Illness name: ตามัว

Description:

ตามัว

ความหมาย ตามัว

Share:

ตามัว (Blurred Vision) คืออาการที่ดวงตาไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนและอาจเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุหลักอาจมีผลจากความผิดปกติของดวงตา ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการสวมแว่นตา เช่น ภาวะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือสายตายาวตามอายุ เป็นต้น ทั้งยังอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด หรือผลกระทบจากโรคอื่น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคไมเกรน อาการตามัวอาจทำให้ดวงตาแดง ระคายเคืองและไวต่อแสง หรืออาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดศีรษะได้อีกด้วย

อาการของตามัว

ตามัวอาจส่งผลต่อการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น หากกระทบต่อสายตาส่วนรอบ ก็จะทำให้การมองเห็นบริเวณรอบข้างพร่ามัวได้ ซึ่งอาจมีอาการต่าง ๆ แตกต่างกันตามสาเหตุดังต่อไปนี้

  • มีขี้ตา มีน้ำตามาก หรืออาจมีเลือดออกจากดวงตา
  • ตาแห้ง คันตา หรือเจ็บตา
  • เห็นจุดหรือมีเส้นใยบาง ๆ ในดวงตา
  • เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
  • อาการตากลัวแสงหรือไม่สู้แสง
  • การมองเห็นไม่ชัดเจนในระยะใกล้ หรือในตอนกลางคืน
  • สายตาส่วนกลาง หรือสายตาส่วนรอบเสียหาย

สัญญาณของอาการตามัวที่ควรพบแพทย์

ตามัวอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง และอาจรุนแรงยิ่งขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บตามาก
  • บริเวณตาขาวเริ่มเป็นสีแดง
  • ปวดศีรษะมาก
  • ใบหน้าบิดเบี้ยว
  • พูดลำบากหรือติดขัด
  • ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่งได้
  • มีปัญหาในการมองเห็น หรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดชั่วคราว

สาเหตุของอาการตามัว

อาการตามัวอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งปัญหาเกี่ยวกับดวงตาโดยตรง ผลกระทบจากโรคอื่น เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตาแห้ง หรือมีแผลบริเวณดวงตา
  • การบาดเจ็บบริเวณดวงตา
  • กระจกตาถลอก หรือรอยแผลเป็นบนกระจกตา
  • จอตาติดเชื้อ
  • โรคเส้นประสาทตาอักเสบ
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม ส่งผลโดยตรงต่อจอประสาท ซึ่งทำให้ความสามารถในการมองเห็นและการตอบสนองต่อแสงลดลง ผู้ป่วยจะค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นจนอาจทำให้ตาบอดได้
  • ความผิดปกติของภาวะการหักเหของแสง สามารถรักษาได้โดยการสวมแว่นตา โดยแบ่งเป็น
    • มองเห็นระยะใกล้ชัดเจน มักเกิดขึ้นกับทุกวัย โดยเป็นผลจากการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ จนกว่าสภาวะการเจริญเติบโตของดวงตาจะคงที่
    • มองเห็นระยะไกลชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กบางคนโดยเป็นผลจากกรรมพันธุ์ แต่อาการอาจดีขึ้นได้เองเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
  • ภาวะสายตายาวตามอายุ ส่งผลให้ความสามารถในการโฟกัสลดลง
  • โรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age-related Macular Degeneration: AMD) คือสาเหตุทั่วไปของอาการตามัวในผู้สูงอายุ โดยเกิดจากการเสื่อมของจุดรับภาพบริเวณส่วนกลาง และจอประสาทตาที่จุดกึ่งกลางของกระจกตา ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการมองเห็น
  • คอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาดหรือเสียหายอาจทำให้เกิดอาการตามัวได้
  • โรคต้อหิน แรงดันในดวงตาที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เส้นประสาทตาเสียหายและก่อให้เกิดโรคต้อหินได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคต้อกระจก ส่งผลให้เลนส์ตาขุ่นมัวได้
  • โรคไมเกรน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตามัวก่อนที่อาการไมเกรนจะเริ่มต้นขึ้น
  • ภาวะเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการตามัวได้หากระดับน้ำตาลไม่คงที่
  • อาหารเสริมหรือยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด คอร์ติโซน (Cortisone) ยารักษาโรคหัวใจ ยากลุ่ม Anticholinergics ยาต้านภาวะซึมเศร้า หรือยาลดความดัน เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการตามัว

แพทย์หรือจักษุแพทย์อาจเริ่มต้นกระบวนการวินิจฉัยด้วยการสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น โดยอาจรวมไปถึงประวัติความผิดปกติหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาในครอบครัวของผู้ป่วย แล้วจึงเริ่มทดสอบความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วย ซึ่งอาจมีวิธีการดังต่อไปนี้

  • การใช้ Slit-lamp หรือกล้องจุลทรรศน์สำหรับตรวจตาชนิดลำแสงแคบ แพทย์จะขอให้ผู้ป่วยวางคางลงบนกล้องจุลทรรศน์ และตรวจดูโครงสร้างของดวงตา ซึ่งช่วยให้ทราบว่าดวงตาสามารถทำงานหรือตอบสนองได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ แพทย์อาจใช้ยาชาหยอดตา และยาหยอดตาที่มีสี เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระจกตา และยังช่วยในการวัดความดันลูกตา
  • การตรวจสายตา แพทย์อาจใช้เครื่องวัดสายตาหรือแผ่นวัดสายตา โดยขอให้ผู้ป่วยอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนแผ่นวัดสายตา เพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อแก้ไขความผิดปกติของดวงตาหรือไม่
  • การตรวจความดันลูกตา แพทย์จะตรวจวัดความดันลูกตาโดยใช้ยาหยอดตาและเครื่องวัดความดันลูกตา โดยผู้ป่วยต้องเบิกตาให้กว้างขึ้นและหายใจตามปกติระหว่างการวินิจฉัย บางกรณี แพทย์อาจใช้เครื่องตรวจวัดความดันภายในลูกตาในการวินิจฉัย
  • การตรวจเลือด ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อนับปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือตรวจสอบแบคทีเรียในกระแสเลือด กรณีที่อาการตามัวมีความรุนแรงจนอาจติดเชื้อได้

การรักษาอาการตามัว

ผู้ป่วยควรพบแพทย์หากมีอาการตามัวเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจมีวิธีต่างกันไปตามสาเหตุของการเกิดอาการหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ในแต่ละคน เช่น

  • การสวมแว่นตา ผู้ป่วยอาจต้องใส่แว่นตาเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
  • การรักษาแบบโมโนวิชั่น (Monovision) หรือเบลนด์วิชั่น (Blended Vision) ความสามารถในการมองเห็นของดวงตา 2 ข้างมักมีความแตกต่างและเสื่อมโทรมตามระยะเวลาที่ต่างกัน ผู้ป่วยอาจเลือกใส่คอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาต่างกันเพื่อช่วยให้ประสาทตาสามารถปรับระยะโฟกัสของการมองเห็นทั้งในระยะใกล้และไกลได้ โดยใส่คอนแทคเลนส์สำหรับการมองเห็นระยะไกลข้างหนึ่ง และระยะใกล้อีกข้างหนึ่ง
  • เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด อาการตามัวอาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำตาลลดลง ผู้ป่วยจึงอาจต้องรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น ลูกอม น้ำผลไม้ หรือกลูโคสอัดเม็ด เป็นต้น
  • การผ่าตัด หากอาการตามัวเกิดจากโรคต้อกระจก การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเลนส์ตาอาจมีความจำเป็น

การป้องกันอาการตามัว

วิธีการป้องกันการเกิดอาการตามัวมีดังต่อไปนี้

  • สวมแว่นกันแดดตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แจ้ง หรือแว่นตาป้องกันขณะทำงานในบริเวณที่มีสารเคมีหรือฝุ่นละออง เช่น การทาสี หรือการซ่อมบ้าน เป็นต้น
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เช่นผักใบเขียว ผักสีม่วง หรือเนื้อปลา ซึ่งมีส่วนประกอบของกรดไขมันโอเมก้า 3
  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ และทำความสะอาดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่เสมอ เนื่องจากคราบไขมันหรือสิ่งสกปรกอาจเกาะอยู่บนเลนส์และทำให้เกิดอาการตามัวได้ ทั้งยังควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับน้ำยาแช่หรือล้างคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับเลนส์แต่ละประเภท
  • กรณีที่เข้ารับการตรวจตาและไม่พบความผิดปกติ ผู้ป่วยอาจใช้ยาหยอดตาเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับดวงตาได้ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
  • การตรวจตาเป็นประจำอาจช่วยป้องกันปัญหาความผิดปกติของดวงตาที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยระยะเวลาที่ควรเข้ารับการตรวจ คือ
    • เด็กอายุ 0-6 ปี ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    • เด็กอายุ 6-18 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 2-4 ปี
    • ผู้มีอายุ 19-39 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 3-5 ปี
    • ผู้มีอายุ 40-64 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 2-4 ปี
    • ผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 1-2 ปี

ทั้งนี้ ผู้ที่มีประวัติการมีโรคเกี่ยวกับดวงตาในครอบครัว ผู้ป่วยที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี มีโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรเข้ารับการตรวจดวงตาเป็นประจำ