Drug name: ด็อกเซปิน

Description:

ด็อกเซปิน

ด็อกเซปิน

Share:

Doxepin (ด็อกเซปิน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCAs) ที่ออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยปรับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยให้ดีขึ้น นอนหลับง่ายขึ้น และยังช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและความตึงเครียด โดยนำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับและอาจใช้บรรเทาอาการคันตามผิวหนัง นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย

เกี่ยวกับยา Doxepin

กลุ่มยา ยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ และโรคที่มีอาการคันตามผิวหนัง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Doxepin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ การมีเลือดออก การหายใจ หัวใจขาดเลือด ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ รวมถึงตนเองหรือคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นต้อหินชนิดมุมปิด โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท การฆ่าตัวตาย ชัก หรือภาวะที่เสี่ยงต่อการชักอีกด้วย
  • ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะไม่ควรใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยากับยา Doxepin ส่งผลให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น เช่น ง่วงซึม หรือหายใจช้า เป็นต้น
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดปกติชนิดคิวทียาวที่พบได้น้อยมาก โดยอาจส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น เวียนศีรษะอย่างรุนแรงและหมดสติได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ผู้ป่วยสูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะอาการ เช่น ปากแห้ง เวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน ปัสสาวะลำบาก และกลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดปกติชนิดคิวทียาว เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เนื่องจากอาจไม่ควรใช้ยานี้หากผู้ป่วยใช้ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอในช่วง 5 สัปดาห์ ก่อนหน้า
  • ห้ามใช้ยานี้หากผู้ป่วยใช้ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ เช่น ยาลีเนโซลิด ยาเมทิลีน บลู ยาเซเลกิลีน หรือยาทรานิลซัยโปรมีน เป็นต้น ในช่วง 14 วัน ก่อนหน้า เพราะยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทั้งที่หาซื้อมารับประทานเองและสั่งจ่ายโดยแพทย์ รวมถึงสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ด้วย
  • ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
  • แพทย์จะตรวจสอบอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มใช้ยาครั้งแรก เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีความคิดฆ่าตัวตายเมื่อเริ่มใช้ยา ทั้งนี้ ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยอยู่เสมอ
  • ไม่อนุญาตให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก และห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยาอาจทำให้ความสามารถในการคิดและการตอบสนองลดลง
  • หลีกเลี่ยงการออกแดด การใช้เครื่องอบผิวแทน หรือการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต เพราะการใช้ยานี้ทำให้ผิวไวต่อแสง รวมทั้งผู้ป่วยควรทาครีมกันแดดและสวมเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง นอกจากนี้ หากเกิดผิวไหม้ แผลพุพอง และรอยแดงที่ผิวหนัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากในระหว่างใช้ยานี้ จึงควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดและแจ้งให้แพทย์ทราบอยู่เสมอ โดยแพทย์อาจปรับปริมาณการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน และให้ผู้ป่วยออกกำลังกายหรือควมคุมอาหารเพิ่มเติม
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ป่วยที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้ยา Doxepin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคซึมเศร้า
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 75 มิลลิกรัม/วัน แล้วค่อย ๆ ปรับปริมาณตามการตอบสนองต่อยา ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงให้เพิ่มปริมาณยาเป็น 300 มิลลิกรัม/วัน หากปริมาณยาสูงถึง 100 มิลลิกรัม อาจรับประทานในเวลาก่อนนอน 1 ครั้ง หรืออาจแบ่งรับประทาน และหากรับประทานยาปริมาณ 100 มิลลิกรัมขึ้นไป ควรแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน

ผู้สูงอายุ เริ่มรับประทานยาในปริมาณน้อยและปรับปริมาณยาตามดุลยพินิจของแพทย์  

โรคนอนไม่หลับ
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคนอนไม่หลับ

ผู้ใหญ่ รับประทานยาเม็ดปริมาณ 3-6 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน ก่อนนอน 30 นาที และไม่ควรรับประทานยานี้ทั้งก่อนและหลังมื้ออาหาร 3 ชั่วโมง โดยเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ รับประทานยาเม็ดปริมาณ 3 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Doxepin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาให้ครบตามกำหนด โดยอาจต้องใช้ยานี้เป็นเวลานานถึง 3 สัปดาห์ ก่อนที่อาการจะดีขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม และห้ามหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยาได้
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ใช้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็ก รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Doxepin

โดยทั่วไป ยา Doxepin มักทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร ปากแห้ง เจ็บช่องปาก การรับรสเปลี่ยนแปลงไป หน้าอกขยายทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ความรู้สึกทางเพศเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง เป็นต้น หากอาการดังกล่าวเป็นมากขึ้น หรือไม่หายไป ควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้  ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากพบผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น และคอ เป็นต้น
  • เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ
  • มองเห็นภาพเบลอ มองเห็นภาพคล้ายมองผ่านอุโมงค์ เจ็บตา ตาบวม หรือเห็นวงรัศมีรอบดวงไฟ
  • ผื่นขึ้น ผิวหนังฟกช้ำ รู้สึกคล้ายเข็มทิ่มอย่างรุนแรง
  • ร่างกายสั่นเทา และมีอาการกระตุกที่กล้ามเนื้อดวงตา ลิ้น ขากรรไกร หรือคอ
  • สับสน มองเห็นเป็นภาพหลอน มีความคิดเปลี่ยนแปลงไป และชัก
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะออกน้อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือมีอาการใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม วิตกกังวล ตื่นตระหนก มีปัญหาในการนอนหลับ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด  กระวนกระวายใจ กระสับกระส่าย มีอาการต่อต้าน ภาวะไฮเปอร์ ซึมเศร้ามากกว่าปกติ และมีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง เป้นต้น และหากพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome)
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)