วย จากนั้นหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำโดยคงปริมาณยาที่ 0.5-1 มิลลิลิตร/นาที (2-4 ไมโครกรัม/นาที) โดยใช้สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลางหรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำขนาดใหญ่
เด็ก หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำด้วยอัตราความเร็ว 2 ไมโครกรัม/นาที หรืออาจหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 2 ไมโครกรัม/ตารางเมตร/นาที การปรับปริมาณยาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยและการกระจายตัวของยา
ผู้สูงอายุ ควรหยดยาปริมาณเริ่มต้นเข้าทางหลอดเลือดดำในระดับต่ำที่สุด

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ

ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 0.01-3 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

หัวใจหยุดเต้น

ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในปริมาณเริ่มต้น 8-12 ไมโครกรัม/นาที  และหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 2-4 ไมโครกรัม/นาที เพื่อควบคุมอาการ ให้ยาจนกว่าความดันโลหิตจะอยู่ในระดับพอเหมาะและมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายอย่างทั่วถึง

การใช้ยา Norepinephrine

  • ยา Norepinephrinee ใช้โดยการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับยานี้ที่โรงพยาบาล ระยะเวลาในการให้ยามักขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย บางรายอาจต้องใช้ยานี้เป็นเวลาหลายวัน
  • ระหว่างที่ใช้ยา Norepinephrine แพทย์หรือพยาบาลจะสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เช่น ตรวจดูความดันโลหิต การหายใจ และสัญญาณอันตรายอื่น ๆ
  • ระหว่างที่ได้รับยา หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บ ระคายเคือง หนาว หรือรู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะยานี้อาจทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดยาได้รับความเสียหายได้
  • หากสงสัยว่าตนเองได้รับยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ซึ่งอาจมีอาการบ่งบอก เช่น หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ปวดศีรษะรุนแรง เหงื่อออก อาเจียน ไวต่อแสง ผิวซีด และเจ็บหน้าอก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ห้ามใช้ยาหากยามีสีเปลี่ยนไปจากปกติหรือตกตะกอน
  • ควรเก็บยาไว้ในภาชนะปิดมิดชิด ที่อุณหภูมิห้อง และพ้นจากแสงแดด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Norepinephrine

การใช้ยา Norepinephrine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหรือขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันทีหากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ มีปัญหาในการหายใจ หน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม เป็นต้น
  • ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยามีสีหรือลักษณะเปลี่ยนแปลงไป มีอาการแสบ ระคายเคือง หรือเจ็บ
  • ชา อ่อนแรง หรือรู้สึกเย็นตามร่างกายอย่างเฉียบพลัน
  • หัวใจเต้นช้าผิดปกติหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • ริมฝีปากหรือเล็บมือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ผิวหนังลาย
  • ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะ
  • มีปัญหาในการหายใจ การมองเห็น การพูด หรือการทรงตัว
  • มีภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มองเห็นไม่ชัด ได้ยินเสียงดังในหู สับสัน วิตกกังวล เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นผิดปกติ หรือชัก

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • การป้องกันโรคความดันสูง
  • การรักษาโรคความดันสูง
  • การวินิจฉัยโรคความดันสูง