Illness name: ฟันเก

Description:

ฟันเก

ความหมาย ฟันเก

Share:

ฟันเก คือ อาการที่ฟันไม่ได้เรียงตามแนวปกติส่งผลให้ทำความสะอาดช่องปากได้ยาก อาจทำให้พูดไม่ค่อยชัด ฟันเกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ป่วยมีขากรรไกรบนและล่างไม่เท่ากันหรือลักษณะช่องปากของผู้ป่วยเล็กจนทำให้ฟันที่ขึ้นมานั้นเบียดกัน เป็นต้น ส่วนใหญ่ฟันเกเกิดจากลักษณะทางพันธุกรรมที่ได้มาจากพ่อหรือแม่ แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้  หากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาหรือไปพบแพทย์ อาจส่งผลให้เกิดฟันผุหรือปัญหาโรคเหงือกตามมาได้

อาการฟันเก

อาการฟันปรากฏให้เห็นได้จากรูปลักษณะ เช่น การเรียงตำแหน่งที่ผิดปกติของฟันหรือความผิดปกติของลักษณะใบหน้า ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจ นอกจากนี้ อาจมีอาการเคี้ยวหรือกัดไม่ถนัด หรือพูดไม่ค่อยชัดร่วมด้วย

สาเหตุของฟันเก

นอกจากเป็นของลักษณะทางพันธุกรรมแล้ว ฟันเกเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • มีขากรรไกรบนและล่างไม่เท่ากัน
  • ช่องปากเล็กจนทำให้ฟันที่ขึ้นมานั้นเบียดกัน
  • เคยได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนส่งผลให้ขากรรไกรไม่สมดุล
  • มีแรงกดบริเวณฟันและเหงือกมากเกินไป
  • สูญเสียฟันน้ำนมหรือฟันแท้ก่อนกำหนด
  • การบูรณะฟันที่ไม่เหมาะหรือไม่พอดี เช่น การอุดฟันหรือการครอบฟัน
  • เป็นโรคเหงือกอักเสบ
  • มีเนื้องอกที่ปากหรือขากรรไกร
ปัญหาสุขภาพในช่องปากอื่น ๆ จากพฤติกรรมในวัยเด็กอาจเป็นสาเหตุของฟันเกได้ เช่น
  • การดูดนิ้วมือ
  • ใช้ลิ้นดันหรือดุนฟันบ่อย ๆ เป็นเวลานาน
  • ใช้จุกนมปลอมสำหรับเด็กจนอายุเลย 3 ขวบ
  • ใช้ขวดนมเป็นเวลานาน
การวินิจฉัยฟันเก

การตรวจทันตกรรมทั่วไป เช่น การตรวจ ปาก ฟัน ขากรรไกรและลักษณะใบหน้าของผู้ป่วยจะช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่าผู้ป่วยมีฟันเกหรือไม่ และแพทย์อาจมองหาจากอาการดังกล่าว

หากต้องวินิจฉัยเพิ่มเติม แพทย์อาจถ่ายภาพลักษณะใบหน้าของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจสอบความสัมพันธ์ของฟัน ขากรรไกร และศีรษะ ผู้ป่วยอาจต้องพิมพ์ปาก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกัดลงบนวัสดุที่จะถูกนำมาสร้างเป็นสำเนาฟันที่ถูกต้อง นอกจากนี้แพทย์อาจเอกซเรย์เพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเหมาะกับการรักษาแบบไหน ภาพเอกซเรย์ของใบหน้าและฟันของผู้ป่วยจะแสดงข้อมูลตำแหน่งของฟันและรากฟันหรือฟันอื่น ๆ ที่กำลังขึ้นมาจากเหงือก และการเอกซเรย์ฟันทั้งปาก (Panoramic) และการเอกซเรย์กระโหลกศีรษะแบบพิเศษ (Cephalometrics) เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของฟันต่อขากรรไกรและขากรรไกรต่อศีรษะ นับเป็นการเอกซเรย์แบบพิเศษที่จะถูกนำประกอบการวินิจฉัยด้วย

การรักษาฟันเก

การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฟันเก ในกรณีที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจใช้เพียงรีเทนเนอร์แบบถอดได้เพื่อให้ฟันเรียงกันตามแนวปกติ สำหรับผู้ป่วยซึ่งประสบปัญหาฟันเบียดกันเกินไป อาจต้องถอนฟันออกหนึ่งซี่หรือมากกว่านั้น การผ่าตัดอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีรุนแรงซึ่งพบไม่บ่อยนัก เช่น ขากรรไกรบนหรือล่างของผู้ป่วยยื่นออกมามากเกินไป

อีกวิธีหนึ่งที่มักนำมาใช้ในการรักษาฟันเกคือ การจัดฟัน การจัดฟันแต่ละประเภทนั้นเหมาะกับแต่ละปัญหาแตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนถึงความจำเป็นเฉพาะบุคคลและลักษณะของฟัน เพื่อการจัดฟันที่ดีที่สุด โดยประเภทของการจัดฟันมีดังนี้

การจัดฟันแบบติดแน่น (Fixed Braces)

แผ่นทันตกรรมจัดฟันขนาดเล็กที่เรียกว่า แบร็กเกต (Brackets) จะถูกติดโดยกาวชนิดพิเศษบริเวณด้านหน้าของฟันแต่ละซี่ ทั้งหมดจะถูกโยงด้วยลวดทันตกรรมจัดฟันและยึดด้วยยาง แผ่นทันตกรรมจัดฟันมีทั้งแบบพอร์สเลนฟัน (Porcelain) ที่เป็นเซรามิคสีเดียวกับฟันและแบบโลหะที่ผู้ป่วยสามารถเลือกยางสีสันต่าง ๆ ได้ การจัดฟันแบบไม่ใช้ยาง (Self-Ligating) เป็นวิธีการใหม่ที่จะยึดลวดทันตกรรมให้อยู่กับที่ และมีคุณสมบัติในการช่วยให้การจัดฟันเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

การจัดฟันแบบใสถอดได้ (Invisible Aligners)

การจัดฟันแบบนี้เหมาะจะใช้ในกรณีที่ไม่รุนแรง และเป็นการจัดฟันที่สังเกตแทบไม่เห็นตัวอุปกรณ์ ช่วยจัดฟันให้ตรงตามแนวปกติได้โดยการใส่ไว้ตลอดเวลา จะถอดออกมาก็ต่อเมื่อรับประทานอาหารหรือแปรงฟันเท่านั้น ตัวอุปกรณ์จัดฟันนี้จะถูกเปลี่ยนทุก ๆ  2 สัปดาห์ จนกว่าการดัดฟันจะเสร็จสมบูรณ์

การจัดฟันด้านใน (Lingual Braces)

วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยวัยรุ่นที่ค่อนข้างมีอายุหรือผู้ใหญ่ที่กังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของอุปกรณ์จัดฟัน เพราะการจัดฟันด้านในเป็นการจัดฟันแบบติดแน่นอยู่บริเวณด้านหลังของฟันและจะไม่ปรากฏอุปกรณ์ใดใดออกมาเลยเมื่อผู้ป่วยยิ้ม

การจัดฟันบางประเภทอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี และต้องพบแพทย์ทุก ๆ 4-8 สัปดาห์ การจัดฟันบางชนิดไม่สามรถถอดอุปกรณ์ออกได้จนกว่าการจัดฟันจะเสร็จสมบูรณ์ ผู้ป่วยจึงต้องรักษาสุขอนามัยในช่องปากให้ดี เช่น การพกแปรงสีฟันติดตัวไว้เสมอ แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารหรือขนม และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่แข็งและเหนียว

หลังจากเสร็จสิ้นการจัดฟัน ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่รีเทนเนอร์เพื่อให้ฟันยังคงอยู่ในตำแหน่งที่จัดฟันไว้ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยเอง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ควรใส่รีเทนเนอร์ไว้ตอนนอนตลอดชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ฟันจะกลับมาเกอีกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของฟันเก

การที่ฟันไม่เรียงตามแนวปกติทำให้รักษาความสะอาดในช่องปากได้ยากและไม่ทั่วถึง หากไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ฟันผุ ฟันร่วง และโรคเหงือกอักเสบได้ และหากฟันอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นไปได้ว่าการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรผิดปกติและการสบฟันผิดปกติ ส่งผลให้มีปัญหาต่อการเคี้ยว พูด เกิดการกร่อนของเคลือบฟันหรือปัญหาต่อขากรรไกรตามมา

การป้องกันฟันเก

ผู้ป่วยบางรายฟันเกเพราะเป็นลักษณะทางพันธุกรรมจึงทำให้การป้องกันเป็นเรื่องยาก แต่การลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อขากรรไกรสามารถป้องกันได้ เช่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจมีแนวโน้มทำให้ขากรรไกรได้รับบาดเจ็บ หรือสำหรับเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรจำกัดการใช้ขวดนมหรือจุกนมปลอม