Illness name: ต่อมลูกหมากโต

Description:

ต่อมลูกหมากโต

ความหมาย ต่อมลูกหมากโต

Share:

ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) คือโรคที่เกิดขึ้นในเพศชาย โดยเฉพาะชายสูงวัย ซึ่งต่อมลูกหมากที่โตจนผิดปกติจะไปรบกวนระบบทางเดินปัสสาวะ จนทำให้ปัสสาวะขัด และก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้

ต่อมลูกหมาก คือต่อมหนึ่งในร่างกายที่อยู่ภายในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย มีรูปร่างคล้ายผลวอลนัท ตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่ที่บริเวณระหว่างกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะเพศชาย ด้านหน้าของทวารหนัก และมีท่อปัสสาวะผ่านตรงกลางของต่อม ต่อมชนิดนี้จะมีในเพศชายเท่านั้น โดยทำหน้านี้ในการสร้างของเหลวที่คอยหล่อเลี้ยงอสุจิ ขนาดที่ผิดปกติของต่อมลูกหมาก นอกจากจะส่งผลทำให้ทางเดินปัสสาวะติดขัดแล้ว ก็ยังส่งผลให้อสุจิที่ถูกหลั่งออกมาไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะ และไตได้ในอนาคต

อาการของต่อมลูกหมากโต

อาการของต่อมลูกหมากโตมีสาเหตุมาจากขนาดของต่อมลูกหมากที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนทำให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ และส่งผลกระทบกับการปัสสาวะ ซึ่งมีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ละเลยอาการต่าง ๆ ของต่อมลูกหมากโต ดังนี้

  • ปัสสาวะได้ลำบาก
  • มีปัญหาเรื่องการไหลของปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ปัสสาวะน้อย และปัสสาวะไม่สุด
  • ตื่นบ่อยเนื่องจากการปัสสาวะบ่อย
  • เกิดการปัสสาวะเล็ดเนื่องจากไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้

นอกจากนี้ โรคต่อมลูกหมากโตยังเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะไม่ออก หรือภาวะแทรกซ้อน เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือความเสียหายของไตได้อีกด้วย หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดที่สีข้าง บริเวณหลัง หรือบริเวณท้อง ปัสสาวะมีหนองหรือมีเลือดปน

สาเหตุของต่อมลูกหมากโต

มีการสันนิษฐานว่าสาเหตุของต่อมลูกหมากโตเกิดขึ้นจากความเสื่อมของร่างกายตามวัยในผู้ชาย และเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมน นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะคนที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ซึ่งต้องรับการรักษาโดยผ่าตัด

ปัจจัยเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมากโตที่มักพบได้บ่อยคือ คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก หรือผู้ที่มีความผิดปกติของอัณฑะจะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตเพิ่มขึ้น

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต

การวินิจฉัยด้วยตนเอง การวินิจฉัยอาการด้วยตนเองในเบื้องต้นนั้น สามารถทำได้โดยการสังเกตความผิดปกติในการปัสสาวะ หากพบว่ามีการปัสสาวะที่บ่อยขึ้น หรือในขณะที่ปัสสาวะรู้สึกเจ็บ และมีปัสสาวะเป็นเลือด รวมทั้งมีอาการปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า หรือไหล ๆ หยุด ๆ  ต้องเบ่งหรือรอนานกว่าจะสามารถปัสสาวะออกมาได้ ควรรีบไปพบแพทย์ในทันทีเพื่อความปลอดภัย

การวินิจฉัยโดยแพทย์ เมื่อไปพบแพทย์ ขั้นแรกแพทย์จะทำการเช็คให้แน่ใจก่อนว่าความผิดปกติในการปัสสาวะที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากโรคต่อมลูกหมากโตหรือเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ผ่านการซักประวัติเกี่ยวกับการรักษา และการตรวจสุขภาพ โดยจะเน้นไปที่ทางเดินปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือด โดยการตรวจโรคต่อมลูกหมากโตที่มักใช้เพื่อวินิจฉัยอาการมีดังนี้

  • การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam: DRE) เป็นการตรวจโดยการสอดนิ้วเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจดูขนาดและความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ทั้งนี้การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวจะทำได้เพียงแค่วินิจฉัยอาการได้เบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถวินิจฉัยความรุนแรงของโรคได้
  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) การตรวจปัสสาวะสามารถช่วยระบุการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้
  • การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen: PSA) การตรวจชนิดนี้สามารถช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่าอาการเหล่านี้มีโอกาสเป็นโรคต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้มีอาการที่ค่อนข้างเหมือนกัน
  • การตรวจค่าครีเอทินินในเลือด (Blood Creatinine Test) เป็นการตรวจดูการทำงานของไต ว่ายังทำงานได้ดีหรือไม่

นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการของโรคต่อมลูกหมากโต โดยที่อาจตรวจเพิ่มเติมมีดังนี้

  • การตรวจปริมาณปัสสาวะที่คงค้างอยู่ (Post-Void Residual Urine Test: PVR) เป็นการตรวจวัดปริมาณปัสสาวะที่คงเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากที่ปัสสาวะแล้ว โดยจะใช้การอัลตราซาวด์  (Ultrasound) หรือใช้สายสวนปัสสาวะใส่เข้าไปทางท่อปัสสาวะ
  • การตรวจการไหลของปัสสาวะ (Urinary Flow Test) คือการตรวจวัดความแรงและปริมาณการไหลของปัสสาวะ ผลที่ได้จะช่วยให้ทราบว่าการไหลของปัสสาวะเป็นปกติหรือไม่ นอกจากนี้ ระหว่างการรักษา การตรวจนี้ ยังจะช่วยแสดงให้เห็นว่าการรักษาทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
  • บันทึกการปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง การจดบันทึกปริมาณและความถี่ในการปัสสาวะ จะช่วยให้ทราบถึงการทำงานของระบบปัสสาวะ โดยเฉพาะในกรณีที่การปัสสาวะในตอนกลางคืนมีปริมาณมากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณการปัสสาวะต่อวัน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการที่ซับซ้อน หรือมีภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากโต ก็จำเป็นจะต้องมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound) เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียง โดยนำอุปกรณ์ขนาดเล็กใส่เข้าไปทางทวารหนักเพื่อทำการตรวจขนาดและโครงสร้างของไต กระเพาะปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก
  • การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก (Prostate Biopsy) ในบางครั้งแพทย์อาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากในขณะที่ตรวจอัลตราซาวด์ด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยระบุได้ว่าการที่ต่อมลูกหมากโตนั้นเกิดขึ้นจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือสาเหตุอื่น ๆ
  • การตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) แพทย์สอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปเพื่อตรวจท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ วิธีนี้จะช่วยให้เห็นขนาดของต่อมลูกหมากที่ใหญ่ขึ้นซึ่งไปขัดขวางทางเดินปัสสาวะ
  • การตรวจความดันภายในกระเพาะปัสสาวะขณะปัสสาวะ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถระบุได้ว่าปัญหาในการปัสสาวะลำบากเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโตหรือเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและระบบประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจด้วยการฉีดสี (Intravenous Pyelogram: IVP) เป็นการเอกซเรย์โดยใช้สารทึบสีช่วยเพื่อให้เห็นการทำงานของไตและการไหลเวียนของปัสสาวะจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ

วิธีการรักษาต่อมลูกหมากโต

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตอาจต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน แต่โดยหลัก ๆ แล้ว ได้แก่ การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การใช้ยารักษา และการผ่าตัด แต่ถ้าหากต่อมลูกหมากที่โตนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา และติดตามอาการเป็นระยะ ๆ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ป่วยจะทำการรักษาหรือไม่ ก็ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต ซึ่งควรปฏิบัติตนดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน วิธีนี้จะช่วยลดการปวดปัสสาวะในเวลากลางคืนได้ แต่ก็ไม่ควรอดหรือลดปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวัน
  • ตั้งเวลาในการรับประทานยาให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน หรือลดปริมาณลงเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะและทำให้อาการแย่ลง
  • ออกกำลังกาย มีการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 30-60 นาทีต่อวันจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  • จำกัดการรับประทานยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ การใช้ยาทั้ง 2 ชนิดจะทำให้ปัสสาวะได้ลำบาก เนื่องจากยาจะเข้าไปทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะที่ควบคุมการไหลของปัสสาวะหดตัว
  • ไม่อั้นปัสสาวะ การอั้นปัสสาวะนานเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดความเสียหาย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยในเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก ทำให้ความเสี่ยงโรคอ้วนลดลงซึ่งเกี่ยวของกับโรคต่อมลูกหมากโต
  • ฝึกการเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องน้ำทุก ๆ 4-6 ชั่วโมงเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยได้มากในกลุ่มผู้ป่วยที่ปัสสาวะบ่อยและไม่สามารถกลั้นได้

การใช้ยา เป็นวิธีพื้นฐานในการรักษาอาการโรคต่อมลูกหมากโตของผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ยาที่แพทย์นิยมใช้ ได้แก่

  • แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blockers) ยาชนิดนี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะ และช่วยคลายเส้นใยกล้ามเนื้อภาวะในต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังช่วยทำให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น ทว่าผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน และอาจทำให้อุสจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ (Retrograde Ejaculation)
  • 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5 Alpha Reductase Inhibitor) ยาดังกล่าวจะช่วยให้ต่อมลูกหมากหดตัว ลดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้ต่อมลูกหมากขยายตัว แต่ยาชนิดนี้อาจมีผลต่ออสุจิและอาจทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้
  • การใช้ยาหลาย ๆ ชนิดร่วมกัน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาหลาย ๆ ชนิดร่วมกัน เพื่อช่วยลดอาการในกรณีที่การใช้ยาชนิดเดียวไม่ได้ผล
  • ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และช่วยรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แต่ยาชนิดนี้มักจะถูกใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเท่านั้น

การผ่าตัด จะถูกใช้ในกรณีที่การรักษามีความรุนแรงและ/หรือการใช้ยาไม่ได้ผล หรือมีปัญหาทางเดินปัสสาวะติดขัด เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไต แต่จะไม่สามารถทำได้หากผู้ป่วยมีอาการของการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือมีอาการของท่อปัสสาวะตีบ (Urethral Stricture) รวมถึงผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาต่อมลูกหมากด้วยรังสี หรือเคยผ่านการผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ และผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โดยวิธีการผ่าตัดที่ใช้ในประเทศไทย ได้แก่

  • การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขูดต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate: TURP) การผ่าตัดส่องกล้องที่ใช้เวลาในการผ่าตัดค่อนข้างนาน โดยศัลยแพทย์จะวางยาสลบ และผ่าตัดนำบางส่วนของต่อมลูกหมากออก วิธีนี้จะช่วยรักษาอาการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องใช้ท่อปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะออกชั่วคราว และต้องลดการทำกิจกรรมหนัก ๆ ลงจนกว่าจะหาย

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาแบบอื่น ๆ ที่ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะแก่การผ่าตัดรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เช่น

  • การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate: TUIP) การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อกรีดบริเวณต่อมลูกหมากเป็นรอยเล็ก ๆ 1-2 รอย ซึ่งจะช่วยให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น การผ่าตัดชนิดนี้จะใช้ในกรณีที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ไม่มาก หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีอื่นได้
  • การผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave Thermotherapy:  TUMT) แพทย์จะนำอุปกรณ์พิเศษเข้าไปภายในท่อปัสสาวะ แล้วใช้คลื่นไมโครเวฟในการกำจัดเนื้อเยื่อบางส่วนของต่อมลูกหมากออก ทำให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
  • การผ่าตัดส่องกล้องด้วยเข็ม (Transurethral Needle Ablation: TUNA) เป็นการผ่าตัดที่จะสอดกล้องเข้าไปทางท่อปัสสาวะ และสอดเข็มเข้าไปในต่อมลูกหมาก จากนั้นจะปล่อยคลื่นวิทยุไปที่เข็ม ความร้อนจากคลื่นวิทยุจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากที่ขัดขวางการไหลเวียนของปัสสาวะที่ทำให้การปัสสาวะเป็นไปได้ยาก
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Therapy) การรักษาด้วยรังสีพลังงานสูงสามารถช่วยกำจัดเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากที่เกิดขึ้นมากผิดปกติ และช่วยบรรเทาอาการลง เป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นและเสียเลือดน้อยกว่า

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากโต

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากโตสามารถเกิดขึ้นได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า หรือไม่ถูกต้อง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ

  • ปัสสาวะไม่ออก (Urinary Retention) ขนาดของต่อมลูกหมากที่ใหญ่ขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยต้องใส่ท่อปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องถึงขั้นผ่าตัดเพื่อระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด (Haematuria) โดยอาการอาจจะทั้งเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือต้องใช้การตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infections: UTIs) โรคต่อมลูกหมากจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะออกมาได้หมด จนทำให้กระเพาะปัสสาวะมีปัสสาวะตกค้างและเกิดการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้หากการติดเชื้อเกิดขึ้นบ่อย แพทย์อาจต้องตัดสินใจทำการผ่าตัดเพื่อนำบางส่วนของต่อมลูกหมากที่ขัดขวางทางเดินปัสสาวะออกไป
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stones) นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นได้หากมีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ นิ่วในปัสสาวะยังก่อให้เกิดอาการอักเสบ การระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด และปัสสาวะติดขัดได้อีกด้วย
  • กระเพาะปัสสาวะ การตกค้างของปัสสาวะส่งผลให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถยืดหยุ่นได้เต็มที่ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง และเกิดความเสียหายที่กระเพาะปัสสาวะได้
  • ไต แรงดันภายในกระเพาะปัสสาวะจากการที่ปัสสาวะไม่ออกสามารถส่งผลเสียโดยตรงกับไต และทำให้ไตเกิดการติดเชื้อ

ทว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตมักจะไม่ค่อยมีอาการของภาวะแทรกซ้อน และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างไรก็ตาม อาการปัสสาวะไม่ออกอย่างเฉียบพลัน และอาการไตเสียหายก็สามารถคุกคามสุขภาพได้อย่างร้ายแรง

วิธีป้องกันต่อมลูกหมากโต

ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีใดที่ช่วยป้องกันปัญหาต่อมลูกหมากโตได้อย่างแท้จริง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ และควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการเหล่านี้

  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • รู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ
  • ปัสสาวะลำบาก
  • ปัสสาวะกะปริบกะปรอย

นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ป่วยเพศชายจะเคยได้รับการผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโตมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะในการผ่าตัดนั้นเป็นแค่เพียงนำบางส่วนของต่อมลูกหมากออกเท่านั้น ดังนั้น แม้จะรักษาโรคต่อมลูกหมากโตจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วแต่ผู้ป่วยก็ยังควรตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ ซึ่งหากมีสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดขึ้นก็จะช่วยให้แพทย์สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ