Drug name: ยาล้างไต

Description:

ยาล้างไต

ความหมาย ยาล้างไต

Share:

ยาล้างไต หรือน้ำยาล้างไต คือ สารละลายผสมน้ำตาล เกลือแร่ สารควบคุมความเป็นกรดเบส และสารอื่น ๆ สำหรับผู้ป่วยภาวะไตวายเฉียบพลันหรือไตวายเรื้อรัง เพื่อใช้ฟอกไตผ่านทางเยื่อบุช่องท้องแบบต่อเนื่อง หรือใช้ฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการทดแทนการทำงานของไต โดยยาล้างไตจะดึงน้ำและของเสียจากร่างกายเข้าสู่ช่องท้องก่อนขับออกจากร่างกายด้วยการเปลี่ยนยาล้างไต

ยาล้างไตที่ใช้โดยทั่วไปมี 2 ชนิด ได้แก่

  • ยาล้างไตชนิดเดกซ์โทรส ประกอบด้วยน้ำ น้ำตาลเดกซ์โทรสซึ่งเป็นน้ำตาลที่ถูกดูดซึมเข้าหลอดเลือดผ่านเยื่อบุช่องท้องและทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกลือแร่ และสารควบคุมความเป็นกรดเบส
  • ยาล้างไตชนิดไอโคเดกซ์ทริน ประกอบด้วยน้ำ ไอโคเดกซ์ทรินซึ่งเป็นแป้งที่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย เกลือแร่ และสารควบคุมความเป็นกรดเบส โดยไม่มีน้ำตาลเดกซ์โทรสเป็นส่วนผสม จึงมักใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานซึ่งต้องควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดไม่ให้สูงเกินค่าปกติ

ยาล้างไตชนิดเดกซ์โทรสส่วนใหญ่มีความเข้มข้น 1.5, 2.5 และ 4.25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยาล้างไตชนิดไอโคเดกซ์ทรินมีความเข้มข้น 7.5 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ป่วยมักต้องใช้ยาล้างไตปริมาณ 2 และ 2.5 ลิตรในการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและของเสียส่วนเกินในร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาล้างไตจากแพทย์หรือพยาบาลหน่วยไตเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมียาล้างไตชนิดอื่น ๆ เช่น ยาล้างไตชนิดเสริมโพแทสเซียม กรดอะมิโน อินซูลิน เฮพาริน หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาล้างไตชนิดแคลเซียมต่ำ และยาล้างไตชนิดมีค่ากรดเบสเท่ากับเลือด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยบางโรค เช่น ผู้ที่มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ที่มีแคลเซียมในเลือดสูง ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น

เกี่ยวกับยาล้างไต

กลุ่มยา ยาล้างไต
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ใช้ฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้อง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรัง
รูปแบบของยา สารละลาย

คำเตือนในการใช้ยาล้างไต

  • การเติมยาล้างไตเข้าช่องท้องปริมาณมากเกินไปอาจทำให้แน่นท้องและหายใจลำบาก ซึ่งผู้ป่วยควรระบายยาล้างไตออกเพื่อลดอาการดังกล่าว
  • การฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องอาจทำให้ผู้ป่วยช็อกหากมีภาวะขาดน้ำ มีเลือดในร่างกายน้อย หรือมีภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจึงต้องสังเกตอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • การฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องอาจทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ทันทีหากพบว่ายาล้างไตขุ่นหลังการฟอกไต ปวดท้อง หรือมีไข้ โดยผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ การฟอกไตอาจทำให้เกิดโรคพังผืดเยื่อบุช่องท้องชนิด Encapsulating Peritoneal Sclerosis ซึ่งเกิดพังผืดหนาขึ้นจนอาจทำให้ลำไส้อุดตันและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาล้างไต เพราะเสี่ยงแท้งบุตรหรืออาจทำให้ทารกพิการได้
  • ผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาล้างไต เพราะน้ำนมอาจมีส่วนผสมของยาล้างไตซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ผู้ที่กำลังป่วยหรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเลือด เพราะการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องอาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน วิตามินที่ละลายในน้ำ และเกลือแร่
  • ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยารักษาโรคอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณการใช้ยาให้เหมาะสม เพราะการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องอาจกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยาอื่น ๆ ได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่รับประทานยากลุ่มคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจปริมาณโพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมในเลือด  
  • ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะเลือดเป็นกรด เช่น ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือด และผู้ที่มีกรดแลคติกในเลือดสูง ห้ามใช้ยาล้างไตที่มีส่วนผสมของแลคเตต เพราะจะทำให้เลือดเป็นกรดมากขึ้น

ผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะผู้ที่ฟอกไตด้วยยาล้างไตเดกซ์โทรส ต้องควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยแพทย์อาจให้ใช้ยารักษาเบาหวานหรือปรับปริมาณการใช้ยารักษาเบาหวานแก่ผู้ป่วยด้วย

  • ผู้ที่แพ้ไอโคเดกซ์ทริน แป้งข้าวโพด น้ำตาลมอลโทส หรือน้ำตาลไอโซมอลโทส ห้ามใช้ยาล้างไตชนิดไอโคเดกซ์ทริน โดยผู้ป่วยต้องหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่าผิวหนังเป็นผื่น บวม แดง
  • ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับการสะสมไกลโคเจนผิดปกติห้ามใช้ยาล้างไตชนิดไอโคเดกซ์ทริน
  • ผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่ใช้ยาล้างไตชนิดไอโคเดกซ์ทริน ห้ามตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดด้วยอุปกรณ์บางชนิด เช่น GDH-PQQ, GDO หรือ GDH-FAD เพราะอาจทำให้ค่าที่วัดได้สูงกว่าค่าจริง ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้อุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ได้หลังจากหยุดฟอกไตด้วยไอโคเดกซ์ทรินอย่างน้อย 2 สัปดาห์เป็นต้นไป

ปริมาณการใช้ยาล้างไต

แพทย์มักประเมินปริมาณการใช้ยาล้างไตเพื่อฟอกไต  ดังนี้

การฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องด้วยยาล้างไตชนิดเดกซ์โทรส

ใช้ยาล้างไตปริมาณ 1.5-3 ลิตร หรือ 30-50 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม เพื่อฟอกไตนาน 4-8 ชั่วโมงในระหว่างวัน และ 8-12 ชั่วโมงตอนกลางคืน จำนวน 3-5 รอบ/วัน ทั้งนี้ การใช้ยาขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย ปริมาณน้ำส่วนเกิน และปริมาณของเสียในร่างกายด้วย

การฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องด้วยยาล้างไตชนิดไอโคเดกซ์ทริน

ใช้ยาล้างไตปริมณไม่เกิน 2 ลิตร นาน 6 และ 12 ชั่วโมงสำหรับการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องแบบต่อเนื่อง หรือ 14-16 ชั่วโมงสำหรับการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ หากผู้ป่วยรู้สึกแน่นท้องเกินไปอาจใช้ยาล้างไตปริมาณไม่เกิน 1.5 ลิตร โดยผู้ป่วยต้องฟอกไตนานอย่างน้อย 10-20 นาทีขึ้นไป/รอบ

การใช้ยาล้างไต

ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย ประเมินสภาพจิตใจ เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้อง และใส่ท่อล้างไตบริเวณหน้าท้อง ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรปรึกษาแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติใด ๆ

คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาล้างไต มีดังนี้

  • ตรวจสอบยาล้างไตและอุปกรณ์เปลี่ยนยาล้างไตก่อนการใช้งาน ซึ่งยาล้างไตต้องไม่มีสีหรือขุ่นตะกอน และอุปกรณ์ต้องมีสภาพดี ปิดสนิท ไม่รั่วซึม ไม่หมดอายุ
  • เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนเปลี่ยนยาล้างไตเสมอ โดยสวมหน้ากากอนามัยให้แนบสนิทกับใบหน้า ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดมือให้แห้งหรือเช็ดมือด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ทุกครั้งก่อนหยิบจับอุปกรณ์เปลี่ยนยาล้างไต
  • เตรียมสถานที่ให้พร้อมก่อนการเปลี่ยนยาล้างไต โดยปิดพัดลม ประตู และหน้าต่าง รวมทั้งหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมจากเครื่องปรับอากาศ ใช้สำลีหรือผ้าก๊อซเช็ดโต๊ะและอุปกรณ์เปลี่ยนยาล้างไตด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์
  • อุ่นยาล้างไตโดยห่อด้วยแผ่นประคบร้อนหรือใช้เครื่องให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส โดยไม่ควรให้ความร้อนสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ห้ามแช่ถุงยาในน้ำและห้ามอุ่นยาล้างไตด้วยเตาไมโครเวฟ
  • เปิดถุงหุ้มน้ำยาด้านนอกออกโดยฉีกบริเวณรอยปรุเท่านั้น ห้ามใช้วัตถุแหลมคมเปิดถุงโดยเด็ดขาด
  • หากแพทย์ให้ผสมยารักษาโรคอื่น ๆ ลงในยาล้างไต ให้ใช้เข็มฉีดยาเบอร์ 19-25 ขนาด 1 นิ้ว เพื่อฉีดยาเข้าถุงยาล้างไตบริเวณช่องใส่ยา กลับถุงไปมา และบีบหรือตีเบา ๆ เพื่อให้ยาผสมกัน
  • ปฏิบัติตามวิธีการฟอกไตอย่างเคร่งครัด ทั้งการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องแบบต่อเนื่อง หรือการฟอกไตผ่านเยื่อบุช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งมักมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การระบายยาล้างไตเก่าออกจากช่องท้อง การล้างสายให้ยาด้วยยาล้างไตใหม่ การเติมยาล้างไตใหม่เข้าสู่ช่องท้อง และการปิดท่อล้างไต หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยใด ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร
  • หมั่นตรวจสอบสมดุลระหว่างยาล้างไตเก่ากับยาล้างไตใหม่ โดยชั่งน้ำหนักยาล้างไตก่อนและหลังใช้งาน รวมทั้งสังเกตความขุ่น เยื่อเมือก หรือเลือดในยาล้างไตเก่าหลังการฟอกไต และผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง หรือเจ็บบริเวณแผลที่ใส่ท่อล้างไต
  • เก็บยาล้างไตในบรรจุภัณฑ์ที่อุณหภูมิห้องในบริเวณที่แห้งและสะอาด โดยวางให้อยู่เหนือพื้นห้องอย่างน้อย 5 เซนติเมตร เก็บให้ห่างจากสัตว์เลี้ยงและแมลง
  • ทิ้งยาล้างไตเก่าหลังการฟอกไตลงในชักโครก และทิ้งอุปกรณ์เปลี่ยนยาล้างไตลงในถังขยะ
  • บันทึกวันที่และเวลาที่เปลี่ยนยาล้างไตทุกครั้งเพื่อป้องกันการลืม และบันทึกข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการรักษาของแพทย์ เช่น ชนิดยาล้างไตที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ในการระบายยาล้างไตเก่าออกจากช่องท้อง และระยะเวลาที่ใช้ในการเติมยาล้างไตใหม่เข้าสู่ช่องท้อง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาล้างไต

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาล้างไตที่พบบ่อย ได้แก่ รู้สึกไม่สบาย มีไข้ ปวดท้อง แน่นท้อง น้ำและเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ขาดน้ำหรือมีน้ำคั่งในร่างกาย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เยื่อบุในช่องท้องหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบริเวณช่องท้องอักเสบ ลำไส้ทำงานผิดปกติ มีเลือดน้อยหรือมากผิดปกติ และความดันโลหิตต่ำหรือสูง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนี้

  • มีโพแทสเซียม โซเดียม หรือคลอไรด์ในเลือดต่ำ
  • มีเกล็ดเลือดต่ำ มีเม็ดเลือดขาวต่ำหรือสูงผิดปกติ
  • หลอดเลือดอักเสบ ภูมิคุ้มกันไวเกิน
  • ผิวหนังมีผื่นคัน อักเสบ บวม แดง แห้ง แตก หรือมีตุ่มพอง เป็นลมพิษ เล็บแยกชั้น รวมทั้งอาการแพ้แบบรุนแรง หรือโรคสตีเวนส์จอห์นสันซึ่งจะมีผื่นแพ้ทั่วร่างกายร่วมกับมีไข้และปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ตาพร่า ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดแสบปวดร้อน กล้ามเนื้อสั่นหรือกระตุก
  • หายใจลำบาก หายใจเข้ามีเสียงดัง หลอดลมหดเกร็ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ตับทำงานผิดปกติ
  • ปวดหัว เพ้อ สับสน
  • ปัสสาวะน้อย ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ องคชาติหรืออัณฑะบวม
  • ชัก
  • ช็อกหรือหมดสติจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

หากผู้ป่วยมีอาการดังข้างต้นควรไปปรึกษาแพทย์ และต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันทีหากมีอาการป่วยที่รุนแรง