Drug name: tca-กรดไตรคลอโรอะเซติก

Description:

TCA (กรดไตรคลอโรอะเซติก)

TCA (กรดไตรคลอโรอะเซติก)

Share:

TCA (Trichloroacetic Acid) คือ สารละลายกรดไตรคลอโรอะเซติกความเข้มข้น 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้เป็นยารักษาหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก

เกี่ยวกับยา TCA

กลุ่มยา ยาลอกผิวหนัง
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ กระตุ้นการหลุดลอกของผิวหนัง รักษาหูดหงอนไก่
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาใช้ภายนอก

คำเตือนในการใช้ยา TCA

  • ยา TCA เป็นยาใช้ภายนอกที่ใช้รักษาโดยแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยา TCA หากป่วยด้วยภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินหรือเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยผู้ป่วยควรตรวจหาภาวะบ่งชี้โรคมะเร็งปากมดลูกก่อนใช้ยานี้เสมอ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา TCA เพราะแม้ยังไม่มีรายงานการวิจัยที่แน่ชัดในคน แต่จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายานี้อาจส่งผลเสียหากใช้ในขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • หากยา TCA สัมผัสกับเนื้อเยื่อบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากส่วนที่ต้องการรักษา ต้องรีบกำจัดยาออกจากบริเวณนั้นทันที แล้วล้างด้วยน้ำอุ่น สบุู่ หรือสารละลายโซเดียมคาร์บอเนต

ปริมาณการใช้ยา TCA

ในการรักษาหูดหงอนไก่ด้วยยา TCA แพทย์จะป้องกันผิวหนังโดยรอบนอกบริเวณที่ต้องการรักษาด้วยการทาครีม เจล หรือน้ำมันปิโตรเลียม แล้วจึงทายาลงบนบริเวณที่เป็นหูดและปิดแผลไว้ประมาณ 5-6 วัน โดยอาจทายานี้สัปดาห์ละครั้งเป็นเวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์ตามอาการ

การใช้ยา TCA

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังใช้ยา TCA ควรไปปรึกษาแพทย์
  • ไม่ให้บริเวณที่รักษาสัมผัสกับน้ำหลังใช้ยา TCA อย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรักษามักได้ผลดีหลังใช้ยาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา TCA แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป
  • เก็บยา TCA ให้พ้นมือเด็กที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา TCA

การใช้ยา TCA อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการกดเจ็บ แสบร้อนอย่างรุนแรง หรือเกิดการอักเสบบริเวณที่ใช้ยา เป็นต้น

ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนบริเวณที่รักษาชั่วคราว และเนื้อเยื่อรอบ ๆ บริเวณที่รักษาอาจถูกทำลายได้
  • ผิวหนังอาจเสียหายหรือเกิดแผลเป็นได้ แม้จะพบได้น้อยรายก็ตาม แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยใช้น้ำมันปิโตรเลียมทารอบบริเวณที่รักษา และหากทายานี้ในปริมาณมากเกินไป ให้ล้างบริเวณนั้นด้วยสบู่หรือสารละลายโซเดียมคาร์บอเนตทันที
  • ในบางกรณี เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายหรือเสียหายอาจมีอาการเจ็บ เป็นแผลเปื่อย และเกิดแผลตกสะเก็ดได้

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • การป้องกันหูดหงอนไก่
  • การรักษามะเร็งปากมดลูก