Drug name: ออกซีเตตราไซคลีน-oxytetracycline

Description:

ออกซีเตตราไซคลีน (Oxytetracycline)

ออกซีเตตราไซคลีน (Oxytetracycline)

Share:

Oxytetracycline (ออกซีเตตราไซคลีน) เป็นยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ อาทิ การติดเชื้อในทรวงอก ช่องปาก หรือดวงตา การติดเชื้อหลังโดนสัตว์กัด การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงปัญหาผิวหนัง อย่างสิวและโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) โดยตัวยาจะช่วยฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค

เกี่ยวกับยา Oxytetracycline

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ 
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาทา ยาหยอดตา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Oxytetracycline

คำเตือนในการใช้ยา Oxytetracycline

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Oxytetracycline รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน ยาลดกรด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยารักษาสิว ยาโรคเบาหวาน หรือยารักษาภาวะคอลเลสเตอรอลสูง 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติทางสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคไต โรคโพรพีเรีย (Porphyria) โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี และโรคทางพันธุกรรมอย่างการแพ้น้ำตาลกาแล็กโทส (Galactose Intolerance) 
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามคำสั่งของแพทย์
  • แจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือการรักษาทางทันตกรรมใด ๆ
  • หลีกเลี่ยงการออกแดด การสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตหรือใช้หลอดไฟอัลตราไวโอเลต และการใช้เครื่องอบผิวแทน เนื่องจากยานี้อาจส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสงหรือผิวไหม้แดดง่ายขึ้น และผู้ป่วยควรทาครีมกันแดด สวมแว่นกันแดดหรือเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวก่อนออกแดดด้วย
  • การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนในรูปแบบต่าง ๆ อาจใช้ไม่ได้ผลในระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยจึงควรคุมกำเนิดด้วยการสวมถุงยางอนามัยหรือวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย 
  • สตรีมีครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยา Oxytetracycline เพราะตัวยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ หากผู้ป่วยตั้งครรภ์หลังใช้ยาไปแล้วควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว
  • ไม่อนุญาตให้ใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากยานี้ส่งผลให้ฟันของเด็กเปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล หรือเทา

ปริมาณการใช้ยา Oxytetracycline

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับลักษณะของการติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

การติดเชื้อแบคทีเรีย
ตัวอย่างการใช้ยา Oxytetracycline ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย 

เด็กที่มีอายุมากกว่า 8 ปี รับประทานยาปริมาณ 25–50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง ในกรณีของยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ให้ใช้ยาปริมาณ 15–25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดวันละ 2–3 ครั้ง

ผู้ใหญ่ รับประทานยาเม็ดปริมาณ 250–500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 4 กรัม ในกรณีของยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ให้ใช้ยาปริมาณ 250 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือ 300 มิลลิกรัม โดยแบ่งฉีดวันละ 2–3 ครั้ง        

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ดวงตา
ตัวอย่างการใช้ยา  Oxytetracycline ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดวงตา

ผู้ใหญ่ ใช้ยาทารูปแบบขี้ผึ้งร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ป้ายบริเวณถุงเยื่อบุตาข้างที่ติดเชื้อ วันละ 2–4 ครั้ง ในกรณีที่ใช้ยาหยอดตาแบบสารแขวนตะกอน ให้หยอดตาข้างที่มีอาการประมาณ 1–2 หยด วันละ 3 ครั้ง

สิว
ตัวอย่างการใช้ยา Oxytetracycline เพื่อรักษาสิว 

ผู้ใหญ่ รับประทานยาเม็ดปริมาณ 250–500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง   

หนองในแท้ชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ตัวอย่างการใช้ยา Oxytetracycline เพื่อรักษาหนองในแท้ชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน 

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาเม็ดปริมาณ 1.5 กรัม จากนั้นรับประทานยาต่อเนื่องในปริมาณ 0.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง จนได้ปริมาณยารวมเป็น 9 กรัม  

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจากผิวหนังอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยา Oxytetracycline เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจากผิวหนังอักเสบ

ผู้ใหญ่ ใช้ยาทา Oxytetracycline ร่วมกับยาทาสเตียรอยด์ ทาผิวหนังในบริเวณที่มีอาการวันละ 4 ครั้ง 

การใช้ยา Oxytetracycline

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ปรับปริมาณยาหรือระยะเวลาการใช้ยาด้วยตัวเอง หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ผู้ป่วยที่รับประทานยาเม็ดควรรับประทานยาตอนท้องว่าง ควรดื่มน้ำตามให้มาก ๆ เว้นเสียแต่แพทย์จะแนะนำให้ลดปริมาณการดื่มน้ำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรงดดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทั้งก่อนและหลังการใช้ยา 2 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลงและมีประสิทธิภาพในการรักษาน้อยลง 
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน เพื่อไม่ให้ลืมใช้ยาและเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
  • ไม่ควรใช้ยาของตัวเองร่วมกับผู้อื่น หรือนำยาของผู้อื่นมาใช้
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า 
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตัวเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Oxytetracycline 

การใช้ยา Oxytetracycline อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย หรือปวดศีรษะ หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตัวเองควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว หากพบอาการที่รุนแรงดังต่อนี้

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่น คัน ลมพิษ ผิวบวม แดง หรือพุพอง ผิวลอกโดยที่อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือลำคอ มีปัญหาในการหายใจ การกลืน และการพูดคุย เสียงแหบผิดปกติ อาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า หรือคอ  
  • มีสัญญาณของปัญหาตับ เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้สึกหิว ท้องไส้ปั่นป่วนหรือปวดท้อง อุจจาระเป็นสีซีด อาเจียน ดีซ่าน 
  • ท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยาหรือหลังหยุดยาไปแล้ว 2–3 เดือน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง ปวดเกร็งหน้าท้อง อุจจาระปนเลือดหรือเหลวเป็นน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคลำไส้ใหญ่อักเสบที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทว่ามักพบได้น้อยมาก 
  • แรงดันภายในโพรงกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปวดศีรษะหรือมีปัญหาในการมองเห็น เช่น มองเห็นเป็นภาพเบลอ มองเห็นเป็นภาพซ้อน หรือสูญเสียการมองเห็น แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักกลับมาเป็นปกติหลังหยุดใช้ยา
  • อาการอื่น ๆ เช่น มีรอยช้ำหรือมีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรงอย่างมาก มีไข้หรือสั่น เจ็บคอ มีแผลในปาก ระคายเคืองปาก ตกขาวหรือคันช่องคลอด ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป  

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม การวินิจฉัยอาการอย่างถี่ถ้วนจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและอาจมีอาการดีขึ้นได้

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • โรคแอคติโนมัยโคซิส (Actinomycosis)