Drug name: Meloxicam

Description:

Meloxicam (มีลอกซิแคม)

Meloxicam (มีลอกซิแคม)

Share:

Meloxicam (มีลอกซิแคม) คือ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)  ใช้บรรเทาอาการอักเสบ บวม ตึง หรือปวดจากโรคไขข้อต่าง ๆ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก เป็นต้น ใช้ได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป การใช้ยาในระยะยาวหรือในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยา

เกี่ยวกับ Meloxicam

กลุ่มยา ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวด บวม และอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด


คำเตือนในการใช้ยา
Meloxicam

การใช้ยา Meloxicam ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) จากการใช้ยาแอสไพริน รวมถึงยาในกลุ่มเอ็นเสดชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต และจำเป็นต้องไปพบแพทย์ในทันที ผู้ป่วยจะมีอัตราการหายใจเร็วมากผิดปกติ หายใจหอบ หรือเป็นลม รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจและชีพจรเร็วผิดปกติ มีผื่นแดงคันและบวมขึ้นตามผิวหนัง ใบหน้า เปลือกตา รู้สึกแสบร้อนรอบ ๆ ดวงตา แสบผิว มีผื่น เป็นต้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ ดังต่อไปนี้

  • อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดในสมองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ที่ใช้ยาในปริมาณมาก หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจก็อาจเกิดความเสี่ยงได้เช่นกันในขณะใช้ยา
  • อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง รวมถึงผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยารักษาอาการหวัด อาการปวด ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ไอบูโพรเฟน คีโตโปรเฟน นาพรอกเซน หรือส่วนประกอบที่คล้ายกับ Meloxicam เพราะอาจทำให้ได้รับปริมาณยาเกินกำหนดในหนึ่งวัน
  • ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
    • ผู้ป่วยโรคหอบหืด
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
    • ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หรือภาวะบวมน้ำ
    • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
    • ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
    • ผู้ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่
    • ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดในสมอง หรือลิ่มเลือด
    • ผู้ที่เคยเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
    • ผู้ที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด เพราะอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ รวมถึงผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ในช่วงการรักษาภาวะมีบุตรยาก
    • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยาอาจถูกขับออกผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ทารกได้
    • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด เพราะแพทย์อาจสั่งให้หยุดใช้ยาสักระยะก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ปริมาณการใช้ยา Meloxicam

ยา Meloxicam ใช้ในการรักษาอาการหลายชนิด ขนาดและปริมาณการใช้จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัว และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียดดังนี้

  • โรคข้อเสื่อมที่มีอาการกำเริบรุนแรง
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 7.5 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดยาได้สูงสุดไม่เกิน 15 มิลลิกรัมต่อวัน
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อสันหลังอักเสบชนิดแอนไคโลสซิ่ง (Ankylosing Spondylitis)
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 15 มิลลิกรัมต่อวัน และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงควรเริ่มต้นรับประทานยาขนาด 7.5 มิลลิกรัมต่อวัน
    • ผู้สูงอายุ รับประทานยาขนาด 7.5 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับการรักษาในระยะยาว
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile Rheumatoid Arthritis)
    • เด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี รับประทานยาขนาด 0.125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดยาได้สูงสุดไม่เกิน 7.5 มิลลิกรัมต่อวัน

การใช้ยา Meloxicam

  • ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น ไม่ควรสัมผัสแสงโดยตรง รวมถึงปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา ควรเก็บให้ไกลจากมือเด็ก และไม่ควรรับประทานยาหมดอายุ
  • ควรรับประทานยาหลังอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
  • หากลืมรับประทานทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้ให้รับประทานทันที หากนึกขึ้นได้ใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนมื้อที่ขาดหายไป

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Meloxicam

ยา Meloxicam อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขณะใช้ยา เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย ท้องผูก วิงเวียนศีรษะ มีอาการคล้ายเป็นหวัด เป็นต้น ควรหยุดใช้ยา และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ผื่นคัน มีอาการบวมที่ใบหน้า นิ้วมือ หรือเท้า
  • อาการของภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกร้าวไปที่กราม ไหล่ รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่บริเวณข้างลำตัว พูดไม่ชัด
  • อาการของเลือดออกในกระเพาะอาหาร เช่น อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีดำ ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด
  • อาการที่บ่งบอกว่าตับมีปัญหา เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีคล้ายดินโคลน ผิวหรือตามีสีเหลือง
  • อาการของภาวะโลหิตจาง เช่น ผิวซีด วิงเวียนศีรษะ หายใจหอบ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ สมาธิลดลง

 

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Infective Endocarditis
  • Myelodysplastic Syndrome
  • PDA (Patent Ductus Arteriosus)