Drug name: ไอโซคาร์บอกซาซิด

Description:

ไอโซคาร์บอกซาซิด

ไอโซคาร์บอกซาซิด

Share:

Isocarboxazid (ไอโซคาร์บอกซาซิด) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitor: MAOI) ออกฤทธิ์ช่วยปรับความสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้นได้ แพทย์นำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งมักใช้เมื่อยาต้านเศร้าในกลุ่มอื่น ๆ รักษาผู้ป่วยไม่ได้ผล

เกี่ยวกับยา Isocarboxazid

กลุ่มยา ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้า
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Isocarboxazid

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงแพ้ยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาบางประเภท เช่น ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง ยารักษาภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาด้านอารมณ์ ยาลดน้ำหนัก สารกระตุ้นต่าง ๆ เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาที่มีส่วนประกอบของยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน ยาฟีนิลเอฟรีน และยาซูโดเอฟีดรีนขณะใช้ยานี้ เพราะอาจส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้
  • หากผู้ป่วยรับประทานยา Isocarboxazid แล้วมีภาวะความดันโลหิตสูง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาที่สามารถหาซื้อได้ด้วยตนเอง เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด ยาลดน้ำหนัก หรือยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น เพราะยาดังกล่าวอาจไปเพิ่มระดับความดันโลหิตได้
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีอาการเจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง เป็นโรคไต มีเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง ปวดศีรษะ มีปัญหาเกี่ยวกับตับ และเป็นโรคทางระบบประสาทบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน ภาวะชัก ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ต้อหินมุมปิด เป็นต้น
  • ผู้ป่วยบางรายหรือผู้ที่มีประวัติเคยเกิดอาการชักมาก่อนอาจมีโอกาสที่จะเกิดอาการชักขณะใช้ยาเพิ่มขึ้นได้ จึงควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเสมอ
  • ผู้ป่วยอาจต้องตรวจวัดระดับความดันโลหิตตามที่แพทย์สั่งขณะใช้ยา เพราะยานี้อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ รวมถึงอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือด เพื่อตรวจดูการทำงานของตับอีกด้วย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะใช้ยาเป็นประจำ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักขณะใช้ยานี้ เพราะอาจเกิดอาการเจ็บหน้าอกได้
  • ผู้ป่วยที่สูงอายุมักไวต่อผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะผลกระทบต่อระดับความดันโลหิต จึงควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบขณะใช้ยาหากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือกระบวนการรักษาใด ๆ ที่ใช้สารทึบรังสี เพราะผู้ป่วยอาจต้องหยุดใช้ยานี้และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ร่างกายตอบสนองได้ช้าลง
  • ขณะใช้ยาให้จำกัดปริมาณการบริโภคกาแฟ ชา โคล่า และช็อกโกแลต เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางประสาท สั่น และหัวใจเต้นเร็วได้
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะยานี้อาจทำให้ง่วงในระหว่างวันและเกิดอันตรายตามมาได้
  • ควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างช้า ๆ และระมัดระวังในการขึ้นลงบันไดขณะที่ใช้ยานี้ เพราะอาจมีอาการเวียนศีรษะได้
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทอย่างชีสและไวน์แดงในขณะที่ใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงสูงอย่างความดันโลหิตสูงฉับพลันได้
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนใช้ยานี้  
  • ผู้ป่วยที่ต้องให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี

ปริมาณการใช้ยา Isocarboxazid

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคซึมเศร้า
ตัวอย่างการใช้ยา Isocarboxazid เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า

ผู้ใหญ่
เริ่มรับประทานยาปริมาณ 30 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน หรือแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง/วัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น หลังใช้ยาไปแล้ว 4 สัปดาห์ อาจเพิ่มปริมาณยาได้จนถึง 60 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ เมื่อได้รับการตอบสนองแล้วอาจค่อย ๆ ลดปริมาณยาลงมา โดยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 10-20 มิลลิกรัม/วัน และในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเพิ่มยาถึง 40 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ
รับประทานยาปริมาณ 5-10 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Isocarboxazid

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากรับประทานยาแล้วอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารไทรามีนในปริมาณมากหลังจากหยุดใช้ยาไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเริ่มรับประทานยาในปริมาณต่ำก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยา เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ
  • หากผู้ป่วยรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดและมีอาการหมดสติหรือหายใจลำบาก ควรนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Isocarboxazid

การใช้ยา Isocarboxazid อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ไม่สบายท้อง ปากแห้ง เวียนศีรษะ รู้สึกง่วง ท้องผูก นอนไม่หลับ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง แม้อาจพบได้ยากก็ตาม ดังนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น มีผื่น ลมพิษ คัน ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ มีปัญหาเรื่องการหายใจ การกลืน หรือการพูด เสียงแหบผิดปกติ หรือมีอาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอ และใบหน้า เป็นต้น
  • มีระดับของสารเซโรโทนินในร่างกายสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการบางอย่าง เช่น หัวใจเต้นเร็ว หลอน อวัยวะในร่างกายทำงานไม่ประสานงานกัน เวียนศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนและท้องเสียอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อกระตุก มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ กระสับกระส่าย ร้อนรน เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร ไม่สบายท้องหรือปวดท้อง อุจจาระมีสีซีด ท้องเสีย หรือผิวและตาเป็นสีเหลือง เป็นต้น
  • ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก มีปัญหาในการพูด การคิด และการทรงตัว ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งบิดเบี้ยว หรือมองเห็นเป็นภาพเบลอ
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • หัวใจเต้นเร็ว เต้นช้า หรือเต้นผิดปกติ
  • รู้สึกไม่สบายท้องหรือท้องเสียอย่างมาก
  • ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • คอแข็งเกร็ง
  • มีเหงื่อออกมาก
  • รูม่านตาขยาย รู้สึกไม่สบายตาเมื่อสัมผัสแสงต่าง ๆ  
  • ชัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายก็อาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้นเลย แต่หากผู้ป่วยรายใดพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Infective Endocarditis
  • PDA (Patent Ductus Arteriosus)
  • Pectus Excavatum