Illness name: แพลง

Description:

แพลง

ความหมาย แพลง

Share:

แพลง (Sprain) เป็นอาการบาดเจ็บของเอ็นกระดูก เนื่องจากการฉีกขาดหรือเหยียดตึงมากเกินไป ทำให้เกิดอาการเจ็บ ปวด หรือบวมตามมา สามารถเกิดได้กับหลายส่วนในร่างกาย

ส่วนที่เกิดอาการแพลงได้มากที่สุด ได้แก่

  • ข้อเท้า เป็นการบาดเจ็บจากข้อเท้าปัดเข้าใน (Inversion Injury) ที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการวิ่ง หมุนตัว ขณะกระโดด หรือลื่นล้ม และเป็นส่วนที่เกิดอาการแพลงได้บ่อยมากที่สุด
  • หัวเข่า เป็นข้อต่ออีกส่วนที่เกิดอาการแพลงขึ้นกับหลายคน โดยมักมีสาเหตุมาจากการหกล้ม เกิดการบิดของหัวเข่าอย่างเฉียบพลัน
  • ข้อมือ จะเกิดอาการแพลงขึ้นได้ง่ายเมื่อเกิดการลื่นล้มในลักษณะที่เอาฝ่ามือลง

อาการแพลง

เมื่อเกิดอาการแพลงจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บและปวดบริเวณที่เกิดอาการทันที แต่บางรายอาจค่อย ๆ เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นภายหลัง จากนั้นจะเกิดการบวมและรอยช้ำบริเวณผิวหนังตามมา ในบางครั้งอาจได้ยินเสียงดังในข้อขณะที่ได้รับการกระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บ แต่หากอาการรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับหรือใช้งานข้อต่อได้ ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างออกไปตามความรุนแรงของการได้รับบาดเจ็บในผู้ป่วยแต่ละราย อาการส่วนใหญ่มักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน แต่อาการเจ็บหรือปวดอาจคงอยู่ได้นานเกือบสัปดาห์

หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรืออาการรุนแรงหนักกว่าเดิม เช่น คาดว่ากระดูกอาจหักหรือเอ็นฉีกขาด กดบริเวณกระดูกแล้วรู้สึกเจ็บ ขาหรือข้อต่อมีลักษณะที่ผิดรูปทรงไปจากเดิม รู้สึกชา ปวดอย่างรุนแรง ไม่สามารถเดินหรือลงน้ำหนักที่เท้าได้ อาการเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

อาการแพลงสามารถแบ่งตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ 3 ระดับ คือ

  • ระดับที่ 1 เส้นเอ็นตึงและเนื้อเยื่อเส้นใยบริเวณกระดูกที่เรียกว่า ไฟบริล (Fibrils) เกิดความเสียหายเล็กน้อย เป็นระดับที่ไม่รุนแรง
  • ระดับที่ 2 เส้นเอ็นกระดูกบางส่วนเกิดการฉีกขาด ทำให้การควบคุมข้อต่อไปในทิศทางที่ต้องการทำได้ลำบาก มีความรุนแรงของอาการอยู่ในระดับปานกลาง
  • ระดับที่ 3 เส้นเอ็นกระดูกทั่วทั้งเส้นเกิดการฉีดขาดทั้งหมด เป็นระดับที่มีอาการรุนแรงจนอาจทำให้ข้อต่อบริเวณนั้นไม่สามารถใช้งานได้

สาเหตุของอาการแพลง

อาการแพลงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจนทำให้ข้อต่อหรือเอ็นยึดเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม เช่น ลื่นล้ม โดนกระทบกระแทก เกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกของข้อต่อ รวมไปถึงการทำกิจกรรมเดิมอย่างซ้ำ ๆ ในท่าทางที่ไม่ถูกลักษณะ โดยเหตุที่นำไปสู่การเกิดอาการแพลงได้บ่อยมักมาจาก

การเล่นกีฬา อาการแพลงส่วนมากจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการปะทะอย่างรุนแรงในระหว่างการเล่นกีฬา บางรายไม่มีการอบอุ่นร่างกายหรือยืดกล้ามเนื้อก่อนเริ่มเล่น โดยเฉพาะผู้ที่เล่นกีฬาเป็นครั้งแรก จึงทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึงและบาดเจ็บได้ง่าย รวมไปถึงการฝึกซ้อมอย่างหนักจนกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ ถูกใช้งานอย่างซ้ำ ๆ ในลักษณะเดิม นอกจากนี้ เด็กก็มีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพลงได้ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่

ความเสี่ยงอื่น ๆ นอกเหนือจากการเล่นกีฬาที่พบว่าเป็นต้นเหตุของอาการแพลงที่เกิดขึ้นได้บ่อย ยังมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการแพลงขึ้นได้ง่าย เช่น

  • กล้ามเนื้อและข้อต่อไม่แข็งแรง เมื่อขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและข้อต่อยืดหยุ่นได้น้อยลง จึงเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่ายมากขึ้น
  • อิริยาบถที่ผิดลักษณะ ท่าทางและการลงน้ำหนักในการเดินและวิ่ง หรือท่าลงในขณะกระโดดที่ผิดลักษณะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บที่หัวเข่าหรือข้อเท้า การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องลงน้ำหนักบริเวณเท้าด้านนอกมากเกินไป หรือคนที่เท้าผิดรูปหรือใช้รองเท้าไม่เหมาะสมซึ่งจะทำให้เอ็นข้อเท้าด้านนอกเหยียดตึงหรือเกิดการฉีกขาดได้ง่าย โดยเฉพาะการวิ่งหรือเดินบนพื้นที่ขรุขระ
  • ไม่มีการยืดเส้นยืดสายก่อนออกกำลังกาย การอบอุ่นร่างกายก่อนจะช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อและข้อต่อให้เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น ผู้ที่ไม่ได้ยืดเส้นยืดสายอย่างเหมาะสมก่อนการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายจึงอาจเกิดอาการแพลงขึ้นได้ง่าย
  • ความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้มากจนเกินไปจนเหนื่อยล้าอาจทำให้ความสามารถในการรองรับข้อต่อได้ไม่ดีเพียงพอ และเกิดความยากลำบากในการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย   

การวินิจฉัยอาการแพลง

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ การใช้ยา ประวัติการบาดเจ็บ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น สถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการแพลง หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายร่วมด้วย เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มากจากอาการแพลงเป็นหลัก ตลอดจนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์ จากนั้นจะเป็นการตรวจอื่น ๆ ดังนี้

  • การตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะตรวจดูบริเวณที่คาดว่าน่าจะเกิดอาการแพลงขึ้นเป็นหลัก โดยดูลักษณะและความรุนแรงของอาการ เช่น อาการบวมแดง กดแล้วรู้สึกเจ็บ ในบางรายอาจรุนแรงจนกระดูกหัก รวมถึงดูการเคลื่อนไหวและการลงน้ำหนักกับข้อต่อบริเวณนั้น นอกจากนี้อาจมีการตรวจชีพจร และระบบรับความรู้สึกของผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของเส้นประสาทและหลอดเลือด หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก อาจมีการตรวจความแข็งแรงของเอ็นว่าทำให้เกิดอาการข้อหลวมหรือไม่ (Joint Instability) แพทย์ก็สามารถวินิจนัยและทำการรักษาขั้นต่อไปได้  
  • การเอกซเรย์ เป็นการตรวจดูสภาพของกระดูกว่าเกิดรอยร้าวหรือหักหรือไม่ เนื่องจากในบางกรณีการตรวจร่างกายทั่วไปอาจไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยในกลุ่มที่อาการรุนแรงจนไม่สามารถลงน้ำหนักบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บ รูปร่างกระดูกผิดเพี้ยนไปจากเดิม เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก หรือผู้ป่วยที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อกระดูกหักได้สูงหลังเกิดการกระทบกระเทือน ทั้งนี้ การเอกซเรย์อาจเป็นการเอกซเรย์กระดูกธรรมดา ซีที สแกน (Computer Tomography: CT) หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพิ่มเติมหลังการตรวจร่างกายทั่วไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละรายและดุลยพินิจของแพทย์

การรักษาอาการแพลง

อาการแพลงที่ไม่รุนแรงสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้หลัก R.I.C.E. (Rest, Ice, Compress, Elevate) ซึ่งกำหนดโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศอังกฤษ หรือไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence: NICE) ประกอบด้วย

  • พัก (Rest) หยุดพักการเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดอาการแพลงอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยเลี่ยงกิจกรรมปกติที่เคยทำแล้วกระทบกระเทือนต่อข้อต่อและกล้ามเนื้อใกล้เคียงบางกิจกรรม เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวและปรับสภาพได้ทัน แต่ไม่ควรหยุดทำกิจกรรมทั้งหมด บางรายอาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหรือเข้าเฝือกในช่วงแรก
  • ประคบน้ำแข็ง (Ice) ประคบน้ำแข็งบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บทันที โดยประคบอย่างน้อย 15-20 นาที ทุกชั่วโมงจนกว่าอาการจะดีขึ้น อาจใช้ไอซ์แพค (Ice Pack) หรือน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ใส่ถุงพลาสติก จากนั้นพันด้วยผ้าขนหนูประคบแทนได้ ซึ่งความเย็นจะลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหาย และลดอาการปวดบวม อย่างไรก็ตาม การประคบน้ำแข็งเป็นเวลาน้อยเกินไปอาจไม่ส่งผลใด ๆ หรือการประคบมากไปอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้น
  • พันหรือกดบริเวณที่บาดเจ็บ (Compress) ผู้ป่วยสามารถพันบริเวณที่เกิดอาการแพลงด้วยผ้ายืดพันแผลที่มีความยืดหยุ่น เพื่อช่วยลดอาการบวมและเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรรัดแน่นมากเกินไปหรือรัดไว้ในขณะนอนหลับ ทั้งนี้ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัย
  • ยกบริเวณที่เกิดอาการบาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ (Elevate) เมื่อเกิดอาการแพลงให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนอนลง จากนั้นใช้หมอนหนุนบริเวณนั้นให้อยู่สูงกว่าระดับของหัวใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของของเหลวที่จะยิ่งทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น

หลังจากการปฐมพยาบาลในขั้นต้นแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ยังคงมีอาการปวด บวม หรือเจ็บอยู่ ผู้ป่วยควรเริ่มมีการเคลื่อนไหวหรือใช้อวัยวะส่วนนั้นให้มากขึ้น หากมีอาการปวดมากก็สามารถรับประทานยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือที่รู้จักในชื่อยาเอ็นเสด (Non Steroidal Anti Inflammatory Drug: NSAIDs) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยาพาราเซตามอล (Paracetamol/Acetaminophen) นาพรอกเซน (Naproxen) โดยต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงและอาการแพ้ยาขึ้น

ก่อนกลับไปทำกิจกรรมปกติควรต้องรอจนกว่าอาการหายดี และมีการฟื้นฟูข้อต่อและกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรงก่อนเริ่มเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายบางประเภท โดยผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัด แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยบาดเจ็บบริเวณเดิมซ้ำ ๆ หลายครั้ง และมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น เอ็นเกิดการฉีกขาดจนไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาหรือขยับเขยื้อนข้อต่อได้ เกิดการติดเชื้อโดยสังเกตได้จากมีไข้ขึ้น บริเวณผิวหนังเกิดการบวมแดงร้อน หรือเกิดอาการแพลงขั้นรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที

การรักษาอื่น ๆ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติม เช่น

  • กายภาพบำบัด ผู้ป่วยที่อาการไม่คงที่และรุนแรงมากขึ้นอาจได้รับการแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ทำให้ข้อต่อกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และฝึกความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหวที่เกิดกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาเพื่อช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หรือเอ็นยึดกระดูกที่เกิดความเสียหาย โดยต้องพิจารณาความรุนแรงของการบาดเจ็บและผลลัพธ์หลังการผ่าตัดว่าสามารถกลับมาเป็นปกติได้มากน้อยแค่ไหน การผ่าตัดจึงอาจไม่จำเป็นในทุกกรณีแม้ว่าเส้นเอ็นกระดูกเกิดการฉีดขาดทั้งหมด

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพลง

อาการแพลงมักไม่ค่อยก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้น แต่หากผู้ป่วยปล่อยให้เกิดอาการแพลงขึ้นบ่อยครั้งโดยไม่รักษาให้หายอย่างต่อเนื่อง หรือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อบริเวณที่มีอาการแพลงเร็วเกินไป ก็อาจมีอาการปวดอย่างเรื้อรัง หรือพัฒนาความรุนแรงกลายเป็นโรคข้ออักเสบได้

การป้องกันอาการแพลง

การบาดเจ็บอาจเกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวันและมาจากหลายสาเหตุ การปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพลงได้

  • ควรมีการอบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสายก่อนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการวิ่งเหยาะ ๆ หายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ ขยับร่างกายไปมาเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเต้นของหัวใจ การไหลเวียนของเลือด รวมไปถึงช่วยให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อเกิดการยืดตัวมากขึ้น
  • ควรเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม ขนาดไม่คับหรือหลวมจนเกินไป และเลือกให้ถูกกับประเภทของกีฬาแต่ละชนิด     
  • ควรเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่หากเกิดการชำรุดหรือส้นสึก  
  • ควรปรับโปรแกรมการออกกำลังกายให้เกิดความสมดุล โดยมีการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ฝึกความแข็งแรง และความยืดหยุ่น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงอยู่เสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  
  • ในขณะที่ร่างกายเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพลงขึ้นได้ง่าย
  • ระมัดระวังในการเดินหรือวิ่งบนพื้นที่ไม่เรียบ
  • ในการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพลง ควรมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดการลื่นล้มบ่อย ๆ จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน