Illness name: การรักษาภาวะอ้วน

Description:

อ้วน
  • ความหมาย
  • อาการของภาวะอ้วน
  • สาเหตุของภาวะอ้วน
  • การวินิจฉัยภาวะอ้วน
  • การรักษาภาวะอ้วน
  • ภาวะแทรกซ้อนของภาวะอ้วน
  • การป้องกันภาวะอ้วน

การรักษาภาวะ อ้วน

Share:

หากผู้ป่วยมีภาวะอ้วนอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ แพทย์ต้องทำการรักษาภาวะอ้วนตามโรคและอาการที่เป็นสาเหตุในเบื้องต้นก่อน ส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนจากปัจจัยอื่น ๆ สามารถรักษาได้ ดังนี้

การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การปรับพฤติกรรมการกินช่วยลดน้ำหนักและควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายจะได้รับ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีในระยะยาว เริ่มจากการศึกษาปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน แคลอรี่ที่ได้จากอาหารแต่ละชนิด แล้ววางแผน ตั้งเป้าหมาย ควบคุมน้ำหนักและลดปริมาณแคลอรี่ลงภายใน 6 เดือน อย่างการจัดทำเมนูอาหารในแต่ละวันตามปริมาณแคลอรี่และสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับอย่างเหมาะสม

สำหรับผู้ชายที่ต้องการลดน้ำหนัก ควรบริโภค 1,500-1,800 แคลอรี่/วัน ส่วนผู้หญิงควรบริโภคแคลอรี่ 1,200-1,500 แคลอรี่/วัน

ตัวอย่างปริมาณแคลอรี่ในอาหารจานเดียว

  • ข้าวมันไก่ ปริมาณ 259 กรัม มีพลังงาน 619 แคลอรี่
  • ข้าวผัดหมู ปริมาณ 315 กรัม มีพลังงาน 581 แคลอรี่
  • ข้าวหมูแดง + น้ำราด ปริมาณ 352 กรัม มีพลังงาน 521 แคลอรี่
  • ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กน้ำ หมู ปริมาณ 507 กรัม มีพลังงาน 401 แคลอรี่
  • ขนมจีนแกงเขียวหวาน ปริมาณ 370 กรัม มีพลังงาน 416 แคลอรี่
  • ขนมจีนน้ำยากะทิ ปริมาณ 342 กรัม มีพลังงาน 346 แคลอรี่
  • ขนมจีนน้ำเงี้ยว ปริมาณ 480 กรัม มีพลังงาน 308 แคลอรี่
  • สุกี้ไก่ น้ำ ปริมาณ 540 กรัม มีพลังงาน 253 แคลอรี่
  • เกี๊ยวน้ำ ปริมาณ 523 กรัม มีพลังงาน 141 แคลอรี่

ในการลดน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงและลดการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีไขมันสูงและมีน้ำตาล อย่างอาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด น้ำหวาน น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ เพราะอาหารบางชนิด แม้จะรับประทานในปริมาณน้อย แต่มีปริมาณแคลอรี่และน้ำตาลสูง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักหรือปริมาณมากอย่างอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ด้วย ควรเน้นรับประทานพวกธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้ เพราะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ สามารถรับประทานได้ในปริมาณมาก มีแคลอรี่ต่ำ แต่มีสารอาหารที่จำเป็นอย่างแคลเซียมและวิตามินสูง และควรเลือกรับประทานแต่เนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน นมไขมันต่ำหรือพร่องมันเนย เพื่อลดการสะสมไขมันภายในร่างกาย

หลังผ่านไป 6 เดือน และแผนการลดน้ำหนักประสบความเร็จ ให้ควบคุมอาหารต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ปี เพื่อปรับสภาพร่างกายให้คงที่และเคยชินกับการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม จากนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ ให้พลังงานในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และไม่รับประทานอาหารแคลอรี่สูงจนเสี่ยงต่อการสะสมของไขมันที่จะทำให้เกิดภาวะอ้วนได้

ทั้งนี้ ไม่ควรอดอาหาร หรือลดปริมาณแคลอรี่ลงทันที อย่างการรับประทานโปรตีนแท่งทดแทนมื้ออาหาร เพราะแม้จะช่วยให้ลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่วิธีการรักษาดูแลสุขภาพของภาวะอ้วนในระยะยาว อาจส่งผลเสียต่อร่างกายจากปริมาณอาหารและแคลอรี่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อหยุดใช้วิธีดังกล่าว ก็จะทำให้กลับมามีพฤติกรรมการกินที่นำไปสู่ภาวะอ้วนได้เช่นเดิม

การออกกำลังกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วน ต้องออกกำลังกายมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ในร่างกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา การออกกำลังกายเฉพาะส่วน อย่างการใช้เครื่องออกกำลังกาย การยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกายแบบผสมผสานกันหลายประเภท แม้จะยากลำบากในตอนเริ่มต้น เพราะอาจมีความปวดเมื่อยเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อแต่ละส่วน แต่เมื่อออกกำลังกายไปสักระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายจะเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น อาจเพิ่มเวลาในการออกกำลังกายขึ้นเป็น 300 นาที/สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ตามความเหมาะสมต่อสภาพร่างกาย

การออกกำลังกายไม่ได้จำกัดแต่เพียงในโรงยิม เพราะสามารถเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันให้เป็นการออกกำลังกายไปในขณะเดียวกันได้ด้วย เช่น การยืดเส้นยืดสายหลังตื่นนอน การทำงานบ้านด้วยตนเอง ลดการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกลง การเดินให้มากขึ้น อย่างเดินไปเรียน ไปทำงาน หรือจอดรถในที่จอดไกล ๆ แล้วเดินไปยังจุดหมายแทน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้ชีวิตล้วนส่งผลต่อภาวะอ้วนทั้งสิ้น หากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตนเองเป็นเรื่องที่ยากลำบาก หรือมีสภาวะทางจิตใจที่ไม่มั่นคงและต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้เผชิญภาวะอ้วนทำความเข้าใจกับปัญหาของตน ตระหนักถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมา ความสำคัญของการรักษา หาวิธีจัดการความเครียดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น แล้ววางแผนรักษาและดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้

การเข้ากลุ่มบำบัด ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วนเช่นเดียวกัน และมีประสบการณ์คล้ายกัน ได้มาเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แล้วตั้งเป้าหมายวางแผนการลดน้ำหนักร่วมกันภายใต้การดูแลของแพทย์

การใช้ยาลดน้ำหนัก ในบางรายที่มีข้อจำกัดสำคัญทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผล แพทย์อาจจ่ายยาลดน้ำหนักให้เพื่อรักษาอาการ เช่น ผู้ป่วยที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 28 ขึ้นไปที่ป่วยด้วยความดันโลหิตสูง หรือเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 จึงไม่สามารถออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก ๆ หรือไม่สามารถออกกำลังกายเป็นเวลานาน ๆ ได้

ปัจจุบันยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนกำลังอยู่ในขั้นทดสอบ แต่มีเพียงยาชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพทางการรักษาภาวะอ้วน คือ Orlistat ยาตัวนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมไขมันจากอาหารที่กินประมาณ 1 ใน 3 ส่วน แต่จะส่งผ่านไขมันไปยังระบบขับถ่ายแทน ผู้ป่วยควรควบคุมการกินและการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการใช้ยา และแม้หยุดใช้ยาก็ต้องควบคุมพฤติกรรมของตนต่อไปเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้อีก

Orlistat เป็นยาแคปซูลสำหรับรับประทานก่อนหรือหลังอาหารมื้อหลักหนึ่งชั่วโมง หรือรับประทานพร้อมมื้ออาหาร ใช้ยาไม่เกินวันละ 3 แคปซูล หลังใช้ยา น้ำหนักของผู้ป่วยจะลดลงประมาณ 5% ภายใน 3 เดือน แต่หากน้ำหนักไม่ลดลงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาอื่นที่ได้ผล

การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ภายใต้ใบสั่งแพทย์เท่านั้น และรับประทานยาตามที่กำหนด หลังใช้ยาอาจเห็นผลน้อยหรือช้าหากมีอาการป่วยโรคอื่นร่วมด้วย ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัญหาสุขภาพที่กำลังเผชิญและยาหรือการรักษาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันก่อนใช้ยาลดน้ำหนัก และอาจมีผลข้างเคียงอย่างปวดหัว ปวดท้อง อุจจาระบ่อย อุจจาระมีไขมันปน มีไขมันไหลออกจากทวาร เป็นต้น ที่สำคัญคือไม่ควรใช้ยาลดน้ำหนักเองเด็ดขาด เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิตหากใช้ยาไม่ถูกต้องหรือใช้เกินขนาด

การผ่าตัดลดความอ้วน (Bariatric Surgery) แพทย์จะมีดุลยพินิจให้ผู้ป่วยภาวะอ้วนอย่างรุนแรงบางรายเข้ารับการผ่าตัด อย่างผู้ที่มีค่า BMI สูง ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI 35-40 ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง จำเป็นต้องรักษาด้วยการลดน้ำหนักทันที เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานประเภทที่ 2 ผู้ที่รักษาภาวะอ้วนด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดลดความอ้วนมีหลายวิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Roux-en-Y Gastric Bypass เป็นวิธีการผ่าตัดสร้างถุงที่กระเพาะอาหารส่วนบน และตัดลำไส้เล็กที่อยู่ด้านล่างของกระเพาะอาหารนำมาเชื่อมต่อกับถุงที่สร้างไว้ ทำให้อาหารที่รับประทานจะถูกส่งไปยังลำไส้โดยตรง วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Laparoscopic Adjustable Gastric Banding (LAGB) แพทย์จะผ่าตัดนำห่วงที่ยืดหยุ่นได้ไปรัดกระเพาะแบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่ว่างในกระเพาะอาหารจึงลดลง ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้อยลงเพราะอิ่มเร็วขึ้น ห่วงนี้จะคงอยู่ได้อย่างถาวร โดยที่สามารถปรับขนาดและยืดขยายได้ในภายหลัง
  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Gastric Sleeve เป็นการผ่าตัดเอาบางส่วนของกระเพาะอาหารออกไป ให้เหลือเพียงกระเพาะอาหารที่เล็กลง เป็นวิธีการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า 2 วิธีแรก และผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะมีกระเพาะอาหารที่เล็กลง
  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Biliopancreatic Diversion with Duodenal Switch แพทย์จะทำการผ่าตัดผนังกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออก ให้มีเพียงกระเพาะอาหารบางส่วนที่ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม โดยกระเพาะอาหารส่วนนี้จะถูกนำไปต่อกับลำไส้เล็กส่วนบน ในขณะที่กระเพาะอาหารส่วนที่ถูกผ่าแยกออกไปจะถูกนำไปเชื่อมกับลำไส้เล็กส่วนล่าง เพื่อให้ยังคงมีกระบวนการย่อยอาหารที่ลำไส้ส่วนนี้
การวินิจฉัยภาวะ อ้วน
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะ อ้วน