Drug name: cefdinir-เซฟดิเนียร์

Description:

Cefdinir (เซฟดิเนียร์)

Cefdinir (เซฟดิเนียร์)

Share:

Cefdinir (เซฟดิเนียร์) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อ หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Cefdinir มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Cefdinir

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอริน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Cefdinir

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ยาเพนิซิลิน รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรใด ๆ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติเป็นโรคไตหรือโรคลำไส้อักเสบ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ หากต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะยานี้อาจส่งผลให้ผลการทดสอบบางชนิดคลาดเคลื่อน
  • ห้ามใช้ยาติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้
  • หลีกเลี่ยงการรับวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อที่มีชีวิตในระหว่างใช้ยานี้ เพราะยาอาจทำให้วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพลดลง
  • การใช้ยานี้ร่วมกับผลิตภัณฑ์จากธาตุเหล็กอาจทำให้อุจจาระเปลี่ยนเป็นสีค่อนข้างแดง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้เป็นปกติ แต่หากพบว่าอุจจาระเป็นสีคล้ายเลือดควรปรึกษาแพทย์
  • ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงสูง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับบุตร

ปริมาณการใช้ยา Cefdini

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคหลอดลมอักเสบ
ผู้ใหญ่ โรคหลอดลมอักเสบกำเริบเฉียบพลัน รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5-10 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน
เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป โรคหลอดลมอักเสบกำเริบเฉียบพลัน รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5-10 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน

โรคปอดบวม
ผู้ใหญ่ โรคปอดอักเสบชุมชน (Community-Acquired Pneumonia) รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10-14 วัน
เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10-14 วัน

ไซนัสอักเสบ
ผู้ใหญ่ ไซนัสอักเสบเฉียบพลันบริเวณโหนกแก้ม รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หรือรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน
เด็กอายุ 6 เดือน-12 ปี รับประทานยาปริมาณ 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หรือรับประทานยาปริมาณ 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน

เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หรือรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน

การติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อที่ไม่ซับซ้อน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน
เด็กอายุ 6 เดือน-12 ปี รับประทานยาปริมาณ 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน

ทอนซิลอักเสบ หรือคอหอยอักเสบ
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5-10 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน
เด็กอายุ 6 เดือน-12 ปี รับประทานยาปริมาณ 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5-10 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ปี เป็นระยะเวลา 5-10 วัน หรือรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 วัน

การใช้ยา Cefdinir

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา ควรใช้ยาแต่ละครั้งในเวลาเดียวกันทุกวันและระวังไม่ให้ลืมรับประทานยา
  • รับประทานยา Cefdinir พร้อมอาหารหรือขณะท้องว่าง
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม รวมถึงยาลดกรด ยาต้านไวรัสไดดาโนซีน ยารักษาโรคกระเพาะซูคราลเฟต วิตามินรวม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม แมกนีเซียม อะลูมิเนียม สังกะสี หรือเหล็ก ในช่วง 2 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่น และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • ควรใช้ยานี้ให้ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่แพทย์กำหนด แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • หากอาการป่วยแย่ลงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยา ควรรีบไปพบแพทย์
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส และเก็บให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาที่ถูกต้องและวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cefdinir

การใช้ยา Cefdinir อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการใช้ยานี้ บางรายอาจปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ และหากมีอาการปวดท้อง ถ่ายค่อนข้างเหลว ถ่ายเป็นน้ำ หรืออุจจาระมีเลือดปน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ห้ามรักษาอาการถ่ายเหลวด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยา Cefdinir ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่น ผิวหนังคัน บวม แดง หรือมีตุ่มพุพอง ผิวลอกร่วมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ หน้าบวม ปากบวม ริมฝีปากบวม หรือคอบวม หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด แน่นหน้าอกหรือคอ เสียงแหบ เจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น
  • อาการชัก สับสน
  • เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คันหรือมีตกขาวผิดปกติ
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะน้อยลง

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • จมูกไม่ได้กลิ่น
  • ทอนซิลอักเสบ
  • ปอดบวม