Drug name: isoflurane-ไอโซฟลูเรน

Description:

Isoflurane (ไอโซฟลูเรน)

Isoflurane (ไอโซฟลูเรน)

Share:

Isoflurane (ไอโซฟลูเรน) เป็นยาที่ใช้เพื่อให้ผู้ป่วยหมดสติในช่วงก่อนและระหว่างการผ่าตัด ยาสลบชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงอย่าง Malignant Hyperthermia ซึ่งเป็นภาวะไข้สูงที่เกิดจากร่างกายตอบสนองต่อยาสลบมากกว่าปกติ หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติของโรคนี้ ควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษาหรือการผ่าตัดใด ๆ 

เกี่ยวกับยา Isoflurane

กลุ่มยา ยาระงับความรู้สึก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ทำให้ผู้ป่วยหมดสติเพื่อให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัด
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาสูดดมผ่านเครื่องพ่นละอองยา (Veporizer)
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อน
ในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการ
ศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์
มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ อีกทั้งยังไม่มีการศึกษา
ที่แน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งต่อผ่านน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์วางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร ควรปรึกษา
แพทย์ก่อนการใช้ยาชนิดนี้

 

คำเตือนในการใช้ยา Isoflurane

ควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงของยานี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากตัวยามีข้อจำกัดและข้อควรรรู้ในการใช้ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ก่อนรับการรักษา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการรักษา หากตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติการรักษาหรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะ Malignant Hyperthermia ที่เป็นภาวะตอบต่อสนองต่อยาสลบมากกว่าปกติ และโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ
  • ยาไอโซฟลูเรนอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต หากผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับตับ อย่างโรคตับ ดีซ่าน ไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง หรือโรคภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมสูงหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติและเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่ภาวะดังกล่าวมักพบได้ยาก
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาไอโซฟลูเรนกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหากับสมองในระยะยาว
  • ยาไอโซฟลูเรนอาจทำให้ง่วงซึมและตอบสนองช้า จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อย่างงานที่ใช้เครื่องจักรหรืองานบนที่สูง รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด เพราะอาจทำให้ผลข้างเคียงดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • ยานี้อาจส่งผลต่อกระบวนการคิด โดยอาจใช้เวลา 2-3 วัน จึงจะกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ 
  • ยานี้อาจส่งผลต่อภาวะอารมณ์ในช่วงหลังการใช้ยา แต่อาการจะดีขึ้นภายใน 6 วัน
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงสูงกว่าคนช่วงวัยอื่น

ปริมาณการใช้ยา Isoflurane

ยา Isoflurane มีลักษณะเป็นของเหลวจึงต้องใช้ร่วมกับเครื่องพ่นละอองและหน้ากากพ่นยา โดยแพทย์อาจเจือจางยานี้กับออกซิเจน หรือออกซิเจนร่วมกับไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide) ซึ่งตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

การผ่าตัดทั่วไป

ตัวอย่างการใช้ยา Isoflurane สำหรับการผ่าตัดทั่วไป

ผู้ใหญ่ การนำสลบ ให้สูดดมยา Isoflurane ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ที่เจือจางกับออกซิเจน หรือออกซิเจนรวมกับไนตรัสออกไซด์ผ่านเครื่องพ่นละออง และเพิ่มระดับเป็น 1.5-3 เปอร์เซ็นต์ ในขั้นถัดไป

ระหว่างการผ่าตัดแพทย์อาจให้ยา Isoflurane ปริมาณที่แตกต่างกันโดยอาจขึ้นอยู่กับชนิดการผ่าตัด ซึ่งมีปริมาณการให้ ดังนี้

  • 1-2.5 เปอร์เซ็นต์ เจือจางด้วยออกซิเจนและไนตรัสออกไซด์
  • 1.5-3.5 เปอร์เซ็นต์ เจือจางด้วยออกซิเจน

การผ่าตัดเพื่อทำคลอด

ตัวอย่างการใช้ยา Isoflurane เพื่อการผ่าคลอด

ผู้ใหญ่ ในขั้นแรกให้ยา Isoflurane ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ที่เจือจางด้วยออกซิเจน หรือออกซิเจนรวมกับไนตรัสออกไซด์ผ่านเครื่องพ่นละออง และเพิ่มระดับเป็น 1.5-3 เปอร์เซ็นต์ในขั้นถัดไป

ระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะปรับปริมาณยาเป็น 0.5-0.75 เปอร์เซ็นต์ โดยเจือจางด้วยออกซิเจนรวมกับไนตรัสออกไซด์

การใช้ยา Isoflurane

ยาไอโซฟูเรนมีลักษณะการใช้ ดังนี้

  • วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ให้ยานี้เท่านั้น
  • ยาชนิดนี้มีลักษณะเป็นของเหลว ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วยสูดดมยาจากเครื่องระเหยยาดมสลบ
  • ก่อนใช้ยานี้แพทย์อาจให้ยากลุ่ม Anticholinergic เพื่อลดความเสี่ยงของอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มสูงและความผิดปกติในการผลิตสารคัดหลั่งภายในร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการรับยาสลบ
  • แพทย์อาจให้ยากลุ่ม Barbiturate แบบออกฤทธิ์สั้นเพื่อป้องกันอาการไอ การกลั้นหายใจ และอาการจากกล่องเสียงเกิดการหดเกร็ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างสูดดมยานี้
  • แพทย์อาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อระหว่างการใช้ยาไอโซฟลูเรนเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • ภายหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผลข้างเคียงของยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุได้

นอกจากนี้ อาจมียาบางชนิดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงหรือลดทอนประสิทธิภาพของยา Isoflurane โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ไนตรัสออกไซด์อาจลดประสิทธิภาพยาลง แต่คนไข้บางรายอาจจำเป็นต้องใช้ไนตรัสออกไซด์ร่วมด้วย โดยวิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้กำหนด
  • ยากระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกอาจเพิ่มความเสี่ยงให้หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ
  • ยาเสพติดชนิดต่าง ๆ อาจทำให้เกิดภาวะระบบทางเดินหายใจแปรปรวน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Isoflurane

ยา Isoflurane อาจทำให้เกิดอาการไอหรือกล่องเสียงหดเกร็งในขณะสูดดม ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปาก เล็บ นิ้วมือ นิ้วเท้าเป็นสีม่วง หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หายใจช้า หายใจสั้น หน้ามืดอย่างรุนแรง เป็นลม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยา Isoflurane อาจทำให้เกิดโรคหรือภาวะอันตรายอื่น ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  • ภาวะโพแทสเซียมสูงอาจทำให้ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดปกติ หายใจไม่อิ่ม ไม่มีแรง เหน็บชาตามร่างกาย รู้สึกสับสน เวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม 
  • อาการไตวาย โดยสังเกตได้จากปัสสาวะมีสีเข้ม รู้สึกเหนื่อย ไม่หิว ปวดท้อง อาเจียน ตาและตัวเหลือง
  • Malignant Hyperthermia จากการตอบสนองต่อยาที่รุนแรงกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว กล้ามเนื้อหดเกร็ง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
  • อาการแพ้ยา อย่างลมพิษ ผื่นคัน ผิวแดง บวม พุพอง หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ใบหน้า ริบฝีกปาก ลิ้น และลำคอบวม บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย อาการแพ้ยาอย่างรุนแรงอาจส่งผลให้ความดันเลือดลดต่ำจนเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาไอโซฟลูเรนระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน แต่ถ้าหากเกิดสัญญาณของอาการเหล่านี้ภายหลังการรักษาตัว ควรแจ้งหรือไปพบแพทย์ทันที

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • Ependymoma (เนื้องอกเยื่อบุโพรงสมอง)
  • Phantom Pain
  • Polyhydramnios