Drug name: penicillin

Description:

Penicillin (เพนิซิลลิน)

Penicillin (เพนิซิลลิน)

Share:

Penicillin (เพนิซิลลิน) คือยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังเป็นยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน เดิมทียานี้ได้มาจากเชื้อราเพนิซิลเลียม  (Penicillium) นับแต่นั้นก็มียา Penicillin ตัวอื่นพัฒนาขึ้นมา เช่น Penicillin G (เพนิซิลลิน จี) หรือ Penicillin V (เพนิซิลลิน วี) ส่วนยาปฏิชีวนะอื่นที่มีส่วนผสมของ Penicillin ได้แก่ อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) แอมพิซิลลิน (Ampicillin) ฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucolxacillin) ซึ่งจัดเป็นยาเพนิซิลลินกึ่งสังเคราะห์ Penicillin แต่ละชนิดไม่สามารถใช้รักษาอาการป่วยแทนกันได้ นอกจากนี้ Penicillin บางชนิดอาจใช้รักษาอาการป่วยหรือภาวะที่นอกเหนือไปจากข้อความสรรพคุณที่ระบุบนฉลากยา ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม Penicillin ไม่สามารถใช้รักษาอาการเป็นไข้ โรคหวัด หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

กลุ่มยา Penicillin สามารถแบ่งชนิดได้ ดังนี้

  • อะมิโนเพนิซิลลิน (Aminopenicillins) คือกลุ่มยาเพนนิซิลินที่มีโครงสร้างของเบต้าแลคแตม (Beta-Lactam) มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย โดยมีฤทธิ์เหมือน Penicillin แต่มีสรรพคุณครอบคลุมเชื้อได้มากกว่า อะมิโนเพนิซิลลินสามารถรักษาการติดเชื้อของแบคทีเรียชนิดแกรมบวกและแกรมลบ เช่น เชื้ออีโคไล (Escherichia Coli, E. Coli) หรือเชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ (Haemophilus Influenzae) ใช้รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ผิวหนังอักเสบ และอื่น ๆ ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) แอมพิซิลลิน (Ampicillin)
  • แอนตี้ซูโดโมนอล เพนิซิลลิน (Antipsudo Penicillins) คือยาต้านจุลชีพที่มีสรรพคุณใช้รักษาการติดเชื้อซูโดโมนาส โดยยานี้มีฤทธิ์ในการรรักษาเหมือนเพนิซิลินและอะมิโนเพนิซิลลิน รวมทั้งต้านเชื้อซูโดโมนาส (Pseudomanas) เอนทีโรค็อกคัส (Enterococcus) และเคลบซิลลา (Klebsiella)  ยา Penicillin ชนิดนี้ เช่น ยาพิเพอราซิลลิน (Piperacillin)
  • สารยับยั้งเบต้าแลคแทม (Beta-Lactamase Inhibitors) คือยาที่มีเบต้าแลคแทมเป็นส่วนประกอบ ใช้ยับยั้งการสังเคราะห์ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย รวมทั้งมีส่วนผสมของสารที่ช่วยกำจัดการสร้างเอนไซม์เบต้าแลคแทมเมส เนื่องจากแบคทีเรียบางสายพันธุ์จะสร้างเอนไซม์เบต้าแลคแทมเมสขึ้นมาต้านยาฆ่าเชื้อ ทำให้เกิดอาการดื้อยา การใช้ยาปฏิชีวนะให้ได้ผลและเลี่ยงอาการดื้อยานั้น จึงมักใช้คู่กับสารยับยั้งเบต้าแลคแทมเมสเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เบต้าแลคแทมเมส นับเป็นสรรพคุณที่นอกเหนือไปจากใช้ฆ่าแบคทีเรีย โดยยาที่มีสารยับยั้งเบต้าแลคแทมเมส ได้แก่ อะม็อกซี่ซิลลินผสมคลาวูลาเนท (Clavulanate) พิเพอราลินผสมทาโซแบคแทม (Tazobactam) และแอมพิซิลลินผสมซุลแบคแทม (Sulbactam)
  • Penicillin ที่ได้จากธรรมชาติ (Natural Penicillins) คือยาปฏิชีวนะตัวแรกที่ใช้ในทางการแพทย์ โดยยานี้มีส่วนประกอบหลักมาจากโครงสร้างเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ซึ่งใช้ยับยั้งการสังเคราะห์ผนังเซลล์ของแบคทีเรียและกำจัดแบคทีเรีย ยาชนิดนี้ใช้ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกและแกรมลบได้ Pencillin ที่ได้จากธรรมชาติ ประกอบด้วย Pencillin G  (เพนิซิลลิน จี) Penicillin V (เพนิซิลลิน วี) โปรเคนเพนิซิลลลิน (Procaine Penicillin) และเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G)
  • Penicillin ที่ทนการถูกทำลายของเพนนิซิลลิเนส (Penicillinase Resistant Penicillins) คือยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกเอนไซม์เพนิซิลลิเนสทำลาย แบคทีเรียบางอย่างจะผลิตเอนไซม์เพนิซิลลิเนสขึ้นมาทำลายเบต้าแลคแทมในยาปฏิชีวนะ ทำให้ตัวยาใช้ไม่ได้ผล ยานี้จะใช้รักษาการดื้อยาของเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococci) และการติดเชื้ออื่น ๆ ยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น คลอกซาซิลลิน (Cloxacillin) ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) ออกซาซิลลิน (Oxacillin) หรือเมธิซิลลิน (Methicillin)

เกี่ยวกับยา Penicillin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย ทารก เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานและยาสำหรับฉีด (ขึ้นอยู่กับชนิดของยา)

คำเตือนการใช้ยา Penicillin

  • ผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดของ Penicillin คือเกิดภาวะภูมิแพ้ ซึ่งอาจเกิดผื่นหรือเกิดอาการแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่แพ้ยา Penicillin ตัวใดตัวหนึ่งจะเกิดอาการแพ้ยา Penicillin ตัวอื่นทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่แพ้ยา Penicillin ร้อยละ 5-10 อาจเกิดอาการแพ้ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) ร่วมด้วย
  • สตรีที่ให้นมบุตรและใช้ยานี้อาจทำให้ทารกท้องร่วง ติดเชื้อจากเชื้อรา และผื่นขึ้น เนื่องจากบุตรได้รับสารจากตัวยาซึ่งซึมอยู่ในน้ำนมมารดา
  • ยา Penicillin อาจส่งผลต่อการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำให้ผลตรวจที่ออกมาคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่รับประทานเป็นประจำและควรปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือปริมาณการใช้ยารักษาเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคไตหรือตับสามารถใช้ยา Penicillin ได้อย่างปลอดภัย แต่จำเป็นต้องได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสม
  • ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานหรือผู้ป่วยที่ใช้ยาลดอาการอักเสบ ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาโปรเบเนสิด (Probenecid) ควรใช้ยา Penicillin อย่างระมัดระวัง โดยตัวยาของยาลดอาการอักเสบและ Penicillin อาจทำปฎิกิริยากัน ทำให้ระดับยาเพนิซิลินสูงขึ้นกว่าปกติเกิดเป็นพิษต่อร่างกายได้ ส่วนผู้ที่รับประทานยาคุมอาจใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เนื่องจากยา Penicillin จะลดประสิทธิภาพของยาคุม
  • Penicillin แต่ละชนิดจะปรากฏผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือข้อบ่งชี้ในการใช้ยาก่อนทุกครั้ง

ปริมาณการใช้ยา Penicillin

ปริมาณการใช้ยา Penicillin แต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการใช้ยาหรือตามที่ระบุไว้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ จำนวนหรือปริมาณยาที่ผู้ป่วยใช้ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของตัวยา ส่วนจำนวนยาที่ใช้ในแต่ละวัน ระยะห่างในการใช้ยา และระยะเวลาในการใช้ยานั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย

การใช้ยา Penicillin

ส่วนใหญ่แล้ว การรับประทานยา Penicillin หลังมื้ออาหารจะช่วยให้ดูดซึมได้ดี นอกจากนี้  ยา Penicillin บางตัวรับประทานตอนท้องว่างจะดูดซึมได้ดีกว่า โดยรับประทานยาก่อนอาหารครึ่งถึง 1 ชั่วโมง ตามที่แพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาแนะนำ สำหรับผู้ที่รับประทานยา Penicillin G ไม่ควรดื่มน้ำส้ม น้ำองุ่น หรือน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีกรดภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาเข้าไป เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวจะลดประสิทธิภาพของยา ส่วนผู้ที่รับประทานอะม็อกซี่ซิลลินแบบน้ำ สามารถผสมกับนม น้ำผลไม้ น้ำขิงแดง หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ เพื่อดื่มได้ และควรดื่มให้หมดทันที

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาหรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ยา Penicillin บางชนิด มีรายละเอียดการใช้ยา ดังนี้

  • อะมิโนเพนิซิลลิน (Aminopenicillins) ยาในกลุ่มนี้ไม่ถูกกรดไฮโดรไลซิส (Acid Hydrolysis) ทำลาย จึงสามารถรับประทานได้ อย่างไรก็ดี ยาชนิดนี้อาจเกิดกรดดังกล่าวที่มาจากเบต้าแลคแทม  ผู้ป่วยจึงควรรับประทานควบคู่กับสารยับยั้งเบต้าแลคแทม
  • แอนตี้ซูโดโมนอล เพนิซิลลิน (Antipsudomonal Penicillins) ผู้ป่วยมักรับประทานยานี้ร่วมกับสารยับยั้งเบต้าแลคแทม เนื่องจากตัวยาอาจเกิดกรดไฮโดรไลซิสที่มาจากเบต้าแลคแทมเช่นเดียวกับ Penicillin ตัวอื่น ซึ่งส่งผลให้เชื้อสแตฟิค็อกคัส แบคทีเรียชนิดแกรมลบบางตัว และเบต้าแลคแทมที่ผลิตแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ไม่ถูกต่อต้านอย่างต่อเนื่อง
  • สารยับยั้งเบต้าแลคแทม (Beta-Lactamase Inhibitors) Penicillin ชนิดนี้มักใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะที่มีเบต้าแลคแทมตัวอื่น ๆ เพื่อช่วยยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวไม่ให้ทำลายประสิทธิภาพของยาจนนำไปสู่การดื้อยา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ครบเพื่อรักษาอาการของโรคให้หายขาด ไม่ควรหยุดรับประทานยาแม้อาการจะดีขึ้นมาได้ 2-3 วันก็ตาม ผู้ที่ได้รับเชื้อเสตรป (Strep) ควรรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 7-10 วัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจภายหลังหากไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด และหากหยุดการใช้ยาเร็วเกินไป อาการของโรคก็อาจกลับมากำเริบได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Penicillin

แม้ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Penicillin อาจไม่ได้เกิดขึ้นครบทุกอาการ แต่หากผู้ป่วยเกิดอาการใดอาการหนึ่ง ควรไปพบแพทย์ทันที โดยสามารถแบ่งตามระดับความผิดปกติของอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • อาการของผลข้างเคียงที่ผิดปกติ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที หากเกิดอาการต่อไปนี้
    • หายใจเร็ว
    • มีไข้
    • เจ็บที่ข้อต่อ
    • เวียนศีรษะและเป็นลม
    • หน้าหรือหนังตาบวม
    • ผิวแดงและเป็นขุย
    • หายใจสั้น
    • มีผื่นหรือลมพิษขึ้นบนผิวหนัง รวมทั้งเกิดอาการคันร่วมด้วย
  • อาการของผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจหายไปเองขณะที่ร่างกายปรับตัวให้เข้ากับยาที่ใช้รักษา ทั้งนี้ แพทย์จะแนะนำวิธีป้องกันหรือวิธีช่วยลดผลข้างเคียงดังกล่าว โดยผลข้างเคียงจากการใช้ Penicillin ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
    • ท้องร่วงอ่อน ๆ
    • ปวดศีรษะ
    • เป็นแผลในปากและลิ้น
    • คันช่องคลอดและมีตกขาว
    • ฝ้าขาวในปากหรือลิ้น
  • อาการของผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันทีหากเกิดอาการต่อไปนี้
    • รู้สึกปวดบีบ ๆ บริเวณท้องอย่างรุนแรง
    • รู้สึกเจ็บเหมือนถูกกดที่ท้อง
    • ชัก
    • ปัสสาวะน้อยลง
    • ถ่ายเหลวอย่างรุนแรง หรือถ่ายมีเลือดปนออกมา
    • ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า
    • คลื่นไส้และอาเจียน
    • เกิดอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา
    • เจ็บคอและเป็นไข้
    • มีเลือดออกผิดปกติหรือเกิดรอยช้ำ
    • ตาและผิวมีสีเหลือง
    • กังวลและสับสน
    • เกิดอาการทางจิต เช่น กลัวว่าตัวเองจะตาย หรือเพ้อประสาทหลอน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Buerger's Disease
  • ทอนซิลอักเสบ
  • น้ำร้อนลวก