Illness name: การป้องกันหูดหงอนไก่

Description:

หูดหงอนไก่
  • ความหมาย
  • อาการของหูดหงอนไก่
  • สาเหตุของหูดหงอนไก่
  • การวินิจฉัยหูดหงอนไก่
  • การรักษาหูดหงอนไก่
  • ภาวะแทรกซ้อนของหูดหงอนไก่
  • การป้องกันหูดหงอนไก่

การป้องกัน หูดหงอนไก่

Share:

การป้องกันหูดหงอนไก่ คือการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวี รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ทว่าการสวมถุงยางอนามัยก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจะเป็นการติดเชื้อกันระหว่างผิวหนัง ซึ่งถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถปกคลุมบริเวณอวัยวะเพศได้ทั้งหมด จนอาจทำให้เกิดการสัมผัสและติดต่อกันได้

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของเล่นทางเพศร่วมกัน หากจะใช้ร่วมกับผู้อื่นควรทำความสะอาด หรือป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยกับของเล่นทางเพศเพื่อป้องกันไม่ให้ของเล่นทางเพศกลายเป็นที่แพร่เชื้อไวรัสเอชพีวี

การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี

การฉีดวัคซีนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ นอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสยังสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิงได้อีกด้วย ในปัจจุบัน วัคซีนป้องกันที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

  • วัคซีนการ์ดาซิล (Gardasil) เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ถึง 90% และป้องกันไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
  • วัคซีนเซอร์วาริก (Cervarix) วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

สามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี โดยวัคซีนดังกล่าวถือเป็นวัคซีนเสริมที่จะมีค่าใช้จ่ายในการฉีด เข็มละ 2,000-3,000 บาท และต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ซึ่งราคาวัคซีนของแต่ละสถานพยาบาลจะไม่เท่ากัน หากสนใจที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ควรติดต่อสอบถามสถานพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อได้รับขณะที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จึงจะช่วยป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากเคยมีกิจกรรมทางเพศมาก่อนแล้วก็ยังไม่มีผลแน่ชัดว่าจะช่วยป้องกันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีบางสายพันธุ์มาแล้ว การฉีดวัคซีนก็จะช่วยป้องกันเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่เคยได้รับ ขณะที่ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด หรือมีอาการปวดหัว มีไข้ต่ำ ๆ บางรายอาจเวียนศีรษะหรือเป็นลมหลังจากฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในวัยรุ่น

ไม่เพียงเท่านั้น การฉีดวัคซีนดังกล่าว แม้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% ดังนั้นแม้จะเคยฉีดวัคซีนจนครบแล้วก็ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือตรวจแปปสเมียร์อย่างน้อยทุก ๆ  3-5 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีอาการของมะเร็งหรือโรคหูดหงอนไก่เกิดขึ้นในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนของ หูดหงอนไก่