Illness name: เพ้อ

Description:

เพ้อ

ความหมาย เพ้อ

Share:

เพ้อ (Delirium) คือภาวะความผิดปกติทางจิตที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการสับสนและสูญเสียการรับรู้ความเป็นจริงอย่างรุนแรง รวมทั้งมีระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป ภาวะนี้จะเกิดขึ้นในทันที เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภาวะสับสนเฉียบพลัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ การเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด การรักษาภาวะเพ้อจะมุ่งไปที่การรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นต้นเหตุและการควบคุมอาการเพ้อไม่ให้แย่ลง

อาการของภาวะเพ้อ

ผู้ที่มีอาการเพ้อจะประสบสภาวะแปรปรวนทางสุขภาพจิต เช่น มีอาการเซื่องซึมสลับกับกระวนกระวาย เป็นต้น ผู้ป่วยอาจไม่รับรู้ความเป็นจริง มีปัญหาด้านความจำและการคิด รวมทั้งมีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเพ้อในลักษณะใดลักษณะหนึ่งต่อไปนี้ หรืออาจมีอาการทั้ง 2 ลักษณะก็ได้

  • อาการเพ้อแบบเซื่องซึม ผู้ป่วยมักแยกตัว ไม่กระฉับกระเฉง ขี้เกียจ ไม่สนใจสภาพแวดล้อม และไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง
  • อาการเพ้อแบบกระวนกระวาย ผู้ป่วยจะรู้สึกกังวล อารมณ์แปรปรวน มีพฤติกรรมอยู่ไม่สุข และเกิดภาพหลอน

สาเหตุของภาวะเพ้อ

ส่วนใหญ่แล้ว อาการเพ้อหรือภาวะสับสนเฉียบพลันนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งมีหลายโรคด้วยกัน เช่น โรคที่ทำให้สมองขาดออกซิเจนหรือโรคที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย การติดเชื้อบางชนิด การมีระดับสารเคมีหรือเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล การใช้ยารักษาโรคหรือการใช้สารเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มจะเสี่ยงเกิดอาการเพ้อได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ  ผู้ที่มีปัญหาทางการมองเห็นหรือการได้ยิน ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะเพ้อ

การวินิจฉัยภาวะเพ้อทำได้ด้วยการตรวจดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ สมาธิ ความคิด และการรับรู้หรือไม่ ซึ่งประกอบด้วยการตรวจสภาพจิต การตรวจร่างกายและการทำงานของระบบประสาทในร่างกาย และการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของภาวะดังกล่าว แพทย์จะวินิจฉัยว่ามีอาการเพ้อหากผู้ป่วยไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า มีปัญหาเกี่ยวกับการคิด และมีความคิดผิดแปลกไปจากเดิม

การรักษาภาวะเพ้อ

การรักษาภาวะเพ้อให้ได้ผลต้องเริ่มจากการวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวหรือใช้ยาเพื่อช่วยให้อาการสงบลง จากนั้นจึงมุ่งเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูอาการป่วยทางกายควบคู่กับการฟื้นฟูความคิด ความจำ และการรับรู้ของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติ โดยผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การดูแลเอาใจใส่จากสมาชิกในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเพ้อ

ผู้ป่วยภาวะเพ้อมีโอกาสหายหรือฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ผู้ป่วยโรคร้ายแรงอย่างสมองเสื่อมอาจสูญเสียความจำและทักษะการคิด ในขณะที่ผู้มีสุขภาพดีมีแนวโน้มฟื้นตัวจากอาการเพ้อได้มากกว่า เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อเนื่องจากเป็นโรคร้ายแรงจึงเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยอาจส่งผลให้สุขภาพแย่ลงและต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด บางรายอาจได้รับผลข้างเคียงร้ายแรงจากการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

การป้องกันภาวะเพ้อ

วิธีป้องกันภาวะเพ้อที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการเรียนรู้และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการเพ้อ ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะนี้อยู่แล้วนั้นควรเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นต้นเหตุ และควรได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อาการของภาวะเพ้อ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยภาวะเพ้อจะมีอาการนาน 2-3 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน ซึ่งอาการจะแปรปรวนตลอดทั้งวัน และกำเริบหนักขึ้นเมื่อตกกลางคืนหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยไม่คุ้นเคย อาการของภาวะเพ้อ มีดังนี้

  • สูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัว
    • ไม่จดจ่อกับบทสนทนาหรือจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนไปพูดคุยเรื่องอื่นได้
    • ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองหรือโต้ตอบในการพูดคุย
    • ชอบแยกตัวหรือขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
    • ไม่มีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไขว้เขวง่าย แม้มีสิ่งรบกวนเพียงเล็กน้อย
  • ทักษะการคิดแย่ลง
    • สับสนเลอะเลือน ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร
    • จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ดี โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น
    • สื่อสารไม่รู้เรื่อง เช่น นึกคำที่จะพูดไม่ออก ไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด พูดจาไม่มีสาระ เป็นต้น
    • อ่านและเขียนหนังสือได้ยากกว่าปกติ
  • พฤติกรรมเปลี่ยน กระวนกระวาย มีพฤติกรรมก้าวร้าว
    • มีอาการซึมและชอบแยกตัว ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ
    • เห็นภาพหลอน
    • มักส่งเสียงแปลก ๆ ออกมา
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน โดยมีช่วงเวลาการหลับและตื่นต่างจากคนทั่วไป มีอาการง่วงซึม
    • ลักษณะท่าทางเปลี่ยนไป เช่น เคลื่อนไหวช้า ไม่กระปรี้กระเปร่า เป็นต้น
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง
    • วิตกกังวล กลัว หรือหวาดระแวง
    • หงุดหงิด โกรธง่าย
    • ซึมเศร้า ขาดความกระตือรือร้น
    • อารมณ์แปรปรวนกะทันหัน
    • มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม

สาเหตุของภาวะเพ้อ

ภาวะเพ้อเกิดจากความผิดปกติในการรับส่งสัญญาณของสมอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สมองไม่ทำงานตามปกติ หรือบางกรณีอาจไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการเพ้อ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะเพ้อได้ มีดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพ
    • โรคหรือภาวะที่ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน
    • ภาวะระบบเมตาบอลิซึมไม่สมดุล เช่น มีระดับโซเดียมหรือแคลเซียมในร่างกายต่ำ เป็นต้น
    • ภาวะทุพโภชนาการหรือภาวะขาดน้ำ
    • เป็นไข้และเกิดการติดเชื้อเฉียบพลัน โดยเฉพาะในเด็ก เช่น ปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
    • มีความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ ไฮโปไทรอยด์ เป็นต้น
    • นอนหลับไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาสุขภาพจิตทางด้านอารมณ์อย่างรุนแรง
  • การใช้ยารักษาโรค
    • ยาแก้ปวด
    • ยานอนหลับ
    • ยาแก้แพ้
    • ยารักษาโรคหืด
    • ยาแก้อาการชักหรืออาการกระตุก
    • ยารักษาโรคพาร์กินสัน
    • ยารักษาภาวะสุขภาพจิต เช่น ยาแก้วิตกกังวล ยาต้านเศร้า เป็นต้น
    • ยาชาที่ได้รับจากการผ่าตัดหรือกระบวนการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ
  • พฤติกรรมเสี่ยง
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีอาการถอนเหล้า หรือใช้สารเสพติดชนิดอื่น ๆ
    • ได้รับสารพิษบางอย่าง

นอกจากนี้ ภาวะสุขภาพบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการเพ้อได้ ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด
  • มีอายุมากกว่า 65 ปี
  • มีปัญหาสุขภาพทางสมอง เช่น สมองเสื่อม  โรคหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์กินสัน หรือมีภาวะสมองเสื่อมอย่างรุนแรง
  • เคยมีอาการเพ้อมาก่อน
  • ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น เอดส์ ภาวะติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
  • มีปัญหาในการมองเห็นและการได้ยิน
  • มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง
  • มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ใช้สารเสพติดหรือยารักษาโรคบางชนิด
  • เกิดความเครียด
  • มีพฤติกรรมแยกตัว

การวินิจฉัยภาวะเพ้อ

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะเพ้อจากประวัติการรักษา ผลประเมินสุขภาพจิตของผู้ป่วย และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการดังกล่าว โดยจะใช้วิธีการตรวจสภาพจิต การตรวจร่างกายและระบบประสาท และการตรวจอื่น ๆ มีรายละเอียดดังนี้

  • การตรวจสภาพจิต เป็นวิธีประเมินว่าผู้ป่วยมีการรับรู้ การจดจ่อ และการคิดอย่างไร โดยแพทย์อาจซักถามและให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบหรือตรวจประเมินสภาวะจิตใจ การรับรู้ ความจำ และอาการสับสนที่เกิดขึ้น
  • การตรวจร่างกายและระบบประสาท แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อดูว่ามีสัญญาณหรืออาการของปัญหาสุขภาพใดที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะเพ้อหรือไม่ ส่วนการตรวจระบบประสาทนั้นเป็นการวัดการมองเห็น สมรรถภาพการทรงตัว ความสอดประสานและปฏิกิริยาโต้ตอบของร่างกาย เพื่อดูว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอันอาจเป็นต้นเหตุของภาวะเพ้อหรือไม่
  • การตรวจอื่น ๆ  แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ หรือการสแกนสมอง

การรักษาภาวะเพ้อ

การรักษาภาวะเพ้อมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้แย่ลง โดยเริ่มจากรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว หลังจากนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อจะแบ่งออกเป็น 4 วิธี ได้แก่ การรักษาแบบประคับประคอง การรักษาด้วยยา การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และการดูแลจากคนรอบข้าง

การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากอาการเพ้อ แพทย์จะให้การรักษาผู้ป่วย ดังนี้

  • ช่วยฟื้นฟูทักษะการคิดและความจำของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสื่อสารได้ตามปกติและสามารถรับรู้สภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง
  • ให้การดูแลเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • รักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้
  • ช่วยเหลือในด้านการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วย
  • จัดน้ำและอาหารให้ผู้ป่วยอย่างเพียงพอ
  • กระตุ้นให้สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วยมีกำลังใจในการร่วมมือดูแลผู้ป่วยต่อไป
  • จัดแพทย์และพยาบาลให้คอยดูแลผู้ป่วยอยู่เสมอ
  • เลี่ยงการใช้อุปกรณ์ผูกยึดที่จำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยหรือการใช้ท่อสวนปัสสาวะ

การรักษาด้วยยา แพทย์จะสั่งจ่ายยารักษาโรคบางชนิดเพื่อบรรเทาอาการป่วยที่เป็นสาเหตุของภาวะเพ้อ รวมทั้งยารักษาอาการหลงผิด ซึ่งเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่ภาวะหวาดระแวง(https://www.pobpad.com/หวาดระแวง) กลัว เกิดภาพหลอนอย่างรุนแรง หรือมีอาการสับสนกระวนกระวาย ส่วนผู้ที่เกิดอาการเพ้อจากการถอนเหล้าจะได้รับยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เช่น ไดอะซีแพม () ฮาโลเพอริดอล เป็นต้น โดยแพทย์จะปรับลดปริมาณยาหรือให้หยุดใช้ยาเมื่อมีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการเพ้อ เพื่อคอยระวังให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการใช้ยาดังกล่าว

การจัดสภาพแวดล้อม

  • ดูแลสุขลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย จัดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนให้รับประทาน
  • จัดห้องพักของผู้ป่วยให้ปลอดโปร่งและสบาย โดยควรเป็นห้องเดี่ยวที่มีพื้นที่พอสมควร ปลอดจากเสียงรบกวน มีแสงสว่างส่องถึง และมีอุณหภูมิห้องเหมาะสม

การดูแลจากบุคคลรอบข้าง สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดสามารถดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อได้ ดังนี้

  • ดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วย เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยสงบมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างทักษะการคิดและความจำของผู้ป่วย ทำได้ดังนี้
    • ใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายในการบอกให้ผู้ป่วยทำปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น ได้เวลากินอาหารกลางวันแล้ว ถึงเวลานอนแล้ว เป็นต้น
    • ตั้งนาฬิกาหรือวางปฏิทินไว้ในห้องพักผู้ป่วยและหมั่นบอกวันเวลาให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อให้ผู้ป่วยรับรู้สิ่งที่ผ่านไปในแต่ละวันตามความเป็นจริง
    • นำสิ่งของหรือรูปภาพที่ผู้ป่วยชอบหรือคุ้นเคยมาตั้งไว้ในห้องพัก โดยจัดวางให้เป็นระเบียบ
    • หมั่นเน้นย้ำชื่อของผู้คนรอบข้างกับผู้ป่วย
    • สัมผัสหรือเข้าหาผู้ป่วยด้วยท่าทางและน้ำเสียงที่อ่อนโยนและเป็นมิตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือชวนทะเลาะ
    • ดูแลให้ผู้ป่วยสวมแว่นสายตาและเครื่องช่วยฟังอยู่เสมอ
  • ดูแลการนอนหลับของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับเต็มอิ่มมากขึ้น ผู้ดูแลควรปฏิบัติ ดังนี้
    • จัดเวลานอนตอนกลางคืนและตารางการทำกิจกรรมตอนกลางวันให้ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
    • จัดห้องนอนของผู้ป่วยให้โล่งสบายและเงียบสงบ
    • ควรเปิดผ้าม่านหรือหน้าต่างให้แสงสว่างส่องเข้าห้องนอนในตอนกลางวัน และควรเลือกโคมไฟที่แสงไม่จ้าเกินไป
  • ดูแลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
    • พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเมื่อผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพใด ๆ เพิ่มเติม
    • จัดยาให้ผู้ป่วยรับประทานตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ
    • จัดอาหารและน้ำให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการฃกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ

นอกจากนี้ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยก็ควรใส่ใจสุขภาพตนเองด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยภาวะนี้อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยหรือท้อใจได้ นอกจากนี้ ควรหาข้อมูลและสอบถามแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะนี้อย่างละเอียด รวมทั้งอาจเข้าร่วมกลุ่มกับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยภาวะเพ้อเหมือนกัน และแบ่งปันความรู้สึกหรือเรื่องราวที่พบเจอกับสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ที่เคยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อมาก่อนเพื่อระบายความเครียด

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเพ้อ

ผู้ป่วยภาวะเพ้อแต่ละรายจะใช้เวลาพักฟื้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ป่วยก่อนเกิดภาวะนี้ ผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีมีโอกาสฟื้นตัวจากอาการเพ้อโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ที่ที่มีโรคร้ายแรงหรือมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังอาจหายเป็นปกติไม่ได้และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา ดังนี้

  • สุขภาพโดยรวมแย่ลง
  • สูญเสียสมรรถภาพการทำงานของร่างกายและไม่สามารถดูแลตัวเองได้
  • ไม่สามารถโต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • ฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้ยาก
  • ค่อย ๆ มีอาการซึม หมดสติ มีภาวะโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเพ้อแบบซึมเศร้า

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาอาการเพ้อ โดยการใช้ยารักษาอาการทางจิตเวชนั้นเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หลอดเลือดสมองแตก และเสียชีวิตได้ ส่วนการใช้ยาเบนโซไดอะซีปีน อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยกระวนกระวายหรือเซื่องซึมมากขึ้น ควบคุมตัวเองไม่ได้ กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไม่ประสานกัน และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหกล้มอันจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น กระดูกหัก เป็นต้น

การป้องกันภาวะเพ้อ

แนวทางการป้องกันภาวะเพ้อที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงก่อให้เกิดภาวะเพ้อ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย มีเสียงดัง อับทึบ หรือมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเพ้อขึ้นได้เช่นกัน การดูแลผู้ป่วยตามที่แพทย์แนะนำและจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตดีขึ้น นอนหลับได้ดี และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะเพ้อ  ซึ่งทำได้ดังนี้

  • สังเกตอาการของผู้ป่วยและแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบความผิดปกติใด ๆ
  • จำกัดปริมาณการใช้ยาที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการเพ้อ
  • ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน
  • ตั้งนาฬิกาหรือวางปฏิทินไว้ในตำแหน่งที่มองเห็นได้สะดวก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักรู้ถึงวันเวลาปัจจุบัน
  • จัดห้องให้มีแสงสว่างส่องเข้ามาภายในอย่างทั่วถึงในตอนกลางวัน
  • พาผู้ป่วยไปเดินเล่น หรือพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยซึ่งติดเตียงหรือผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวลำบากลุกขึ้นนั่งบ้าง