Drug name: pancrelipase

Description:

Pancrelipase (แพนคริเอไลเปส)

Pancrelipase (แพนคริเอไลเปส)

Share:

Pancrelipase (แพนคริเอไลเปส) เป็นเอนไซม์ทดแทนสำหรับรักษาโรคที่เกิดจากภาวะขาดเอนไซม์บางชนิด อย่างโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ท่อตับอ่อนอุดตัน มะเร็งตับอ่อน หรือใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนหรือลำไส้ โดยยานี้จะช่วยเพิ่มปริมาณเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารในร่างกายแทนที่ตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตออกมาได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้รักษาภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Pancrelipase เป็นการรวมเอนไซม์หรือโปรตีนทั้ง 3 ชนิดเข้าด้วยกัน ได้แก่ เอนไซม์ไลเปส (Lipase) เอนไซม์โปรตีเอส (Protease) และเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ซึ่งโดยปกติแล้วเอนไซม์เหล่านี้จะถูกผลิตออกมาจากตับอ่อน เพื่อทำหน้าที่ย่อยสลายไขมัน โปรตีน และน้ำตาล

เกี่ยวกับยา Pancrelipase

กลุ่มยา เอนไซม์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาโรคซิสติก ไฟโบรซิส ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และตับอ่อนหลั่งเอนไซม์บกพร่อง
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
และผู้ให้นมบุตร
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยาแพนคริเอไลเปสควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนให้นมบุตร เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้

คำเตือนในการใช้ยา Pancrelipase

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้เอนไซม์ย่อยอาหารหรือโปรตีนจากหมู เพราะยาอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงได้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ เช่น ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โรคตับอ่อนเรื้อรังที่มีอาการแย่ลงอย่างเฉียบพลัน โรคไต โรคเกาต์  โรคเบาหวาน ลำไส้อุดตันหรือแผลในลำไส้ มีปัญหาในการกลืนยา หรือภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยใช้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ไม่อนุญาตให้ใช้ยา Pancrepilase ในเด็กโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Pancrelipase

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
ตัวอย่างการใช้ยา Pancrepilase เพื่อรักษาตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาจำนวน 500 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/1 มื้ออาหาร ส่วนการรับประทานยาแบบต่อเนื่องจะเพิ่มได้จนถึง 2,500 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/1 มื้ออาหาร โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10,000 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือ 4,000 ยูนิตของ Lipase/จำนวนไขมัน 1 กรัมที่รับประทาน/วัน  

รักษาโรคซิสติก ไฟโบรซิสและตับอ่อนหลั่งเอนไซม์บกพร่อง
ตัวอย่างการใช้ยา Pancrepilase เพื่อรักษาโรคซิสติก ไฟโบรซิสและตับอ่อนหลั่งเอนไซม์บกพร่อง 

เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน รับประทานยาจำนวน 2,000-4,000 ยูนิตของ Lipase/ปริมาณน้ำนมแม่หรือนมทั่วไป 120 มิลลิลิตร

เด็กอายุมากกว่า 12 เดือน แต่ต่ำกว่า 4 ปี เริ่มรับประทานยาจำนวน 1,000 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/1 มื้ออาหาร ส่วนการรับประทานยาแบบต่อเนื่องจะเพิ่มได้จนถึง 2,500 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/1 มื้ออาหาร โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10,000 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือ 4,000 ยูนิตของ Lipase/จำนวนไขมัน 1 กรัมที่รับประทาน/วัน   

เด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาจำนวน 500 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/1 มื้ออาหาร ส่วนการรับประทานยาแบบต่อเนื่องจะเพิ่มได้จนถึง 2,500 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/1 มื้ออาหาร โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10,000 ยูนิตของ Lipase/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือ 4,000 ยูนิตของ Lipase/จำนวนไขมัน 1 กรัมที่รับประทาน/วัน 

การใช้ยา Pancrelipase

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรเปลี่ยนไปใช้ยายี่ห้ออื่นโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ 
  • ผู้ปกครองควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษหากบุตรหลานต้องใช้ยานี้ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ 
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหารหรืออาหารทานเล่น 
  • ห้ามบด หัก หรือเปิดยาทั้งแบบแคปซูลและยาแบบเม็ด แต่ให้กลืนยาลงไปทั้งเม็ดแล้วตามด้วยการดื่มน้ำ 1 แก้ว 
  • ห้ามอมยาไว้ในปาก เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง 
  • หากผู้ป่วยไม่สามารถกลืนยาได้ให้เปิดแคปซูลแล้วนำผงยาไปผสมกับเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แต่ห้ามนำไปผสมกับนมผงหรือน้ำนมแม่ รวมทั้งห้ามผสมยานี้เตรียมไว้ล่วงหน้า จากนั้นควรรับประทานยาให้หมดหนึ่งช้อนภายในครั้งเดียวโดยไม่ต้องเคี้ยว 
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมผงยาเพราะอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองภายในจมูกหรือโรคหอบหืดในระยะเฉียบพลัน
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อร่างกายมากที่สุด
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาแพนคริเอไลเปสร่วมกับยาลดกรดในกระเพาะอาหาร อย่างยาโอเมพราโซล ยาแพนโทพราโซล ยาอีโซเมปราโซล และยาแลนโซพราโซล จึงควรปฎิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป เพราะปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว
  • หากปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อนเรื้อรังมีอาการแย่ลงควรไปปรึกษาแพทย์ทันที 
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือของว่างในรอบถัดไป โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น หมดสติ มีปัญหาในการหายใจ เป็นต้น 
  • ควรเก็บซองกันชื้นไว้ในขวดยาตลอดเวลา   
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Pancrelipase

โดยปกติ ยา Pancrelipase มักก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง  ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตามัว ปากแห้ง ผิวแห้งหรือแดง ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ ปวดศีรษะ หิวและกระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อย เหงื่อออก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น 

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยรายใดรับประทานยาแล้วมีอาการแย่ลงหรือเกิดอาการรุนแรงหลังการใช้ยา ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เช่น

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • มีอาการของโรคระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง เช่น ปวดท้องผิดปกติหรือปวดอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น
  • ปวดข้อต่อหรือข้อต่อบวม
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะบ่อยครั้ง     

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หากมีความกังวลใจ รวมถึงพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • ตับอ่อนอักเสบ