Drug name: folic-acid

Description:

Folic Acid (กรดโฟลิค)

Folic Acid (กรดโฟลิค)

Share:

Folic Acid (กรดโฟลิค) เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ จะช่วยเสริมสร้างกระบวนการผลิตเซลล์ใหม่ให้มีสุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ตั้งครรภ์ Folic Acid อาจช่วยป้องกันการแท้งบุตร ความพิการแต่กำเนิดเกี่ยวกับสมองและกระดูกสันหลังของทารก และอาจช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของ DNA ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ และในบางครั้ง Folic Acid ก็ถูกใช้รักษาโรคโลหิตจางชนิดที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิค ร่วมกับยารักษาตัวอื่น ๆ ด้วย

Folic acid พบได้มากในอาหารจำพวกถั่ว ตับ ส้ม ขนมปังธัญพืช พืชผักใบเขียว แต่หากกำลังตั้งครรภ์ หรือบริโภค Folic acid ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สามารถบริโภคในรูปของอาหารเสริมแบบรับประทานได้ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

เกี่ยวกับ Folic Acid

กลุ่มยา อาหารเสริม
ประเภทยา ยาตามคำสั่งแพทย์ อาหารเสริม
สรรพคุณ เสริมสร้างกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย ป้องกันและรักษาอาการเจ็บป่วยจากการขาดกรดโฟลิค
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนของการใช้ Folic Acid

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ Folic Acid ไม่ควรใช้อาหารเสริมชนิดนี้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ เพื่อปรับยาให้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เกิดอันตราย เช่น เป็นโรคเกี่ยวกับไตหรือกำลังฟอกไต โรคโลหิตจาง ภาวะการติดเชื้อต่าง ๆ เป็นผู้เสพติดสุรา เป็นต้น
  • แม้ Folic Acid ไม่เป็นอันตรายต่อทารก แต่หากกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ เพราะอาจต้องพิจารณาปรับยาให้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เช่น อาจเพิ่มปริมาณ Folic Acid ในผู้ที่ตั้งครรภ์
  • แม้แพทย์จะจ่าย Folic Acid รักษาโรคโลหิตจาง แต่ Folic Acid ไม่สามารถรักษาทดแทนภาวะขาดวิตามินบี 12 ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างถูกต้อง ไม่หยุดใช้ยาตัวใดโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยาเกินขนาด ใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์กำหนด หรือตามปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายเท่านั้น

ปริมาณการใช้ Folic Acid

การรับประทานเป็นอาหารเสริม

ปริมาณ Folic Acid ที่แนะนำให้บริโภค/วัน

ผู้ใหญ่

  • เพศชาย 150-200 ไมโครกรัม/วัน
  • เพศหญิง 150-180 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ 400 ไมโครกรัม/วัน

กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดแห่งประเทศไทยแนะนำการรับประทานโฟลิคในหญิงวัยเจริญพันธุ์ว่าควรเริ่มรับประทานก่อนวางแผนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือนและรับประทานอย่างต่อเนื่องในช่วงตั้งครรภ์ เพราะอาจช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด รวมทั้งโรคสมองและไขสันหลังได้

เด็ก

  • ทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด 50 ไมโครกรัม/วัน
  • ทารกแรกเกิดอายุ 1-6 เดือน 25-35 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1-3 ปี 150 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี 200 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 9-13 ปี 300 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 14 ปี ขึ้นไป 400 ไมโครกรัม/วัน

การรักษาภาวะขาด Folic Acid

ผู้ใหญ่

  • รับประทานหรือฉีด Folic Acid เข้าเส้นเลือด 400-800 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รับประทานหรือฉีด Folic Acid เข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง 800 ไมโครกรัม/วัน

เด็ก

  • ทารก รับประทาน หรือฉีด Folic Acid เข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง 0.1 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี รับประทาน หรือฉีด Folic Acid เข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง 0.3 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป รับประทาน หรือฉีด Folic Acid เข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง 0.4 มิลลิกรัม/วัน

ส่วนปริมาณการใช้ยาในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณารักษาตามความเหมาะสมต่อไป

การใช้ Folic Acid

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ Folic Acid เพื่อการรักษา ควรใช้ยาให้ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่รับประทานยาเกินกว่าปริมาณหรือยาวนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด ส่วนผู้ที่รับประทาน Folic Acid เป็นอาหารเสริม ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายตามฉลากที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์และคำแนะนำของเภสัชกร ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ

การใช้ Folic Acid แบบบรับประทาน ให้รับประทานพร้อมน้ำเปล่า 1 แก้ว และเก็บบรรจุภัณฑ์ไว้ในอุณหภูมิห้องบริเวณที่พ้นจากความชื้นและความร้อน

หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้รอบเวลาถัดไปที่ต้องใช้ยา ให้ข้ามไปรับประทานยารอบถัดไปในปริมาณปกติ ไม่ควรรับประทานยาเกินขนาด

หากรับประทานยาเกินขนาด ควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เมื่อพบสัญญาณของอาการที่เกิดจากการรับประทานยาเกินขนาด ดังต่อไปนี้

  • รู้สึกชา หรือคันยุบยิบ
  • เจ็บปวดบริเวณปากและลิ้น
  • อ่อนล้าหมดแรง
  • สับสนมึนงง
  • กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ

นอกจากการเสริม Folic Acid ให้ร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี รักษาภาวะขาด Folic Acid และโรคโลหิตจางแล้ว Folic Acid อาจถูกนำไปใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น อัลไซเมอร์ กระดูกพรุน ภาวะซึมเศร้า ปวดประสาท ปวดกล้ามเนื้อ จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ Folic Acid

การใช้ยา Folic Acid อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น

  • เวียนศีรษะ
  • ไม่อยากอาหาร
  • เรอ ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • รู้สึกขมปาก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
  • มีภาวะซึมเศร้า
  • รู้สึกตื่นเต้น กระสับกระส่าย แปรปรวน อยู่ไม่สุข

อย่างไรก็ตาม หากอาการป่วยเหล่านี้ไม่หายไป ไม่ดีขึ้น หรือทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

ส่วนผลข้างเคียงที่เป็นอาการแพ้ เช่น มีผดผื่นคัน หายใจลำบาก ลิ้น ปาก ลำคอ หรือใบหน้าบวม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Myelodysplastic Syndrome
  • Rhesus Disease
  • Sickle Cell Disease