Illness name: การรักษาเหา

Description:

เหา
  • ความหมาย
  • อาการของเหา
  • สาเหตุของเหา
  • การวินิจฉัยเหา
  • การรักษาเหา
  • ภาวะแทรกซ้อนของเหา
  • การป้องกันเหา

การรักษา เหา

Share:

การรักษาเหาเป็นสิ่งที่ทำเองได้ที่บ้านด้วยการใช้ยาหรือวิธีอื่น ๆ เช่น การสางผม การใช้ยา เป็นต้น โดยการรักษาแต่ละวิธีแตกต่างกันออกไป ดังนี้

การสางผมด้วยหวีสางเหา (Wet-combing)

การสางผมขณะที่เปียกด้วยหวีสางเหาซึ่งมีซี่หวีถี่กว่าปกติจะช่วยกำจัดเหาและไข่เหาบางส่วน ก่อนสางผมควรชะโลมครีมนวดผมที่มีสีขาวลงบนผมที่แห้ง เพื่อให้ผมง่ายต่อการสาง ช่วยให้เห็นเหาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้เหาเคลื่อนที่ได้ช้าลง จากนั้นแบ่งผมแล้วสางผมตั้งแต่หนังศีรษะจนถึงปลายผมใน 4 ทิศทาง คือ หวีไปด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้ายและขวา จากนั้นนำหวีไปเช็ดกับผ้าสะอาดเพื่อตรวจสอบว่ามีเหาอยู่หรือไม่ วิธีนี้ควรทำซ้ำอย่างน้อยทุก ๆ 1 - 2 วัน ติดต่อกันประมาณ 10 วัน หรือจนกว่าจะไม่พบเหาบนหนังศีรษะ

การใช้น้ำมันหอมระเหย (Essential oil)

มีการศึกษาทางการแพทย์พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากพืชบางชนิดอาจเป็นพิษกับเหาและไข่เหา ได้แก่ น้ำมันต้นทีทรี น้ำมันโปยกั๊ก น้ำมันกระดังงา แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันที่ก่อให้เกิดประกายไฟได้ เช่น เคโรซีน หรือน้ำมันเบนซิน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคนใกล้ชิดหรือแพทย์เป็นพิเศษ เนื่องจากการใช้น้ำมันหอมระเหยในเด็กอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ได้

การใช้ยา ปัจจุบันมียารักษาโรคเหาทั้งชนิดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และตามใบสั่งของแพทย์ โดยยาส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปใช้ทาภายนอก และยาเม็ด กลไกการออกฤทธิ์คือจะออกฤทธิ์ในการฆ่าเหาที่อยู่บนหนังศีรษะ ทว่าการใช้ยาจะไม่ช่วยกำจัดเหาได้หมดในคราวเดียว อาจต้องใช้ซ้ำ เนื่องจากยารักษาเหาช่วยกำจัดได้เพียงตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัยเท่านั้น ส่วนไข่เหา ต้องรอให้ฟักเป็นตัวประมาณ 7 - 10 วันก่อน จึงจะกำจัดให้หมดได้ ดังนั้น จึงควรใช้ยาซ้ำอีกครั้งในช่วง 7-10 วัน ทั้งนี้ยารักษาโรคเหานั้นมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และมีข้อห้ามใช้สำหรับบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้

  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  • ผู้ป่วยโรคหอบหืด ลมชัก หรือแพ้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง มีปัญหาหนังศีรษะ หรือมีผิวที่ไวต่อสารต่าง ๆ
  • สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร

ยารักษาโรคเหา มีดังนี้

  • เพอร์เมทริน (Permethrin) เป็นยารักษาโรคเหาที่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ต้องระมัดระวังผลข้างเคียง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ หรือหนังศีรษะเป็นรอยแดงได้ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ดอกเก็กฮวย หรือแพ้หญ้าแร็กวีด (Ragweed)
  • ไพรีทริน (Pyrethrins) ยารักษาโรคเหาที่ผลิตจากไพรีทรินผสมกับสารเคมีต่าง ๆ ช่วยในการฆ่าเหา สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ดอกเก็กฮวย หรือแพ้หญ้าแร็กวีด (Ragweed) นอกจากนี้ ตัวยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น เกิดอาการคัน หรือมีรอยแดงบนหนังศีรษะ ยาชนิดนี้นอกจากใช้ภายนอกแล้วอาจอยู่ในรูปของยาสระผมด้วย
  • มาลาไทออน (Malathion) เป็นยากำจัดเหาที่ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในรูปของยาสระผม ใช้สระผมแล้วปล่อยทิ้งไว้ 8 - 12 ชั่วโมง จากนั้นล้างออก ทั้งนี้ ตัวยาดังกล่าวมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ไดร์เป่าผมขณะที่ใช้ยา และควรเก็บรักษาให้ห่างจากวัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ
  • คาบาริล (Carbaryl) เป็นยาที่ใช้ในการกำจัดเหา โดยตัวยาจะเข้าไปทำลายระบบประสาทของเหาจนตายลงในที่สุด อีกทั้งยังทำลายไข่เหาได้ ซึ่งในปัจจุบันยาชนิดนี้มักผสมระดับความเข้มข้นต่ำอยู่ในรูปของยาสระผม และครีม ทว่ายาชนิดใช้ภายนอกนี้ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิวหนัง อาการแพ้ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรเก็บให้ห่างจากวัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ

ทั้งนี้ยาส่วนใหญ่ที่ใช้ในการรักษามักเป็นยาทาภายนอก เนื่องจากอาการของโรคเหาเกิดขึ้นภายนอก ไม่ค่อยนิยมใช้ยาชนิดรับประทานมากนัก เนื่องจากส่งผลข้างเคียงมากกว่า ในปัจจุบันตัวยาข้างต้นมักมีผสมในแชมพูสำหรับเหา จึงทำให้คนนิยมใช้แชมพูในการกำจัดเหามากขึ้น เนื่องจากหาซื้อง่ายและใช้สะดวกมากกว่าวิธีอื่น ๆ

การทำความสะอาดบ้าน

เหามีชีวิตอยู่นอกร่างกายมนุษยได้ไม่เกิน 2 วันเท่านั้น และไข่ของเหาไม่สามารถฟักได้หากไม่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ดังนั้น โอกาสที่เหาจะอาศัยอยู่ในของใช้หรืออาศัยอยู่ในบ้านนั้นเป็นไปได้น้อยมากหากพบว่ามีบุคคลที่อาศัยภายในบ้านเป็นโรคเหาควรทำความสะอาดบ้านโดยเร็วเพื่อไม่ให้เหาหรือไข่เหาที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถติดต่อไปสู่บุคคลอื่นได้ หรืออาจใช้วิธีไปอาศัยอยู่ที่อื่นสัก 2-3 วันเนื่องจากเหาจะไม่อยู่ในที่ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่

นอกจากนี้ ยังมีสูตรการกำจัดเหาอื่น ๆ ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเหาได้ เช่น เจลปิโตรเลียม เนย น้ำมันมะกอก หรือแม้แต่มายองเนส โดยนำมาหมักผมทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออก แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าช่วยได้จริงหรือไม่ อีกทั้งยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าการใช้สเปรย์ฉีดแมลงจะช่วยรักษาเหาได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ห้ามใช้สเปรย์ฉีดแมลงไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น  ในขณะที่สมุนไพรไทยบางชนิดช่วยกำจัดเหาได้ เช่น ใบน้อยหน่า ยาฉุน ใบยอ เป็นต้น แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย

การวินิจฉัย เหา
ภาวะแทรกซ้อนของ เหา