Illness name: Pilonidal Cyst

Description:

ความหมาย ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น (Pilonidal Cyst)

Pilonidal Cyst หรือก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น เป็นภาวะผิดปกติทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูน โดยภายในตุ่มนูนจะมีขน เศษผิวหนังที่ตายแล้ว และของเหลวอุดตันอยู่ ส่วนมากจะพบ Pilonidal Cyst ที่บริเวณเหนือร่องก้นหรือก้นกบ

โดยทั่วไป Pilonidal Cyst ธรรมดามักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ หรือนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่รุนแรง แต่หากเกิดการติดเชื้อขึ้นจนกลายเป็นฝี มีหนองสะสม และเกิดโพรงใต้ผิวหนัง จะส่งผลให้เกิดอาการปวดและบวมอย่างรุนแรงได้

อาการของ Pilonidal Cyst 

ผู้ที่ป่วยเป็น Pilonidal Cyst มักไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ นอกจากเกิดรอยตุ่มนูนบริเวณก้นกบหรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่รอยตุ่มนูนดังกล่าวเกิดการติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติบางอย่างทางร่างกาย เช่น เจ็บหรือปวดบริเวณรอยตุ่มนูน รอยตุ่มนูนมีอาการบวมแดง มีหนองที่ส่งกลิ่นเหม็นหรือเลือดไหลออกมาจากบริเวณรอยตุ่มนูนและบริเวณใกล้เคียง และมีไข้ เป็นต้น

แม้ส่วนมาก Pilonidal Cyst จะไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติหรืออาการที่พบอาจดูไม่รุนแรง แต่หากเกิดอาการผิดปกติในลักษณะข้างต้น ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และรับคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สาเหตุของ Pilonidal Cyst 

ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของ Pilonidal Cyst อย่างแน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นผลมาจากการที่มีเส้นขนและเศษเนื้อที่ตายแล้วเข้าไปอุดตันอยู่ภายใต้ผิวหนัง โดยมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอุดตันมากขึ้น เช่น การทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเสียดสีกันของผิวหนัง การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป และการนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมาก เป็นต้น

เมื่อภายในผิวหนังมีเส้นขนและเซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมอยู่จนอุดตัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองโดยการผลิตของเหลวออกมามากขึ้นที่บริเวณดังกล่าวจนส่งผลให้เกิดก้อนตุ่มนูนหรือภาวะ Pilonidal Cyst

นอกจากนี้ Pilonidal Cyst ยังพบได้มากในผู้ชายอายุ 20–30 ปี และคนที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น มีภาวะอ้วน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายน้อยหรือนั่งท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน มีขนตามร่างกายมากโดยเฉพาะคนที่มีขนหนาหรือหยาบ เหงื่อออกมากเป็นประจำ สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดบริเวณก้นกบแน่นจนเกินไป มีรอยบุ๋มบริเวณก้นกบมาแต่กำเนิด และคนในครอบครัวเคยเกิด Pilonidal Cyst เป็นต้น

การวินิจฉัย Pilonidal Cyst 

แพทย์มักวินิจฉัย Pilonidal Cyst ได้จากการสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น ระยะเวลาที่พบอาการ ประวัติการเกิดอาการลักษณะดังกล่าว และประวัติการใช้ยาต่าง ๆ ร่วมกับการตรวจดูบริเวณรอยตุ่มนูน โดยมักไม่จำเป็นต้องใช้วิธีตรวจทางการแพทย์ใด ๆ เพิ่มเติม

ในบางกรณีที่พบได้น้อย แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจบางอย่างร่วมด้วยเพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น ซีที สแกน (CT Scan) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) บริเวณรอยตุ่มนูน เพื่อตรวจดูว่าภายใต้ผิวหนังของผู้ป่วยเกิดเป็นโพรงหรือไม่ เป็นต้น

การรักษา Pilonidal Cyst

โดยปกติหากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ จาก Pilonidal Cyst หรือาการไม่รุนแรง แพทย์มักไม่จำเป็นต้องรักษาผู้ป่วย แต่หากเกิดการติดเชื้อบริเวณดังกล่าว มีอาการปวด หรือมีอาการอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องรับการรักษา แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของการติดเชื้อในแต่ละคน 

  • กรณีที่การติดเชื้อไม่รุนแรง แพทย์อาจเพียงแนะนำให้ผู้ป่วยแช่น้ำอุ่น ประคบอุ่น ใช้ครีมกำจัดขน รับประทานยาปฏิชีวนะ และนัดตรวจเพื่อติดตามอาการเท่านั้น
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดเพื่อระบายหนอง เลือด และเส้นขนที่อุดตันอยู่ จากนั้นอาจเย็บปิดแผลเพื่อช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้นหรือไม่เย็บแผลเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำ พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

ภายหลังการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำความสะอาดแผลอย่างสม่ำเสมอ รักษาความสะอาดของผิวหนังส่วนนั้นเป็นพิเศษหลังแผลหายแล้ว และหากผู้ป่วยมีขนตามร่างกายมากก็อาจแนะนำให้โกนขนบริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงออก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด Pilonidal Cyst ซ้ำ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงในการเกิดตุ่มนูนซ้ำภายหลังการรักษา แพทย์อาจพิจารณานัดผู้ป่วยเพิ่มเติมเพื่อทำการผ่าตัดกำจัดก้อนถุงน้ำของผู้ป่วยทั้งหมด

ภาวะแทรกซ้อนของ Pilonidal Cyst

ภาวะ Pilonidal Cyst ทั่วไปมักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เพียงแค่ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก แต่กรณีที่เกิดการติดเชื้ออย่างเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา (Squamous Cell Carcinoma) ได้

การป้องกัน Pilonidal Cyst

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุของ Pilonidal Cyst ที่แน่ชัด การป้องกันจึงทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการรักษาความสะอาดและเช็ดผิวหนังบริเวณก้นให้แห้งเสมอ หมั่นออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก ลุกขึ้นเดินหรือเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวันบ่อย ๆ โดยเฉพาะวันที่ต้องนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และคนที่มีขนขึ้นตามร่างกายมากอาจกำจัดขนตามร่างกายให้สั้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณก้น