Illness name: คันหู

Description:

คันหู

ความหมาย คันหู

Share:

คันหู เป็นอาการคันและระคายเคืองบริเวณใบหูและภายในรูหู เนื่องจากหูเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยเส้นใยประสาทที่บอบบางและไวต่อสัมผัส จึงเกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย อาการคันหูอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการใช้หูฟัง การแพ้สารเคมี หรืออาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น หากผู้ป่วยคันหูแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

อาการคันหู

เมื่อมีอาการคันหู นอกจากจะรู้สึกถึงอาการคันและระคายเคือง อาจมีอาการอื่นที่ปรากฏขึ้นร่วมกับการคันหู ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หรืออาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากผู้ป่วยพยายามเกาหู เช่น หูบวม มีของเหลวไหลออกจากหู หรือมีไข้

สาเหตุของอาการคันหู

อาการคันหูเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ผิวแห้ง: ในการผลิตขี้หูภายในหู นอกจากจะเกิดขี้หูเพื่อป้องกันและดักจับสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในหูชั้นในแล้ว ยังเป็นการปล่อยสารที่ช่วยหล่อลื่นผิวภายในหูออกมาด้วย หากไม่มีการผลิตขี้หูในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้ผิวหนังภายในหูแห้ง ลอกออกเป็นแผ่น และทำให้เกิดอาการคันหูได้
  • ผิวหนังอักเสบภายในช่องหู: ผิวหนังภายในหูเกิดการอักเสบเนื่องจากอาการแพ้ต่อสารและผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ใช้ในหูหรือใกล้กับบริเวณหู เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลทำความสะอาดหู แพ้สารประกอบที่ใช้ทำต่างหู เช่น เงินหรือโลหะอื่น เป็นต้น
  • หูชั้นนอกอักเสบหรือติดเชื้อ: หลังเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ หูบริเวณนั้นจะเกิดอาการบวมแดง อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและอาการคันหูได้
  • การใช้หูฟังหรืออุปกรณ์ช่วยฟัง: อาจทำให้เกิดน้ำอุดตันภายในหู หรือผิวหนังบริเวณหูอาจเกิดอาการแพ้ต่ออุปกรณ์ช่วยฟัง โดยเฉพาะหูฟังที่หลวม จะทำให้เกิดแรงกดบริเวณเดิม ๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการคันได้
  • สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู: อาจมีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปหรืออุดตันภายในหู ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและคันหู
  • โรคสะเก็ดเงิน: เป็นโรคผิวหนังที่ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง และอาจเกิดขึ้นภายในหู จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการคันได้เช่นกัน

การวินิจฉัยอาการคันหู

หากเกิดอาการคันหูขึ้น แล้วมีอาการรุนแรงขึ้นไม่ทุเลาลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือมีอาการอื่นที่รุนแรงเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากหู หูดับ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการคันหู แล้วทำการตรวจดูบริเวณหูและภายในช่องหูว่ามีการอักเสบบวม มีผดผื่นบริเวณผิวหนังภายในหู หรือมีขี้หูอุดตันอยู่หรือไม่ รวมทั้งตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ผู้ป่วยมีไข้ด้วยหรือไม่ เพื่อตรวจหาความผิดปกติและตรวจดูสัญญาณการติดเชื้อ หากพบความผิดปกติใด ๆ แพทย์อาจส่งตรวจด้วยขั้นตอนอื่นตามการวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันหูต่อไป

การรักษาอาการคันหู

อาการคันหูมักเกิดจากผิวหนังและเนื้อเยื่อภายในหูได้รับความเสียหายจากสาเหตุปัจจัยต่าง ๆ หากผู้ป่วยคันหูจากการแพ้สาร ผู้ป่วยควรหยุดใช้สารนั้น หรือวัตถุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น หูฟัง เครื่องประดับ ยาหยอดหู

เมื่อแพทย์วินิจฉัยถึงสาเหตุและลักษณะอาการแล้ว จึงจะแนะนำหรือทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยแพทย์อาจทำความสะอาดนำสิ่งสกปรกที่ตกค้างหรืออุดตันภายในหูออกไป แล้วจ่ายยารักษาดังต่อไปนี้

  • เบบี้ออยล์ เป็นน้ำมันทาผิวสำหรับเด็ก ที่เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ช่วยทำให้ผิวภายในหูนุ่มลง บรรเทาอาการผิวแห้งแตกที่ทำให้เกิดการคันหู
  • ยาปฏิชีวนะแบบครีมขี้ผึ้ง ใช้ทาภายในหู เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ
  • ยาสเตียรอยด์แบบครีมขี้ผึ้ง ใช้ทาภายในหู เพื่อลดอาการอักเสบ เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน หรือ ครีมเบตาเมทาโซน
  • ยาหยอดหูเพื่อฆ่าเชื้อและรักษาอาการอักเสบภายในหู เช่น ยาหยอดหูสำหรับนักว่ายน้ำ สารละลายรับบิ้งแอลกอฮอล์ กรดอะซีติก หรือไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์
  • ยาปฏิชีวนะอื่น ๆ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในผู้ป่วยบางรายที่คันหูร่วมกับมีไข้สูง มีเลือด หรือหนองไหลออกจากหูด้วย

หลังการรักษา ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องใช้ยาแต่ละประเภทอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยา และผู้ป่วยที่มีอาการป่วยและความเสียหายบริเวณเยื่อแก้วหู ต้องไม่ใช้ยาหยอดหูหรือครีมชนิดใดภายในหูโดยเด็ดขาดหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของอาการคันหู

เมื่อมีอาการคันหู อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่มาของอาการคันหูที่เกิดขึ้นด้วย เช่น การติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจลุกลามและสร้างความเสียหายแก่ประสาทหูหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรืออาจเกิดอาการแพ้จากการใช้ยาหยอดหูเพื่อรักษาอาการ อย่างการแพ้ยาปฏิชีวนะ หรือแพ้สารที่เป็นวัตถุกันเสียในยาชนิดนั้น เป็นต้น หากผู้ป่วยพบสัญญาณอาการสำคัญที่เกิดขึ้นหลังมีอาการคันหู ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที

การป้องกันอาการคันหู

  • ใช้ต่างหูและเครื่องประดับที่ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอาการคันหูได้
  • หากต้องว่ายน้ำเป็นประจำ ควรใช้สารละลายหยอดหู เพื่อทำให้น้ำที่เข้าไปในหูแห้งลง
  • หากมีขี้หูอุดตันปริมาณมาก ควรใช้ยาหยอดหูเพื่อกำจัดขี้หูเหล่านั้น หรือใช้ลูกสูบยางแดง เพื่อดูดกำจัดขี้หูออกมา โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงขั้นตอนวิธีการที่ถูกต้องก่อนเสมอ
  • ในขณะที่มีอาการคันหู เพื่อป้องกันการอักเสบระคายเคืองที่อาจเพิ่มมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อแคะหรือเช็ดทำความสะอาดภายในหู เช่น สำลีก้าน สำลีก้อน กิ๊บเสียบผม หรือสิ่งที่มีความแหลมคมอย่างลวดหนีบกระดาษ เป็นต้น