Drug name: เบนซิลเบนโซเอต-benzyl-benzoate-2

Description:

เบนซิลเบนโซเอต (Benzyl Benzoate)

เบนซิลเบนโซเอต (Benzyl Benzoate)

Share:

Benzyl Benzoate (เบนซิลเบนโซเอต) เป็นยารักษาหิด เหา และโลน ซึ่งตัวหิดเป็นไรชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการคันและตุ่มที่ผิวหนัง เหาเป็นแมลงขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดอาการคันตามหนังศีรษะ และโลนเป็นแมลงขนาดเล็กที่มักก่ออาการคันบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณที่มีขน อย่างแขน ขา หน้าอก หรือใต้รักแร้ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของตัวหิด เหา และโลน ส่งผลให้อาการต่าง ๆ ทุเลาลง

เกี่ยวกับยา Benzyl Benzoate

กลุ่มยา ยาฆ่าหิด เหา และโลนหรือยาต้านปรสิตภายนอก (Ectoparasiticides)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาหิด เหา และโลน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยาชนิดทา 
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์และทารกแรกเกิดก่อนการใช้ยา

คำเตือนในการใช้ยา Benzyl Benzoate

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Benzyl Benzoate รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจกระทบต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติทางสุขภาพ โดยเฉพาะการอักเสบที่ผิวหนังอย่างรุนแรง 
  • ผู้สูงอายุและเด็กควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลให้มีผิวแห้ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการรับประทานอาหารบางชนิดตามที่แพทย์แนะนำในระหว่างใช้ยานี้
  • คู่นอน คู่รัก หรือคนในครอบครัวอาจต้องใช้ยานี้ไปพร้อมกับผู้ป่วย เนื่องจากโรคหิด เหา และโลนอาจติดต่อไปสู่คนรอบตัวผู้ป่วยได้
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาควบคู่กับการป้องกันการแพร่กระจายและรักษาเหา โลน และหิดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ล้างหวีในน้ำร้อน ซักเสื้อผ้าและชุดเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนหรือซักแห้ง นำสิ่งของที่ซักไม่ได้ใส่ถุงพลาสติกแล้วปิดให้สนิทประมาณ 2 สัปดาห์ งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี 

ปริมาณการใช้ยา Benzyl Benzoate

ในการรักษาหิด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยา Benzyl Benzoate ความเข้มข้น 25% ในผู้ใหญ่ และเจือจางเป็นความเข้มข้น 12.5% โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ในเด็กโต หลังอาบน้ำให้ทาบาง ๆ ทั่วทั้งตัวตั้งแต่ลำคอมาถึงปลายเท้า ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมงแล้วจึงอาบน้ำให้สะอาด หากมีอาการรุนแรงให้ทำตามวิธีเดิมซ้ำ 2–3 ครั้ง   

สำหรับการรักษาเหาและโลน ให้ใช้ยา Benzyl Benzoate ความเข้มข้น 25% ในผู้ใหญ่ และเจือจางเป็นความเข้มข้น 12.5% โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ในเด็กโต ทาที่บริเวณที่มีอาการหรือทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด

การใช้ยา Benzyl Benzoate

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากหรือตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรใช้ยาในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนด เพราะยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังและเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
  • ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการทายาบริเวณดวงตาหรือเยื่อบุต่าง ๆ อย่างภายในโพรงจมูก เพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้ หากยากระเด็นเข้าตาควรล้างด้วยน้ำสะอาดทันที กรณีที่อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว 
  • ห้ามใช้ยา Benzyl Benzoate กับผิวหนังหรือหนังศีรษะที่มีแผลเปิดหรือติดเชื้อ เพราะอาจเพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายและเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากยิ่งขึ้น
  • หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจทำให้ผิวหนังแดง คัน เป็นสะเก็ด หรือมีตุ่ม ปัสสาวะลำบาก ร่างกายกระตุก หรือหมดสติกะทันหัน ซึ่งควรพาไปพบแพทย์ทันที 
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Benzyl Benzoate

ยาเบนซิลเบนโซเอตอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา ผิวหนัง จมูก ปาก ริมฝีปาก หู หรืออวัยวะเพศ รวมถึงอาการที่พบไม่บ่อยอย่างอาการแสบร้อนหรือคันที่ผิวหนัง หากอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่หายไปควรปรึกษาแพทย์

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยบางรายยังอาจพบสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่น คัน หายใจลำบาก หรืออาการบวมบริเวณดวงตา ซึ่งควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ หรืออาการที่เกิดขึ้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันระหว่างการใช้ยานี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหรือตรวจวินิจฉัยอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Acanthosis Nigricans (รอยดำบริเวณข้อพับ)
  • Lymphedema
  • Sweet's Syndrome (โรคทางผิวหนังที่ไม่ทราบสาเหตุ)