Drug name: mefenamic-acid

Description:

Mefenamic Acid (เมเฟนามิค แอซิด)    

Mefenamic Acid (เมเฟนามิค แอซิด)    

Share:

Mefenamic Acid (เมเฟนามิค แอซิด) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drug: NSAIDs) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ยาเอ็นเสด ใช้บรรเทาอาการปวดและการอักเสบที่มีความรุนแรงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง เช่น ปวดประจำเดือน อาการปวดจากโรคข้ออักเสบ ปวดหลังการผ่าตัด โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase: COX) ที่มีหน้าที่สังเคราะห์สารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ในร่างกาย และสารพรอสตาแกลนดินบางส่วนจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่เกิดบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหาย ตัวยาจึงช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้

เกี่ยวกับยา Mefenamic Acid

กลุ่มยา ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ ลดไข้
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน


คำเตือนของการใช้ยา Mefenamic Acid

  • ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่มีประวัติเคยเข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (บายพาสหัวใจ) เป็นโรคไต มีแผลหรือเกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ แพ้ยาในกลุ่ม NSAIDs โดยเฉพาะหากมีประวัติแพ้รุนแรง
  • ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด
  • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยา เพราะอาจส่งผลกับทารกในครรภ์
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง มีภาวะบวม มีปัญหาในช่องท้องหรือลำไส้ โรคหืด ริดสีดวงจมูก การอักเสบภายในช่องปาก มีความผิดปกติของเลือด โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
  • ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยาเมื่อร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ปริมาณสารน้ำหรือโซเดียมในร่างกายต่ำ มีประวัติการติดแอลกอฮอล์อย่างหนักหรือชอบดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเมื่อมีการรับประทานยานี้ควบคู่กับยาบางกลุ่ม เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด แอสไพริน คอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ไซโคลสปอริน ยาลดความดันโลหิต เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความระมัดระวัง การขับรถ ทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล หรือทำงานในที่สูง เนื่องจากยาชนิดนี้อาจทำให้วิงเวียนหรือง่วงนอน
  • ยาชนิดนี้อาจส่งผลต่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางประเภท จึงควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลก่อนทุกครั้งเมื่อมีการรับประทานยา
  • การใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ควรปรึกษาแพทย์และใช้ยาด้วยความระมัดระวัง
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในช่วงที่มีการใช้ยา เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาที่รุนแรงมากขึ้น

ปริมาณการใช้ยา Mefenamic Acid

ใช้บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยไปจนถึงปวดปานกลาง ปวดจากโรคข้ออักเสบหรือข้อเสื่อม ปวดฟัน อาการปวดหลังการผ่าตัด ปวดประจำเดือน หรือภาวะมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ โดยผู้ใหญ่รับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง สำหรับเด็กอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป รับประทาน ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยแบ่งรับประทาน (ไม่ควรใช้ยาเกิน 7 วัน)

การใช้ยา Mefenamic Acid

หากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัวเดิม หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์พร้อมทั้งอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนการใช้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ยานี้ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และเมื่อมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์

การเก็บยาควรเก็บในอุณหภูมิห้อง ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และเก็บไว้ในที่ที่พ้นจากมือเด็ก รวมไปถึงไม่ควรนำยาที่หมดอายุมารับประทาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Mefenamic Acid

ยา Mefenamic Acid อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก เวียนศีรษะ แสบร้อนกลางทรวงอก คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลในปาก แต่ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น อุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ชาตามแขนขา หรือเกิดการแพ้ยา ทำให้เกิดผื่น มีอาการคัน หายใจลำบาก ปาก ลิ้น หรือใบหน้าบวม ซึ่งเป็นอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์

 

 

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ :

  • กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)
  • กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
  • การป้องกันอาการปวดหัว